1. บทนำ
ถ้าจะมีมโนทัศน์ทางปรัชญาการเมืองใดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยผู้ใช้ไม่ค่อยระมัดระวังถึงความหมายที่แตกต่างหลากหลาย
หนึ่งในมโนทัศน์ที่ว่าคือ “ประชาธิปไตย”
หัวข้อสารานุกรมนี้จะครอบคลุมมิติสี่ด้านเกี่ยวกับมโนทัศน์ประชาธิปไตย
อันได้แก่ ความหมาย ความเข้าใจ
ปฏิทรรศน์และปัญหาเชิงปฏิบัติ
เหตุที่ต้องเริ่มต้นจากความหมายของประชาธิปไตย
ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ามโนทัศน์นี้มีความหมายดั้งเดิมที่ครอบคลุมกว้างขวาง
ทำให้เมื่อมีความพยายามตีความให้เฉพาะเจาะจงลงไป
จะก่อให้เกิดความเข้าใจมโนทัศน์ (conception)
และการให้เหตุผลสนับสนุน (justification)
ที่แตกต่างหลากหลาย
เมื่อพิจารณารูปแบบการให้เหตุผลสนับสนุนที่แตกต่างกันเหล่านี้
จะพบว่ามีบางรูปแบบที่ดูเหมือนแก้ปฎิทรรศน์และปัญหาเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตยได้ดีกว่าแบบอื่นๆ
ซึ่งชวนให้คิดว่าความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนั้นๆ
น่าจะเป็นความเข้าใจที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
2.
ความหมายของมโนทัศน์
“ประชาธิปไตย”
คำว่า “ประชาธิปไตย” (democracy)
มีรากเหง้ามาจากคำภาษากรีกว่า “demokratia” ซึ่งหมายถึง
“การปกครองโดยประชาชน” (popular rules หรือ rule of the
people) เมื่อกล่าวถึงระบอบการเมือง
คำนี้มักหมายถึงระบอบที่ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม
โดยทุกคนมีอำนาจการตัดสินใจที่เท่าเทียมกัน (equal power)
อย่างไรก็ดี
หากจะนำประชาธิปไตยมาใช้เป็นอุดมคติทางการเมือง
ความหมายที่ว่ามานี้ยังไม่เพียงพอด้วยเหตุผลที่จะได้กล่าวต่อไป
เมื่อพูดถึงการปกครองโดยประชาชน (popular rule)
เราสามารถคิดถึงการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในความหมายแบบแคบ
(narrow meaning) หรือความหมายแบบกว้าง (broad meaning)
ก็ได้ กล่าวคือ สำหรับความหมายแบบแคบ
การปกครองโดยประชาชนคือการยึดหลักในการตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก
(majority rule) กล่าวอีกนัยหนึ่ง
สังคมการเมืองจะเลือกดำเนินนโยบายหรือออกกฎหมายโดยรับฟังความต้องการของประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่
เชื่อกันว่าหลักเสียงข้างมากเป็นกระบวนวิธี (procedure)
ในการตัดสินใจที่ดีและสมเหตุสมผลที่สุดในกรณีที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีอำนาจตัดสินใจเท่ากัน
หรือเสียงของประชาชนทุกคนต่างนับเป็นหนึ่งเสียงเท่ากัน
อย่างไรก็ดี
ข้อจำกัดของการเข้าใจการปกครองโดยประชาชนในความหมายแบบแคบอยู่ที่หลักเสียงข้างมากโดยตัวของมันเองไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ
เกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น ภายใต้ประชาธิปไตย ใคร
ควรเป็นผู้ปกครอง (who rules)
ควรใช้กระบวนวิธีใดในการปกครอง (by what procedures)
กระบวนวิธีที่ว่านี้จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเป็นหลักเสียงข้างมาก
และหลักเสียงข้างมากควรใช้ภายในขอบเขตแค่ไหน (within what
limits) หรือใช้กับเรื่องใดบ้าง (over what matters)
รวมถึงระดับของการมีส่วนร่วมไตร่ตรองเพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด
(with what degree of deliberation)
คำถามที่สะท้อนแง่มุมอันเป็นเนื้อหาสาระเหล่านี้
จะช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าประชาธิปไตยจริงๆ
แล้วคืออะไร
แต่ในเมื่อความหมายแบบแคบไม่ได้ให้คำตอบอะไรไว้
ก็เท่ากับว่าความหมายที่ว่านี้ยังไม่ใช่ความหมายที่ดีพอ
ประชาธิปไตยที่เป็น “การปกครองโดยประชาชน”
น่าจะมีความหมายที่กว้างไปกว่าการยึดหลักเสียงข้างมากในการตัดสินใจ
ในความหมายแบบกว้าง
การปกครองโดยประชาชนหมายถึงการปกครองที่นำไปสู่สิ่งดีงามอย่างครบถ้วนบริบูรณ์สำหรับมนุษย์
ซึ่งถ้าพิจารณาจากความสามารถในการตอบคำถามเชิงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยแล้ว
ความหมายนี้ดูจะได้เปรียบกว่าความหมายแบบแคบ
เพราะชี้ชัดลงไปว่าการปกครองโดยประชาชนต้องเป็นไปเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์
(the good) เสมอ อย่างไรก็ดี
ความหมายแบบกว้างก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่ไม่ได้ให้ความกระจ่างว่าสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์ที่พูดถึงนั้นหมายถึงอะไร
ทั้งที่ประเด็นนี้นับวันจะยิ่งเป็นข้อขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ระหว่างกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากคำถามว่าจริงหรือไม่ที่ระบอบการปกครองที่ดีสำหรับมนุษย์ควรเป็นแบบที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนระดับรากหญ้าเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อพวกเขา
แม้จะเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนเกินไปกว่าความรู้ความเข้าใจที่พวกเขามี?
หรือระบอบการปกครองที่ดีควรให้ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชน
โดยให้กระทำอย่างยึดผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชนเป็นตัวตั้ง?
นอกจากนี้
ยังมีคำถามว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ที่เป็นเสียงส่วนน้อย
(minority) ในสังคม
เสียงส่วนใหญ่สามารถจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเสียงส่วนหรือไม่?
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงพบว่าเราไม่สามารถเข้าใจมโนทัศน์
“ประชาธิปไตย”
ได้โดยดูที่ความหมายของมโนทัศน์เพียงอย่างเดียว
เพราะดังที่ได้เห็นแล้วว่าความหมายทั้งแบบแคบและแบบกว้างยังทิ้งคำถามไว้ให้เราอีกมากมายว่าจริงๆ
แล้วอุดมคติทางการเมืองที่ว่านี้มีลักษณะเช่นไรกันแน่
นอกเหนือไปจากการเป็น “การปกครองโดยประชาชน”
และนี่เองได้ทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยกลายมาเรื่องของ
“ความเข้าใจ” (conception) หรือการตีความ (interpretation)
ประชาธิปไตยแบบต่างๆ
3.
ความเข้าใจ
(Conception) แบบต่างๆ
ของมโนทัศน์ประชาธิปไตย
ความเข้าใจมโนทัศน์
(conception)
เรื่องประชาธิปไตยนั้นเป็นความพยายามที่จะแสวงหาแก่นแท้หรือหัวใจของมโนทัศน์นี้
โดยอาศัยกรอบความคิด (framework)
ที่ใหญ่กว่าอันครอบคลุมถึงความคิดทางเศรษฐกิจ สังคม
การเมือง วัฒนธรรมและจริยธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง
เป็นการวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องประชาธิปไตยภายในบริบทความคิดที่ใหญ่และครอบคลุมกว่า
ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่ามโนทัศน์นี้ประกอบด้วยคุณค่าหลัก
คุณค่ารอง รวมถึงรูปแบบและกระบวนวิธีในการตัดสินใจ
เงื่อนไขและกลไกเชิงสถาบัน
ตลอดจนเงื่อนไขที่จำกัดการใช้อำนาจหรือเสรีภาพ
(constraints)
อะไรบ้างที่ทำให้มโนทัศน์นี้แตกต่างไปจากมโนทัศน์ทางการเมืองการปกครองแบบอื่นๆ
ความเข้าใจประชาธิปไตยแต่ละแบบให้คำตอบที่แตกต่างกันแก่คำถามเชิงเนื้อหาสาระ
อย่างไรก็ดี
สิ่งหนึ่งที่ทุกความเข้าใจมีร่วมกันคือความเชื่อที่ว่าประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องมีกระบวนการ
(process)
บางอย่างสำหรับตัดสินใจเพื่อหาข้อสรุปที่จะมีผลผูกพันให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามเหมือนๆ
กัน
โดยกระบวนการที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของคนทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม
ในแง่นี้ ความเข้าใจทุกแบบจึงเห็นตรงกันว่าประชาธิปไตยคือ
กระบวนการสำหรับใช้ในการตัดสินใจร่วมกันโดยสมาชิกของสังคมการเมืองหนึ่งๆ
ขณะที่มีความแตกต่างระหว่างความเข้าใจเหล่านี้จะเป็นเรื่องของรายละเอียดประเด็นอื่นๆ
ดังที่จะได้แสดงให้เห็นต่อไป
เราสามารถแบ่งความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยออกได้เป็น
6 แบบกว้างๆ คือ
3.1 ประชาธิปไตยแบบชุมปีเตอเรียน
(Schumpeterian Democracy)
ในบรรดาความเข้าใจประชาธิปไตยแบบต่างๆ
คนมองกันว่าวิธีทำความเข้าใจมโนทัศน์เรื่องประชาธิปไตยแบบนี้มีขอบเขตครอบคลุมน้อยที่สุดและให้แรงบันดาลใจน้อยที่สุด
แต่ขณะเดียวกันก็ดูจะเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุดด้วย
ผู้เสนอความเข้าใจประชาธิปไตยชนิดนี้คือ โจเซฟ
ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter)
ซึ่งวิเคราะห์ว่าประชาธิปไตยหมายถึง “การจัดแจงเชิงสถาบันที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งการตัดสินใจทางการเมือง
อันเป็นการตัดสินใจที่ให้อำนาจแก่ปัจเจกบุคคลที่จะตัดสินใจผ่านการต่อสู้แข่งขัน
[ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหลาย]
ในการช่วงชิงคะแนนเสียงของประชาชน” (Schumpeter,
1943: 269)
กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือความเข้าใจแบบนี้มองว่าประชาธิปไตยมีหัวใจอยู่ที่การแข่งขันกันของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้ามามีและใช้อำนาจทางการเมือง
และประชาชนมีบทบาทเป็นเพียงผู้เลือกบุคคลเหล่านี้โดยพิจารณาจากแนวนโยบายที่แต่ละฝ่ายนำเสนอ
และเมื่อเลือกตั้งไปแล้ว
ก็ต้องปล่อยให้บรรดาผู้ได้รับเลือกเหล่านี้ใช้อำนาจแทนตนในการตัดสินใจทางการเมือง
ประชาชนจะกลับมามีโอกาสได้ใช้อำนาจอีกครั้งก็ต่อเมื่อครบกำหนดเลือกตั้งคราวหน้า
ซึ่งทุกคนมีอิสระที่จะมอบอำนาจให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งรายเดิมที่ทำผลงานได้ดี
หรือเปลี่ยนไปมอบอำนาจให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหม่แทนก็ได้
ตามความเข้าใจแบบนี้
ประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นนอกจากกระบวนการตัดสินใจสำหรับคนหมู่มากและไม่มีคุณค่าทางจริยธรรมใดๆ
นอกเหนือไปจากนั้น
มีข้อวิจารณ์ว่าถ้าความเป็นประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่กระบวนการตัดสินใจร่วมกันแบบหนึ่งเท่านั้น
ก็เท่ากับเราต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีระบบเลือกตั้งใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ปกครองโดยคนผิวขาวในประเทศแอฟริกาใต้ในปีค.ศ.1993
หรือพรรคคอมมิวนิสต์ของรัสเซียในยุคสตาลิน
ต่างก็จัดเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้นใช่หรือไม่
แต่การยอมรับเช่นนี้ขัดกับความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับประชาธิปไตยในฐานะอุคมคติทางการเมืองของเรา
รวมทั้งขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ในอดีตที่คนจำนวนมากยอมพลีชีพเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฐานะอุดมคติอันสูงส่ง
การรับความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้ “ทำให้เราไม่เหลือเหตุผลแม้แต่ข้อเดียวที่จะถามว่าระบอบการเมืองหนึ่งเป็น
“ประชาธิปไตย”
หรือไม่ อันที่จริงแล้วหากประชาชน
(people)
สามารถหมายถึงแค่คนเพียงกลุ่มเล็กๆ
ที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างโหดร้ายต่อประชาชนที่เหลือจำนวนมาก
“ประชาธิปไตย”
ย่อมแทบจะไม่ต่างอะไรจากระบอบอัตตาธิปไตย
ทั้งในทางจริยธรรมและในเชิงประจักษ์เลย”
(Dahl, 1998)
ฝ่ายที่เห็นว่าความเข้าใจแบบนี้ไม่สอดรับกับความเข้าใจทั่วไปและฐานะความเป็นอุดมคติของประชาธิปไตยในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่
จึงเสนอว่าต้องมองประชาธิปไตยว่าเป็นมากไปกว่ากระบวนการทางการเมืองตามความเข้าใจแบบชุมปีเตอเรียนนี้
3.2
ประชาธิปไตยแบบประชานิยม (Populist
democracy)
นักทฤษฎีการเมืองจำนวนมากเชื่อเหมือนชุมปีเตอร์ว่าความสำคัญอันดับแรกของประชาธิปไตยคือการเป็นกระบวนการสำหรับใช้ตัดสินใจทางการเมือง
แต่เห็นต่างออกไปว่าประชาธิปไตยมิได้เป็นแค่กระบวนการเท่านั้น
หากแต่มีเนื้อหาสาระและคุณค่าทางจริยธรรมด้วย
คุณค่าดังกล่าวมีที่มาจากการเป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน
ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยต่างไปจากระบอบอื่นๆ
ที่ประชาชนไม่มีอำนาจปกครอง
นักทฤษฎีการเมืองในกลุ่มนี้บางคนเชื่อว่าควรเข้าใจประชาธิปไตยแบบประชานิยม
โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความคิดที่ว่าในฐานะที่ประชาชนทุกคนต่างเป็นบุคคลที่เสรีและเสมอภาค
พวกเขาจึงไม่ควรตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยอำนาจภายนอกหรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ
ที่คัดเลือกมากันเอง
แต่ควรมีสิทธิที่จะปกครองตนเองในระดับที่มากที่สุดที่จะเป็นไปได้
ตามความเข้าใจแบบที่สองนี้
คุณค่าสูงสุดของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่การเป็นระบอบของการปกครองตนเองโดยประชาชนที่เสรีและเสมอภาค
นักทฤษฎีกลุ่มนี้เห็นว่าเสรีภาพและความเสมอภาคคือคุณค่าสำคัญของประชาธิปไตย
จะเป็นรองก็แต่กับคุณค่าแห่งการปกครองตนเองเท่านั้น
นอกจากนี้
เสรีภาพและความเสมอภาคยังเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยในระยะยาวด้วย
เนื่องจากเอื้อให้ประชาชนสามารถก่อรูปเจตจำนงของตนได้อย่างเป็นเอกเทศ
ดังนั้น เราจึงเห็นนักทฤษฎีกลุ่มนี้สนับสนุน
หรือถึงขั้นเรียกร้องให้มีการวางเงื่อนไขเพื่อจำกัดการใช้อำนาจในการควบคุมการแสดงออกถึงเจตน์จำนงของประชาชนให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
เงื่อนไขจำกัดเหล่านี้ได้แก่หลักประกันแก่เสรีภาพในการสื่อสารและแสดงออก
เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม
ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการมีและใช้อิสรภาพทางการเมือง
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขแห่งการปกครองโดยหลักนิติรัฐ
(rule of law)
และสิทธิในการลงคะแนนเสียงที่เท่ากันสำหรับพลเมืองทุกคน
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้มีการให้ความสำคัญกับคุณค่าสองแบบคือ
คุณค่าหลัก ได้แก่
การปกครองตนเองโดยบุคคลที่เสรีและเสมอภาค และคุณค่ารอง
อันได้แก่ผลลัพธ์ที่ถูกจริยธรรม เช่น
การที่เจตจำนงของประชาชนเกิดจากความต้องการเลือกที่แท้จริงภายใต้กรอบของนิติรัฐและเป็นเอกเทศในแง่ที่ว่าไม่ได้เป็นผลจากการครอบงำ
ปลุกปั่นหรือควบคุมทางจิตวิทยาแบบใดแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม
ประเด็นเรื่องคุณค่านี้กลับกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้ขาดความชัดเจน
กล่าวคือ
มีคำถามว่าจะทำอย่างไรในกรณีที่คุณค่ารองขัดกับคุณค่าหลัก
หรืออีกนัยหนึ่ง
ผลลัพธ์ที่ถูกจริยธรรมขัดแย้งกับเจตจำนงที่เป็นจริงของประชาชน
ผู้ที่ยึดความเข้าใจแบบนี้ต้องยอมรับว่าเราจำเป็นต้องสละผลลัพธ์ที่ถูกจริยธรรมใช่หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือใช่
ก็จะเท่ากับว่ามีความเป็นไปได้ที่ประชาธิปไตยที่มีคุณค่าหลักคือการปกครองตนเองโดยบุคคลที่เสรีและเสมอภาคนั้น
จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ถูกจริยธรรมตามมา
ซึ่งเป็นข้อสรุปที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ผู้รักในอุดมคติประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้
ผู้ที่ยึดความเข้าใจแบบนี้จึงมักหาทางออกโดยอ้างว่าเจตจำนงของประชาชนที่ไม่ถูกจริยธรรมไม่ใช่เจตจำนงแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง
เพราะไม่เชิดชูเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการได้มาซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงในระยะยาว
แต่คำตอบแบบนี้นั่นเองที่ชี้ว่าความเข้าใจแบบนี้บกพร่อง
เนื่องจากถ้าอ้างตั้งแต่ต้นว่าคุณค่าสูงสุดของประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนที่เสรีและเสมอภาคได้ปกครองตนเอง
เงื่อนไขจำกัดใดๆ
ย่อมต้องมีความสำคัญน้อยกว่าคุณค่าสูงสุดนี้เสมอ
ไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นคุณค่าสูงสุด ดังนั้น
หากเงื่อนไขเรื่องความถูกต้องทางจริยธรรมหรือเงื่อนไขอื่นใดมาจำกัดขอบเขตการใช้เจตจำนงของประชาชน
เงื่อนไขนั้นย่อมต้องสละทิ้งไปแม้จะดูมีเหตุผลสนับสนุน
(justified) ให้รักษาไว้ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น ระบบการกลั่นกรองโดยตุลาการ (judicial
review)
ที่แม้จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของปัจเจกบุคคล
แต่ระบบนี้ดูจะมีลักษณะที่จำกัดขอบเขตการแสดงออกของเจตจำนงของประชาชน
เพราะมีนัยว่ากฎหมายที่ออกโดยประชาชนสามารถระงับ
ยับยั้งหรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
โดยคณะตุลาการอันเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน
ดังนั้น ตามหลักของความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่สองนี้
ระบบนี้จึงไม่ควรนำมาใช้
3.3
ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal democracy)
มีผู้ที่เสนอความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมขึ้นมาแทนที่ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบประชานิยม
เนื่องจากเห็นว่าประชาธิปไตยต้องเคารพสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของปัจเจกบุคคลเป็นอันดับแรก
คนกลุ่มนี้เห็นว่าควรมีเงื่อนไขจำกัดการใช้อำนาจของประชาชน
เช่น ระบบการกลั่นกรองโดยตุลาการ
เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานเหล่านี้ ตามความเข้าใจนี้
การปกครองตนเองของประชาชนเป็นคุณค่ารอง
ขณะที่คุณค่าสูงสุดทางการเมืองคือเสรีภาพพื้นฐาน
(a set of basic
liberties)
ที่เท่าเทียมกันสำหรับพลเมืองทุกคน ในหนังสือ
A Theory of Justice จอห์น
รอลส์ (John Rawls)
ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเสรีภาพพื้นฐานต้องประกอบด้วยเสรีภาพทางความคิด
เสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออก เสรีภาพของสื่อ
เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการนับถือศาสนา
เสรีภาพในการครอบครองทรัพย์สิน
เสรีภาพในการลงคะแนนเสียงและดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เสรีภาพในการไม่ถูกจับกุมหรือยึดทรัพย์อย่างไม่ชอบด้วยเหตุผล
และหลักนิติรัฐ (Rawls: 1971: 32, 201-3)
การให้ความสำคัญแก่เสรีภาพพื้นฐานชุดที่กล่าวมาในฐานะคุณค่าหลักของประชาธิปไตย
ทำให้ประชาธิปไตยตามความเข้าใจแบบที่สามนี้ต้องเปิดช่องทางไว้ค่อนข้างมากเพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุล
โดยอาศัยการแบ่งแยกอำนาจ
การตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติโดยสถาบันตุลาการ
และกลไกแบบอื่นเช่น วุฒิสภา
ที่อาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเจตจำนงของประชาชน
กลไกเหล่านี้พบได้ทั่วไปในประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐธรรมนูญในโลกตะวันตก
อย่างไรก็ดี
ปัญหาของความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้ก็คือเงื่อนไขเชิงสถาบันใดๆ
ที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องเสรีภาพพื้นฐานของปัจเจกบุคคลอาจถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องหรือส่งเสริมความได้เปรียบแก่คนกลุ่มน้อยบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม
จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคทางอำนาจขึ้นระหว่างพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยได้
ตัวอย่างเช่นเสรีภาพในการถือครองทรัพย์สิน
ในหลายกรณีพบว่าเสรีภาพดังกล่าวทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย
ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงยากจนข้นแค้นและจำต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงคนกลุ่มแรก
สิ่งนี้ขัดแย้งกับพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีอำนาจที่เท่าเทียมกันระหว่างพลเมืองที่มาทำการตัดสินใจร่วมกัน
ผู้สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมบางรายพยายามหาทางออกให้แก่ปัญหานี้โดยเสนอว่าถ้าให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเพียงพอโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนเหล่านี้มีขีดความสามารถทางความรู้และจริยธรรมที่จำเป็นที่ช่วยให้ได้มาซึ่งมติสาธารณะที่สะท้อนความเคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน
ในระยะยาวสังคมประชาธิปไตยก็อาจดำเนินไปได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขจำกัดทั้งเชิงสถาบันและกลไกต่างๆ
เพื่อควบคุมการปกครองตนเองของประชาชนอีกต่อไป
(Waldron, 1990: 56)
แต่ปัญหาก็คือจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยพบว่ามีโครงการให้การศึกษาประเภทนี้ดำเนินการและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจนสามารถทำให้ความขัดแย้งระหว่างสิทธิเสรีภาพพื้นฐานกับความเป็นธรรมทางสังคมหมดไปได้แต่อย่างใด
มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าในความเป็นจริง
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่สองกับแบบที่สามต่างกันแค่ในเชิงหลักการเท่านั้น
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่แตกต่างกันมากนัก
เพราะประชาธิปไตยแบบประชานิยม
แม้จะยกให้เจตจำนงค์ของประชาชนเป็นคุณค่าหลัก
และถือเงื่อนไขจำกัดอำนาจซึ่งโดยหลักๆ
ก็คือสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นคุณค่ารอง
แต่ในที่สุดแล้วฝ่ายนี้ก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ของเจตจำนงค์นั้นจำเป็นต้องถูกจริยธรรมด้วย
กล่าวคือ
เจตจำนงของประชาชนจำเป็นต้องเคารพในเสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น
เสรีภาพของสื่อ และการรวมกลุ่มที่จำเป็นสำหรับการก่อรูป
แสดงออกและรวบรวมความพอใจเลือกทางการเมือง
(political preference)
ซึ่งก็ตรงกับความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั่นเอง
แต่ความเข้าใจสองแบบนี้จะแตกต่างกันก็ต่อเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างการปกครองตนเองของประชาชนกับเสรีภาพพื้นฐานที่ไม่ใช่
เงื่อนไขจำเป็นของการเป็นประชาธิปไตย เช่น
เสรีภาพในการเสพสื่อลามกที่เข้าข่ายอนาจาร
(hard-core pornography)
และไม่ได้สื่อความคิดทางการเมืองใดๆ เลย
ทำให้ไม่อาจจัดอยู่ในกลุ่มของเสรีภาพที่จำเป็นสำหรับการก่อรูป
แสดงออกและรวบรวมความพอใจเลือกทางการเมืองได้
ในกรณีแบบหลังนี้
นักประชาธิปไตยประชานิยมจะส่งเสริมให้ใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพในการเสพสื่อดังกล่าว
(เช่น ห้ามเผยแพร่ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย)
หากการทำเช่นนั้นได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ขณะที่นักประชาธิปไตยเสรีนิยมจะคัดค้านการใช้มาตรการดังกล่าว
ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่นิยมเสพสื่อชนิดที่ว่าเป็นการส่วนตัว
โดยไม่ไปทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
อีกกรณีหนึ่งที่ความเข้าใจสองแบบนี้จะเห็นต่างกันคือ
เมื่อเสรีภาพส่วนบุคคลขัดแย้งกับสิ่งที่ดีทางสังคมประเภทอื่นเช่น
ความอยู่ดีกินดีหรือความสมานฉันท์ในชุมชน
โดยในกรณีนี้นักประชาธิปไตยแบบประชานิยมจะถือว่าเสียงส่วนใหญ่ควรเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องที่กระทบต่อชุมชนของตน
ขณะที่นักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะย้อนถามว่า
ถ้าคิดกันตามจริงแล้ว
คนมีเหตุผลไม่น่าให้น้ำหนักกับการปกครองโดยเจตจำนงค์ของประชาชนมากนัก
เพราะเหตุว่าในการตัดสินใจร่วมกันจริงๆ นั้น
ปัจเจกบุคคลแต่ละคนแทบไม่มีอิทธิพลใดเลยต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
เปรียบเหมือนหยดน้ำในทะเลที่เพียงหยดสองหยดไม่อาจทำให้น้ำทะเลเค็มมากขึ้นหรือน้อยลงได้
ดังนั้น ถ้าเทียบกันแล้ว
คนมีเหตุผลจึงน่าจะเลือกระบอบการปกครองที่ให้ตัวเองมีเสรีภาพส่วนตัวที่กว้างขวางที่สุด
มากกว่าจะเลือกรับระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ตนมีอำนาจในการเลือกหรือกำหนดเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้นท่ามกลางเสียงของคนอื่นๆ
อีกนับแสนนับล้านที่ต้องมาตัดสินใจร่วมกันในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคน
และจะว่ากันไปแล้วคนที่นิยมชมชอบกิจกรรมทางการเมืองจริงๆคือคนบางส่วนของสังคมเท่านั้น
ดังจะเห็นว่าในการเลือกตั้งบางครั้ง
คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มาลงคะแนนด้วยซ้ำ
เมื่อเป็นเช่นนี้การเลือกรับประชาธิปไตยเมื่อต้องแลกกับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานจึงเป็นการเลือกที่ไม่สมเหตุสมผล
และเมื่อคิดว่าคนที่จริงๆ
แล้วไม่นิยมชมชอบกิจกรรมทางการเมืองแต่ถูกกดดันให้ต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลของตนด้วยแล้ว
นี่ย่อมเป็นการสูญเสีย (และความไร้เหตุผล)
ถึงสองต่อทีเดียว
3.4
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory
democracy)
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่สี่นี้คือปฏิกิริยาท้าทายต่อความเข้าใจแบบที่สามที่ให้น้ำหนักแก่การคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่าการมีส่วนร่วมในทางการเมือง
ผู้สนับสนุนความเข้าใจแบบที่สี่เห็นว่าเมื่อเทียบกับต้นกำเนิดของประชาธิปไตย.oกรีกยุคโบราณแล้ว
ประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันให้คุณค่าแก่การมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยเกินไป
และทำให้เกิดเป็นรูปแบบการปฏิบัติที่ไม่เอื้อแก่การมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีความหมายแท้จริง
ทั้งที่หากสังคมประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้พลเมืองสามารถสะท้อนทัศนะทางการเมืองของตนได้อย่างอิสระ
พลเมืองเหล่านี้ย่อมฉวยโอกาสนี้แสดงความคิดเห็นของตนและเข้าร่วมทำการตัดสินใจทางการเมืองด้วยตนเองมากกว่าจะยอมมอบอำนาจให้แก่ผู้แทนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
(Barber, 1984)
ผู้ที่สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี้
ส่วนใหญ่ยึดตัวแบบของสังคมเอเธนส์ในยุคกรีกโบราณว่าเป็นตัวแบบที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวาที่สุดของประชาธิปไตย
เนื่องจากพลเมืองส่วนใหญ่ของเอเธนส์ต่างมีบทบาทในการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรง
และมักดูถูกดูแคลนคนบางประเภทที่วันๆ
สนใจแต่กับการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดี
โดยไม่แยแสหรือคิดช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมส่วนรวม
ซึ่งผู้สนับสนุนเหล่านี้เห็นว่าเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับทัศนะทางการเมืองแบบเสรีนิยม
(liberalism)
และความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เน้นการใช้อำนาจทางการเมืองผ่านตัวแทน
(representation)
แทนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง
ผู้สนับสนุนความเข้าใจแบบที่สี่นี้เห็นว่าการปกครองโดยตัวแทน
ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาหลายประการด้วยกัน
อาทิเช่น
การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงและการละเมิดหลักความรับผิดทางประชาธิปไตยของตัวแทนทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ
การขาดความเข้าใจทางการเมือง
ขาดข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่
รวมไปถึงระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่นับวันจะยิ่งตกต่ำลงจนน่าตกใจ
ซึ่งฝ่ายนี้เห็นว่าทั้งหมดล้วนเกิดจากการที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองในประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยแบบที่มีนักการเมืองเป็นผู้แทนประชากรขนาดใหญ่เกินไป
เมื่อพลเมืองที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปมีความเข้าใจและผลประโยชน์ทางการเมืองที่จำกัด
ความพยายามที่จะแสวงหากลไกเชิงสถาบันเพื่อปกป้องการใช้อำนาจในทางที่ผิดโดยตัวแทนทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะพลอยจำกัดไปด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้
ทางแก้จึงอยู่ที่การเชิญชวนพลเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรง
เพื่อกระตุ้นให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเมืองและมองเห็นประโยชน์ของการมีส่วนร่วมชัดเจนขึ้น
อันจะเป็นแรงจูงใจทำให้ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
ข้อจำกัดของความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้คือต้องอาศัยสมมติฐานเกี่ยวกับพลเมืองว่ามีความพร้อมและยินดีเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง
ขณะที่นักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมยุคคลาสสิค เช่น ฌองฌาค
รุสโซ
(Jean-Jacques
Rousseau, 1762)
ถึงขนาดคาดหวังไว้ใน
The Social Contract
(Book 3, ch. 15)
ว่าถ้าได้รับโอกาสแล้ว
พลเมืองจะรีบโลดแล่นไปยังสมัชชาการเมืองเพื่อทำหน้าที่ของตน
นักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมยุคปัจจุบันลดความคาดหวังลงมาเหลือเพียงแค่ว่าพลเมืองจะเข้ามามีปฎิสัมพันธ์และร่วมกันตัดสินใจปัญหาสาธารณะโดยการลงประชามติผ่านระบบทีวีแบบเคเบิ้ล
(Barber, 1984)
กระนั้นก็ดี
ความคาดหวังเหล่านี้ก็ยังดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่การตัดสินใจสาธารณะหลายๆ
ครั้งใช้เวลาและทรัพยากรมากเสียจนกระทั่งคนที่ยินดีเข้ามามีส่วนร่วมไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการจริงๆ
นั้นมีจำนวนน้อยมาก
ผู้สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่สี่นี้
พยายามแก้ข้อจำกัดนี้ด้วยการอ้างเหตุผลสองข้อ คือ
1)
การมีส่วนร่วมทางการเมืองคือองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตที่ดีของมนุษย์
นี่คือข้อเท็จจริงที่มนุษย์จะตระหนักรับรู้ได้
ถ้าอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่เหมาะสม และ
2)
การมีส่วนร่วมทางการเมืองในวงกว้างเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันไม่ให้ตัวแทนทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากประชาชนไปในทางที่ผิด
ถ้าเหตุผลสองข้อนี้ถูกต้อง
ก็เท่ากับว่าการมีส่วนร่วมเป็นทั้งส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของชีวิตที่ดีและเป็นเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อบรรลุถึงสังคมที่ดีไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี
เราสงสัยได้ว่าเหตุผลสองข้อนี้สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่สี่นี้จริงหรือไม่
นั่นคือ เหตุผลข้อแรกไม่ว่าจะมีนัยเชิงบรรทัดฐาน
(การมีส่วนร่วมทางการเมืองควรเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์ทุกคน)
หรือนัยเชิงประจักษ์
(การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ดี)
ล้วนโต้แย้งได้ทั้งสิ้นจากมุมมองของคนมีเหตุผล
(rational man)
ที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ส่วนเหตุผลข้อที่สองก็ไม่ได้ปิดโอกาสที่จะมีรูปแบบการปกครองแบบอื่นที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ดีพอๆ
กันแต่ประชาชนไม่ต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เช่น
การมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสถาบันตามรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งในแบบที่ความเข้าใจแบบเสรีนิยมเสนอ
เป็นต้น
3.5
ประชาธิปไตยแบบสังคม (Social
democracy)
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบสังคมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของปฏิกิริยาท้าทายต่อความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
ความเข้าใจนี้ขยายปริมณฑลของประชาธิปไตยออกไปสู่พื้นที่ที่นักเสรีนิยมดั้งเดิมมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ควรอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตย
เช่น ชีวิตครอบครัวและธุรกิจกิจการต่างๆ
โดยเห็นว่าควรต้องเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นประชาธิปไตยด้วย
แม้จะแค่บางส่วนก็ตาม
แต่ทั้งนี้เราต้องไม่สับสนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้กับความเข้าใจประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
เพราะประชาธิปไตยแบบสังคมไม่ได้มีแรงผลักดันจากความเชื่อที่ว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองหรือเป็นคุณค่าหลักของประชาธิปไตย
แต่ทว่ามีแรงผลักดันจากความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงภัยคุกคามในรูประบบทรราชย์ที่เข้ามาครอบงำชีวิตด้านต่างๆ
ของปัจเจกบุคคล
อันเป็นภัยที่เกิดขึ้นเมื่อระบอบที่เป็นอยู่ปล่อยให้อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากจนเกินไป
(Walzer, 1983)
ภัยแบบนี้เชื่อกันว่าเป็นช่องโหว่ของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
ตัวอย่างเช่นบนพื้นฐานความเคารพในสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน
นักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเห็นว่าเจ้าของธุรกิจควรเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองสั่งการภายในธุรกิจของตน
แต่ในสภาพเช่นนี้
นักประชาธิปไตยสังคมเห็นว่าอาจนำไปสู่ระบบทรราชย์ที่แอบแฝงอยู่ในรูปของการที่เจ้าของและผู้จัดการธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจสูงเกินไปและสามารถกำหนดเงื่อนไขสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ
รวมถึงกำหนดอัตราค่าจ้างหรือแม้แต่สวัสดิการสังคมให้แก่ลูกจ้างของตนอย่างไม่เป็นธรรมได้
ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสรีนิยมอาจตอบได้ว่าในความเป็นจริงมีนักประชาธิปไตยเสรีนิยมน้อยรายที่คิดว่าภายในธุรกิจไม่ควรมีความเป็นประชาธิปไตยเลย
เพราะส่วนใหญ่ล้วนตระหนักว่าเหตุผลรองรับสิทธิในการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคลหลายข้อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เหตุผลที่ว่าสิทธินี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการมีอัตตาณัติ
(autonomy)
เหตุผลนี้ชี้ว่าเจ้าของกิจการไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อที่จะควบคุมธุรกิจของตนในทุกๆ
ด้านอย่างเบ็ดเสร็จได้
หากการทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของลูกจ้าง
แม้แต่หลักการของจอห์น ล็อค (John Lock)
ที่กล่าวว่าคนแต่ละคนมีสิทธิในผลผลิตจากแรงงานของเขาก็ไม่ได้มีนัยว่า
“ผู้ลงทุนมีสิทธิที่จะปกครองบริษัทที่พวกเขาได้ลงทุนไว้”
(Dahl, 1989: 330)
การได้มาซึ่งเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการมีอัตตาณัติหรือการกำหนดตนเองสำหรับสมาชิกทุกคนของสังคม
ซึ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนเบื้องหลังสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน
จึงเรียกร้องธุรกิจมีความเป็นประชาธิปไตยกับลูกจ้างด้วย
ข้อจำกัดของความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่ห้านี้อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างมักไม่มีความสามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องราวต่างๆ
ที่จำเป็นสำหรับการทำให้ธุรกิจมีกำไรและการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพได้
และความเป็นไปได้ที่รัฐจะเข้าแทรกแซงธุรกิจเพื่อบังคับให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นทรราชย์ของเจ้าของธุรกิจนั้น
ก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน คือ
การเข้าควบคุมมากเกินขอบเขตของรัฐอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามในรูปของการเป็นทรราชย์โดยรัฐเสียเอง
ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายเสียยิ่งกว่าการเป็นทรราชย์ของเจ้าของธุรกิจเสียด้วยซ้ำ
สองเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจประชาธิปไตยประเภทนี้ไม่สามารถอาศัยมโนทัศน์เรื่องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างที่ใช้กันอยู่
จึงจำเป็นต้องมีวิเคราะห์สิทธิเหล่านี้ให้เห็นชัดเจนลงไปเลยว่าส่วนใดบ้างที่ควรทำให้เป็นประชาธิปไตย
ส่วนใดบ้างที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ
และส่วนใดบ้างที่ควรปล่อยให้เป็นอำนาจของเจ้าของธุรกิจและผู้จัดการที่จะบริหารจัดการกันเองเพื่อป้องกันการแทรกแซงเกินขอบเขตของรัฐที่อาจนำไปสู่การเป็นทรราชย์ของรัฐเองในที่สุด
นอกจากนี้
การทำให้สถาบันครอบครัวกลายเป็นประชาธิปไตยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความซับซ้อนและความสำคัญมากไม่แพ้กัน
แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป กล่าวคือ
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับบุตรหลานนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีลักษณะแบบปิตาธิปไตย
(paternalism) ที่มีเหตุผลที่ดีรองรับ
การเรียกร้องให้สถาบันครอบครัวต้องอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตยจึงเป็นข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างอ่อนไหวเนื่องจากกระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวโดยตรง
นอกจากนี้
ความคิดหลักของประชาธิปไตยแบบสังคมเน้นขจัดผลลัพธ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
อันเป็นผลกระทบจากความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง
(structural injustice) เช่น
ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชายหญิง
ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในหลายๆ ด้าน เช่น
ออกกฎหมายให้เงินอุดหนุนแก่สตรีสำหรับการดูแลเด็กและกฎหมายลงโทษการลวนลามต่อสตรี
แม้เหล่านี้จะให้หลักประกันความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมและโอกาสที่เท่าเทียมกันแก่สตรีมากขึ้น
แต่ก็นำมาซึ่งข้อกังวลใหม่ถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ใหญ่โตมากขึ้นของรัฐ
ในแง่ที่ว่ารัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงในกิจการบางเรื่องที่เคยเป็นการตัดสินใจของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น
เช่น
เรื่องการแบ่งภาระหน้าที่ในการดูแลบุตรระหว่างสามีภรรยา
หรือ
การใช้ดุลยพินิจในการจัดการกับรายได้รายจ่ายของครัวเรือน
ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อเสรีภาพส่วนบุคคลและความเสมอภาคทางการเมืองของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย
3.6
ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง (deliberative
democracy)
เมื่อเปรียบเทียบกับความเข้าใจประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่ให้คุณค่าสูงสุดแก่การปกครองโดยประชาชนกับความเข้าใจประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ให้คุณค่าสูงสุดแก่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองให้ความสำคัญกับคุณค่าทั้งสองนี้เท่าๆ
กัน โดยถือว่าทั้งคู่ต่างจำเป็นสำหรับอัตตาณัติของบุคคล
ที่แสดงออกในรูปที่ทุกคนมาร่วมกันไตร่ตรองอย่างมีเหตุมีผลเมื่อต้องทำการตัดสินใจในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมการเมืองนั้นๆ
อันแสดงถึงความยินยอมพร้อมใจและความสามารถของแต่ละคนที่จะกำหนดชีวิตของตนเองให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง
(Cohen and Rogers, 1983)
ตามความเข้าใจแบบนี้อัตตาณัติหรือการกำหนดตนเองของบุคคลจึงเป็นคุณค่าสูงสุด
และการปกครองโดยประชาชนในรูปการแสดงออกถึงเจตจำนงร่วมกันและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างก็เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมให้เกิดการร่วมไตร่ตรองที่เป็นสาธารณะซึ่งเป็นหลักประกันถึงการกำหนดตนเองดังกล่าวนั่นเอง
(Cohen, 1997:72)
ตามความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้
คนทุกคนล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ใช่แค่ในรูปที่ต่างคนต่างยืนยันเจตจำนงเฉพาะ
(particular will) ของตน
หรือต่างต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวที่มีมาก่อนกระบวนการร่วมไตร่ตรอง
หากแต่ทุกคนสัมพันธ์กันในรูปที่ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลต่อกันผ่านกระบวนการร่วมไตร่ตรอง
อันเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
โดยอาศัยหลักฐานข้อมูลที่เที่ยงตรง
ประเมินและชักจูงซึ่งกันและกันอย่างชอบด้วยเหตุผล
กระบวนการนี้ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกคนยอมรับ
ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองนี้ถือว่าประชาชนจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดรูปร่างให้แก่การเมืองของตนเองผ่านกระบวนการใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนและจูงใจซึ่งกันและกัน
(Fishkin, 1991: 1-13)
ผู้สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้เห็นว่าการใช้เหตุผลเพื่อชักจูงเป็นรูปแบบของการใช้อำนาจทางการเมืองที่มีเหตุผลรองรับมากที่สุด
เพราะสอดคล้องที่สุดกับการเคารพในความสามารถในการกำหนดตนเองและขีดความสามารถ
(capacity)
ในการปกครองตนเองของทุกคน
ตามความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้
ปัญหาทรราชย์ของเสียงข้างมากซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาธิปไตยแบบประชานิยมจะกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้
ในแง่ที่ว่าคนทุกคน รวมทั้งผู้ที่เป็นเสียงส่วนน้อยในสังคม
ต่างก็มีโอกาสเท่าๆ กันที่จะแสดงเหตุผลชักจูงใจคนอื่นๆ
ให้เห็นด้วยกับข้อเสนอของตน แต่ถึงกระนั้น
ความเข้าใจประชาธิปไตยแบบนี้ก็ยังต้องพบกับคำถามที่ว่าถ้าในที่สุดแล้ว
คุณค่าสูงสุดของระบอบการเมืองควรอยู่ที่การกำหนดตนเองของประชาชน
และประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนี้เท่านั้น
เราสามารถกล่าวได้หรือไม่ว่าประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองคือประชาธิปไตยชนิดที่เอื้อต่อการกำหนดตนเองมากที่สุด
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเข้าใจแบบนี้ เช่น
ฝ่ายชุมปีเตอร์เรียน หรือ
นักประชาธิปไตยเสรีนิยมพยายามอ้างเหตุผลว่าประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองเป็นแค่คำพูดสวยหรูที่ใช้อ้างเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น
เพราะภายใต้รูปแบบนี้
ประชาชนแต่ละคนไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายที่แต่ละคนเป็นผู้เลือกเองอย่างแท้จริง
ซึ่งต่างไปจากระบอบการปกครองแบบอื่น เช่น
รัฐบาลแบบเสรีนิยมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนมีอิสรภาพในการกำหนดตนเองอย่างแท้จริง
เพราะเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้มีส่วนเลือกกฎหมายและนโยบายเพื่อใช้กับตนเองและกลุ่มของตนโดยผ่านการเลือกตั้ง
ผู้สนับสนุนความเข้าใจประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองตอบข้อวิจารณ์นี้ว่าผู้วิจารณ์เข้าใจมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติอย่างไม่ถูกต้อง
เพราะมองไม่เห็นมิติทางการเมืองที่แฝงอยู่ในมโนทัศน์นี้
การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ
หลายเรื่องในชีวิตของปัจเจกบุคคลจริงๆ
แล้วตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและอิทธิพลจากบริบททางสังคมการเมือง
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สถาบันที่ครอบครองอำนาจทางการเมืองอยู่สามารถควบคุมชีวิตมนุษย์ได้ดีที่สุด
(ลองนึกถึงบทบาทของรัฐบาลในการออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการใช้ชีวิตของบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำสัญญาการค้ากับต่างประเทศ
นโยบายพลังงาน อาหาร สาธารณสุข เป็นต้น)
ถ้าคนในสังคมให้ความสนใจเฉพาะกับอำนาจตัดสินใจของปัจเจกบุคคลเหนือชีวิตส่วนตัวของตนเท่านั้น
ในที่สุดแล้วความสามารถในการกำหนดตนเองของพวกเขากลับจะถูกทำลายลงเรื่อยๆ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง
ยิ่งปัจเจกบุคคลถูกกีดกันออกจากการมีอำนาจเหนือพื้นที่ทางสังคมมากเท่าใด
พวกเขายิ่งจะถูกลิดรอนการกำหนดตนเองในมิติที่สำคัญๆ
สำหรับชีวิตของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น
นักปรัชญาการเมืองบางรายที่พยายามผสมผสานประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองเข้ากับคุณค่าแบบเสรีนิยม
เช่น เอมี่ กัทแมน และ เดนนิส ทอมป์สัน
(Amy Gutmann & Dennis Thompson)
เสนอว่าหลักอัตตาณัติเรียกร้องให้ประชาธิปไตยต้องมีลักษณะพิเศษ
คือเป็นการปกครองโดยประชาชนที่ส่งเสริมให้พลเมืองร่วมกันใช้เหตุผลไตร่ตรองเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมือง
และกุญแจสำคัญของประชาธิปไตยชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในทุกๆ
เรื่อง
แต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มุ่งสร้างหลักประกันอย่างต่อเนื่องว่าผู้ใช้อำนาจรัฐจะมีความพร้อมรับผิด
(accountability)
ต่อการกระทำหรือการตัดสินใจใดๆ
ของตนที่ส่งผลกระทบต่อพลเมืองผู้ที่ตนทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่
ภายใต้ประชาธิปไตยชนิดนี้
การแบ่งงานกันทำระหว่างนักการเมืองอาชีพกับพลเมืองจึงยังคงมีอยู่
(ซึ่งตรงกับลักษณะของประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือแบบเสรีนิยม)
แต่ขณะเดียวกันสถาบันที่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะต้องมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมไตร่ตรองในประเด็นสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
4.
ปฏิทรรศน์
(paradoxes)
และปัญหาเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตย
ในแง่จุดด้อยของประชาธิปไตยนั้น
นอกจากการมีความเข้าใจที่ต่างกันในหมู่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเองว่าคำๆ
นี้หมายถึงอุดมคติที่แน่ชัดอย่างไรแล้ว
ประชาธิปไตยยังประสบกับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความขัดแย้งภายใน
หรือที่เรียกกันว่าปฏิทรรศน์
(paradox)
รวมถึงปัญหาเชิงปฏิบัติบางประการที่ผู้สนับสนุนอุดมคตินี้ทุกรูปแบบต้องเผชิญ
ยกเว้นแต่เฉพาะผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบชุมปีเตอเรียน (ดู
3:1)
ที่มองประชาธิปไตยอย่างแคบที่สุด
คือเป็นแค่กระบวนการเลือกตั้งนักการเมืองที่ไม่มีเนื้อหาสาระภายในอยู่เลยเท่านั้น
4.1 ปฏิทรรศน์ของประชาธิปไตย
(paradoxes of democracy)
ปฏิทรรศน์ของประชาธิปไตยมีสองข้อ
ข้อแรกเสนอโดย ริชาร์ด
วอลไฮม์
(Richard Wollheim,
1962: 154-167)
ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
สมมติผู้ลงคะแนนเสียงคนหนึ่งเชื่อและมีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่าการห้ามล่ากวางเป็นนโยบายที่ถูกต้อง
จึงลงคะแนนเสียงสนับสนุนนโยบายนี้
แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายนี้ไม่ดีและลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้มีการล่ากวางได้
วอลไฮม์ชี้ว่ากรณีนี้เท่ากับว่าผู้ลงคะแนนเสียงคนแรก
ซึ่งเป็นคนมีเหตุมีผลด้วยและเป็นนักประชาธิปไตยด้วยต้องเชื่อในสิ่งที่ขัดแย้งกัน
คือ
การห้ามล่ากวางเป็นสิ่งที่มีเหตุผลอันควรรองรับ
(จากวิจารณญาณที่ไตร่ตรองดีแล้วของเขาเอง)
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลอันควรรองรับ
(จากการตัดสินโดยเสียงส่วนใหญ่)
และสิ่งนี้เป็นปฎิทรรศน์ที่แสดงว่าต้องมีปัญหาความเข้ากันไม่ได้ทางตรรกะบางอย่างแฝงอยู่ในแนวคิดประชาธิปไตย
และเป็นปัญหาซึ่งผู้ให้เหตุผลสนับสนุนโดยพิจารณาผลลัพธ์
(ดู
5.2)
ต้องตอบให้ได้
ฮอนเดอริค
(Honderich, 1973: 221-226) และเพนน็อค
(Pennock, 1974: 88-93)
แก้ปฏิทรรศน์ข้อนี้โดยที่ชี้ว่าจริงๆ
แล้วปฏิทรรศน์ไม่มีอยู่จริง
แต่เกิดจากความเข้าใจผิดของวอลไฮม์เองเกี่ยวกับธรรมชาติของความเชื่อ
ของผู้ลงคะแนนเสียง
ความจริงคือเมื่อคนหนึ่งลงคะแนนเสียงสนับสนุนการห้ามล่ากวางเพราะเชื่อว่าการห้ามล่ากวางเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่
และพบว่าเสียงส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่ชอบธรรมไม่ยอมรับนโยบายนี้
เขาก็เพียงยอมรับว่าเสียงส่วนใหญ่ของกระบวนการประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะเลือกดำเนินนโยบายที่เขาเห็นว่าผิดได้
โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อที่ขัดแย้งกันสองแบบอยู่พร้อมกันว่าการล่ากวางทั้งมีและไม่มีเหตุผลอันควรรองรับ
ปฏิทรรศน์ข้อนี้จึงไม่ได้มีอยู่จริงตั้งแต่แรก
ปฏิทรรศน์ที่สองอภิปรายไว้โดย แอนโทนี่
ดาวน์
(Anthony Down, 1957: ch. 14)
โดยเรียกว่าเป็นปัญหาสิ่งที่ดีสำหรับส่วนรวม
(collective goods)
ดาวน์อธิบายว่าผลดีของประชาธิปไตยจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับส่วนรวม
ไม่ว่าจะเป็นผลดีในรูปของประโยชน์โดยรวมของการใช้ระบอบประชาธิปไตย
หรือในรูปของประโยชน์จากการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง
ที่เรียกว่าเป็นสิ่งดีสำหรับส่วนรวมก็เพราะเราไม่สามารถกีดกันใครคนใดคนหนึ่งจากการได้รับผลดีเหล่านั้นได้
ไม่ว่าเขาจะมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์หรือไม่ก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้
จะไม่สมเหตุสมผลกว่าหรอกหรือ
หากคนๆ
หนึ่งจะไม่เข้าร่วมกระบวนการนี้และรอรับผลดีอย่างเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่าถ้าคำนวณต้นทุนกันจริงๆ
แล้ว
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตยบางอย่าง
(เช่น
การไปลงคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งที่มีขนาดใหญ่มาก)
ไม่คุ้มด้วยประการทั้งปวง
เพราะขณะที่ผู้ไปลงคะแนนเสียงต้องเสียทั้งแรง
เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
แต่เขากลับมีส่วนในการกำหนดผลการลงคะแนนน้อยมาก
แต่ในทางกลับกัน
ถ้าทุกคนคิดแบบนี้เหมือนกันหมด
นั่นย่อมเป็นผลเสียหายใหญ่หลวงต่อระบอบประชาธิปไตยและความอยู่รอดของระบอบนี้ในระยะยาว
และเมื่อระบอบนี้ให้ประโยชน์ในระยะยาวแก่ทุกคนอยู่ไม่ได้
ปัจเจกบุคคลเองจะต้องเสียประโยชน์จากการไม่ไปลงคะแนนเสียง
ดังนั้น
สรุปง่ายๆ
คือ
ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สมเหตุสมผลที่จะเสียสละมีส่วนร่วม
แต่ขณะเดียวกัน
ถ้าไม่รักษาระบอบนี้ไว้
ก็จะเป็นการไม่สมเหตุสมผลอีกเช่นกันเพราะจะทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมา
นักประชาธิปไตยที่พยายามแก้ปฏิทรรศน์นี้คนหนึ่งคือ
โรเบิร์ต กู๊ดดิน
(Robert Goodin)
โดยชี้ว่าปฏิทรรศน์ข้อนี้เกิดจากการนำทัศนะแบบประโยชน์นิยมที่เชื่อว่าพลเมืองทุกคนเป็นนักคิดเล็งผลเลิศและคอยคิดคำนวณต้นทุนกำไรของการกระทำอยู่ตลอดเวลามาทำความเข้าใจพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง
จึงคิดว่าคนจะความสมเหตุสมผลที่จะเลือกไปลงคะแนนเสียงก็ต่อเมื่อการกระทำนี้ให้ประโยชน์หรือกำไรกลับคืนมามากกว่าต้นทุนที่เสียไป
แต่เมื่อประโยชน์หรือกำไรจากการลงคะแนนเสียง
ซึ่งรวมถึงความพอใจจากการได้ทำหน้าที่ทางจริยธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น
ไม่มีทางสูงกว่าต้นทุนที่เสียไปได้เลย
การไปลงคะแนนเสียงจึงไม่มีทางเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลได้
แต่กู๊ดดินชี้ว่า
นักประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองไม่ได้มองพลเมืองที่ไปลงคะแนนเสียงว่าเป็นคนที่คอยคิดคำนวณผลได้ผลเสียตลอดเวลา
คนเหล่านี้คือผู้ไปลงคะแนนเสียงเนื่องจากมีความเข้าใจทางจริยธรรมและมุ่งมั่นอุทิศตัวให้แก่การส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
พวกเขาจึงไปลงคะแนนเสียงเพราะตระหนักว่านั่นคือหน้าที่ของตน
ไม่ใช่เพราะชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าการไปให้ผลดีกว่าไม่ไป
(Goodin, 1982: 101-115-16)
ถ้าเราเห็นว่าปฏิทรรศน์ดังกล่าวมีพื้นฐานความคิดที่ผิดเกี่ยวกับพลเมืองผู้ไปลงคะแนนเสียงเช่นนี้
เราก็จะกล่าวได้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ปฏิทรรศน์
กระนั้นก็ดี
กู๊ดดินยอมรับอย่างหนึ่งว่าเมื่อใดก็ตามที่พลเมืองขาดอุดมคติทางสังคม
สังคมประชาธิปไตยก็จะเผชิญกับความท้าทาย
(ไม่ใช่ปฏิทรรศน์)
ว่าควรออกแบบสถาบันทางสังคมให้เป็นแบบใด
จึงจะส่งเสริมให้คนมีอุดมคติทางสังคมกันมากขึ้น
เพื่อให้เกิดการใช้เหตุผลไตร่ตรองทางจริยธรรมร่วมกันมากขึ้น
สิ่งนี้บ่งชี้ว่าปัญหาที่ประชาธิปไตยเผชิญอยู่จริงๆ
แล้วคือความท้าทายเชิงปฏิบัติมากกว่าปฏิทรรศน์ในทางทฤษฎีดังที่กล่าวมา
4.2
ปัญหาเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตย:
ความไม่กลมเกลียวภายในสังคม
นักทฤษฎีการเมืองที่เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้ประสบปัญหาปฏิทรรศน์แต่ประสบปัญหาเชิงปฏิบัติ
มองว่าปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับประชาธิปไตยคือการขาดความกลมเกลียวกันในสังคม
ซึ่งเกิดจากที่ประชาธิปไตยในฐานะเครื่องมือหรือกระบวนการ
สำหรับใช้ในการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกในสังคมการเมือง
ไม่สามารถให้แนวทางสำหรับตอบคำถามเชิงจริยธรรมหรือเชิงประจักษ์ได้
ทำให้เมื่อนำกระบวนการนี้มาใช้จึงไม่มีหลักประกันว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกๆ
ประเด็นปัญหาที่คนต้องตัดสินใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในบริบทที่คนมีข้อจำกัดในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและขาดข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ
และในบริบทสังคมที่เป็นพหุนิยมทางคุณค่า (value pluralism)
ในบริบทดังกล่าว
ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่ทุกคนต้องเผชิญทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือในปริมณฑลทางการเมือง
ก็คือการเลือกระหว่างคุณค่าหรือสิ่งดีงาม (the good)
หลายสิ่งที่ไม่อาจไปด้วยกันได้
และซ้ำร้ายยังไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ว่าคุณค่าใดดีกว่าอีกคุณค่าหนึ่ง
(incomparability)
ทำให้ไม่ว่าจะพยายามใช้เหตุผลไตร่ตรองอย่างหนักเพียงใดก็ตาม
การเลือกรับคุณค่าหรือสิ่งดีงามอันหนึ่ง
จึงหมายถึงการยอมสละคุณค่าหรือสิ่งดีงามอีกอย่างหนึ่งโดยปริยาย
ในระดับปัจเจกบุคคล
การสละคุณค่าหนึ่งเพื่อรับอีกคุณค่าหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีเหตุผลยอมรับได้จากภายในระบบคุณค่าที่มีการจัดลำดับไว้แล้วของคนๆ
นั้น แต่ในระดับของสังคมการเมือง
การสละคุณค่านี้อาจยอมรับได้ยากสำหรับกลุ่มคนที่เป็นผู้สูญเสียจากการเลือกครั้งนั้น
ตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่องการทำแท้งเสรี
มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนการเลือกของสตรี
(pro-choice)
กับกลุ่มคนที่มุ่งปกป้องชีวิตของสิ่งที่อยู่ในครรภ์
(pro-life) ในกรณีนี้
ไม่ว่าจะเลือกรับคุณค่าใดและสละอีกคุณค่าหนึ่ง
ย่อมต้องมีผู้สูญเสีย
และปัญหาคือประชาธิปไตยไม่มีเครื่องมือสำหรับให้เหตุผลกับฝ่ายที่สูญเสีย
นอกจากอ้างคุณค่าของตัวประชาธิปไตยเอง
ซึ่งปัญหานี้แม้จะไม่ใช่ปฎิทรรศน์ที่ฝังอยู่ในมโนทัศน์ประชาธิปไตยโดยตรง
แต่ในระยะยาวแล้ว มีนัยว่าอาจทำให้การให้เหตุผลสนับสนุน
(justification) ประชาธิปไตยเป็นไปได้ยากขึ้น
จนเป็นเหตุให้เกิดความร้าวฉานขึ้นในสังคมได้ในที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพลเมือง
โดยเฉพาะที่เป็นเสียงส่วนน้อย ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียซ้ำๆ
ขณะที่สังคมก็ไม่ได้หลักประกันว่าเมื่อใช้หลักประชาธิปไตยในการตัดสินใจแล้วจะช่วยให้ค้นพบคำตอบที่ถูกต้องสำหรับปัญหาต่างๆ
ได้จริง นักปรัชญาการเมืองบางราย เช่น เอมี่
กัทแมนและเดนนิส
ทอมป์สันถึงกับกล่าวว่ายิ่งชีวิตทางการเมืองส่งเสริมให้คนกำหนดตนเองมากขึ้นเท่าใด
การตัดสินใจทางการเมืองก็ยิ่งนำมาซึ่งความเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น
และหนทางเดียวที่จะลดความเจ็บปวดดังกล่าวลงได้ก็คือการที่พลเมืองต่างเรียนรู้ที่จะเคารพกันและกันในฐานะบุคคลที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ
มิใช่แค่เพียงคนที่เอาแต่ใจหรือมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น
(Gutmann and Thompson, 1990)
และหากประชาธิปไตยดำเนินต่อไปในลักษณะนี้และในขอบเขตที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ
ก็อาจนำไปสู่นโยบายสาธารณะที่มีเหตุผลเป็นที่ยอมรับมากขึ้นสำหรับทุกคนได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
ทั้งกู๊ดดิน
และกัทแมนและทอมป์สันต่างเป็นนักประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง
และทางออกที่ทั้งคู่เสนอมีลักษณะคล้ายกันคือชี้ให้เห็นว่าทั้งปฎิทรรศน์ของประชาธิปไตยและปัญหาเชิงปฏิบัติเรื่องการขาดความกลมเกลียวกันภายในสังคมประชาธิปไตยนั้น
ต่างมาจากสมมติฐานแบบเดียวกันที่มองว่าพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยเป็นคนมีเหตุผลที่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง
(rational and concerned with self-interest)
เมื่อเป็นเช่นนี้
การที่จะแก้ปฏิทรรศน์และปัญหาเชิงปฏิบัติจึงกระทำโดยการชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานนี้ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น
กล่าวคือ
พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีเหตุผลที่เห็นแก่ตัว
แต่สามารถเป็นผู้มีจิตสำนึกทางสังคมและจริยธรรมที่ทำให้การปกครองตนเองโดยประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นไปได้
แต่ข้อจำกัดของการอ้างเหตุผลเช่นนี้คือแม้จะหักล้างสมมติฐานของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ในระดับหนึ่ง
แต่ก็ยังไม่สามารถชี้แจงอย่างเป็นหลักเป็นฐานน่าเชื่อถือว่าพลเมืองในสังคมที่นำระบอบประชาธิปไตยมาใช้คือผู้มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและอุดมคติอย่างที่นักประชาธิปไตย
(โดยเฉพาะแบบมีส่วนร่วมและแบบร่วมไตร่ตรอง) เสนอไว้จริงๆ
และตราบใดที่สมมติฐานข้อนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นจริง
การให้เหตุผลสนับสนุนประชาธิปไตยแบบอื่นนอกเหนือไปจากระบบเลือกตั้งเช่นที่ชุมปีเตอร์เสนอไว้
ก็ยังคงเป็นเรื่องน่าหนักใจต่อไปสำหรับคนทั้งหลายที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยในฐานะอุดมคติสูงสุดของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมการเมือง
5.
การให้เหตุผลสนับสนุนแบบต่างๆ แก่ประชาธิปไตย
การให้เหตุผลสนับสนุน
(justification)
แก่ประชาธิปไตยมีความหลากหลายไปตามความเข้าใจประชาธิปไตยแบบต่างๆ
อย่างไรก็ดี
เรายังสามารถแบ่งแนวทางการให้เหตุผลสนับสนุนแก่ประชาธิปไตยได้ในอีกลักษณะหนึ่งคือ
(5.1) เหตุผลสนับสนุนจากกระบวนการ
(proceduralist justification)
(5.2) เหตุผลสนับสนุนจากผลลัพธ์
(consequentialist justification)
(5.3) เหตุผลสนับสนุนอื่นๆ
5.1
เหตุผลสนับสนุนจากกระบวนการ (proceduralist
justification)
โรเบิร์ต ดาห์ล
(Robert Dahl)
เป็นหนึ่งในนักทฤษฎีการเมืองคนแรกๆ
ที่ให้เหตุผลสนับสนุนเชิงกระบวนการแก่ประชาธิปไตย
เขาอ้างว่าถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งต้องการมารวมตัวกัน
โดยสมาชิกทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจในบางเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อส่วนรวม
ทุกคนจะยอมรับในกระบวนการแบบประชาธิปไตยที่มีหัวใจอยู่ที่ความเสมอภาค
เสรีภาพและความเป็นธรรม
ในรูปของที่การแต่ละคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันในการตัดสินใจ
และคนเหล่านี้จะยึดหลักเสียงข้างมากเป็นกระบวนการในการตัดสินใจที่มีความชอบธรรมและมีผลผูกพันทุกคนที่เกี่ยวข้อง
(Dahl, 1989, chs. 6 and 7)
เหตุผลสนับสนุนนี้มีข้อโต้แย้งว่าถ้าพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยต้องการแค่กระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรม
เราก็สามารถหาวิธีการอื่นๆ
ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นธรรมได้ เช่น
จับสลากหรือทอยลูกเต๋า
ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นธรรมยิ่งกว่าการใช้หลักเสียงข้างมากเสียอีก
เพราะปฏิบัติกับทุกคนเท่ากันหมด
ขณะที่การใช้หลักเสียงข้างมากดูเป็นการเข้าข้างเสียงส่วนใหญ่และกดขี่เสียงข้างน้อย
เพราะบังคับให้คนที่อยู่ในฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องปฏิบัติตามสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการ
ฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วยกับดาลห์ยังแย้งด้วยว่าเมื่อใดก็ตามที่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่มีความยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
เช่น การแบ่งทรัพย์สิน
เราจะไม่ใช่วิธีที่เป็นเชิงกระบวนการล้วนๆ เช่น จับสลาก
สิ่งนี้แสดงว่าเราไม่คิดว่าวิธีการเช่นนี้ให้ความยุติธรรมได้
ซึ่งหมายความว่าในการใช้กระบวนการตัดสินใจนั้น
เราต้องใช้คุณค่าหรือมาตรฐานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น
เรื่องความยุติธรรม
หรือความถูกต้องที่ไม่อาจได้มาจากกระบวนการที่เป็นธรรมเท่านั้น
ลำพังกระบวนการที่เป็นธรรมเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนที่ดีที่ว่ารัฐควรเป็นประชาธิปไตย
[Estlund, 1997: 177] นอกจากนี้
การเน้นกระบวนการที่เป็นธรรมที่ให้ทุกคนเสมอกัน
ยังมีจุดด้อยตรงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับคนที่มีสติปัญญาหรือข้อมูลความรู้เหมาะสมสำหรับการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
และขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนที่ด้อยปัญญาหรือขาดข้อมูลความรู้เทียบเท่ากับคนมีปัญญา
ทำให้กระบวนการนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ผลการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส
(Jurgen Habermas) เสนอแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยเชิงกระบวนการ
(procedural democracy)
ชนิดที่มีพื้นฐานอยู่บนจริยศาสตร์การสื่อสาร
(communicative or discourse ethics)
ที่ดูเหมือนจะแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้
ตามแนวคิดนี้ประชาธิปไตยคือกระบวนการตัดสินใจร่วมกันที่มีหัวใจอยู่ที่การสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการแสวงหาฉันทามติ
(consensus)
โดยมีเงื่อนไขว่าทุกคนที่อาจได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจต้องมีโอกาสแสดงความคิดเห็น
และความคิดเห็นนั้นต้องมาจากมุมมองที่สามารถทำให้เป็นสากล
(universalizable) ได้
ไม่ใช่จากมุมมองของผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้
ทุกคนที่เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นยังต้องเปิดใจกว้าง
พยายามสวมมุมมองและทำความเข้าใจกับเหตุผลที่ผู้อื่นนำเสนอ
ตลอดจนต้องมีพันธะในการมุ่งแสวงหาฉันทามติในเรื่องที่ร่วมกันตัดสินใจอยู่นั้น
ฮาเบอร์มาสอ้างว่าหากเงื่อนไขเหล่านี้ได้รับการตอบสนอง
ก็สามารถมองได้ว่าผลการตัดสินใจที่ได้รับเมื่อสิ้นสุดกระบวนการมีความชอบธรรมเพราะเป็นที่ยอมรับได้จากทุกคนที่เกี่ยวข้อง
โดยแม้แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็ยังมองเห็นว่าผลลัพธ์นั้นมีเหตุผลสนับสนุนที่ดีบางอย่างอยู่
นอกจากนี้ การที่ประชาธิปไตยเชิงกระบวนการชนิดนี้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น
ทำให้เชื่อได้ว่าผลการตัดสินใจที่ได้น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าที่ได้จากกระบวนการที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเลย
เพราะช่วยให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ทางออกใหม่ๆ
ตลอดจนผลประโยชน์ใหม่ๆ
ที่อาจมองไม่เห็นหากขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน
อย่างไรก็ตาม
ข้อเสนอของฮาเบอร์มาสก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่าการเน้นว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องกระบวนการเพียงอย่างเดียว
มีนัยว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ตรวจสอบต่อไปไม่ได้อีก
แต่ถ้าคิดเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาเรื่องความชอบธรรมตามมา
เพราะว่าคนที่มีความเห็นขัดแย้งกันเชิงเนื้อหาสาระ เช่น
เรื่องความยุติธรรม
ก็มักมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับกระบวนการด้วย
ทำให้กระบวนการแบบประชาธิปไตยเองอาจตั้งข้อสงสัยได้เช่นกัน
(Gutmann & Thompson, 2003)
ข้อวิจารณ์นี้โดยนัยแล้วก็คล้ายกับข้อวิจารณ์ของเอสลุนด์ในแง่ที่ว่าตราบใดที่สังคมยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าอะไรคือความยุติธรรมที่สังคมการเมืองควรจะมี
คำถามเกี่ยวกับกระบวนการก็ยังคงมีต่อไป
เช่นคำถามเกี่ยวกับระบบเลือกว่าตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวกับแบบสัดส่วน
แบบใดจึงจะยุติธรรมมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องมากกว่าคนกลุ่มอื่น
(นั่นคือ
ต้องมีตัวแทนมากกว่าเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ)
หรือมีคำถามว่ารัฐควรให้หลักประกันความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ
(เช่น เงินอุดหนุนและสวัสดิการต่างๆ)
แก่คนยากไร้เป็นพิเศษหรือไม่
เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิผลแท้จริง
(effective participation)
หรือคำถามว่าควรมีนโยบายเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมย้อนหลังหรือไม่
หรือควรควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเมืองแก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
(Michelman, 1997: 163)
แต่หากยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้ต้องนำมาพิจารณาด้วย
นั่นย่อมเท่ากับว่าการสนับสนุนประชาธิปไตยไม่อาจอาศัยเหตุผลเชิงกระบวนการอย่างเดียว
แต่ต้องพึ่งพาเนื้อหาหลักการบางอย่าง
ซึ่งอาจเป็นคุณค่าหรือมาตรฐานบางอย่างภายนอกกระบวนการประชาธิปไตย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาเกี่ยวกับความยุติธรรม
5.2
เหตุผลสนับสนุนจากผลลัพธ์ (consequentialist
justification)
การให้เหตุผลสนับสนุนแบบเน้นผลลัพธ์แบ่งย่อยเป็นหลายแบบ
แบบหนึ่งคือประชาธิปไตยแบบผลลัพธ์ถูกต้อง
ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฌองฌาค
รุสโซ
ความคิดหลักก็คือกระบวนการประชาธิปไตยสามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้ถ้ากระทำในเงื่อนไขที่ถูกต้อง
โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นรุสโซเรียกว่าเจตจำนงทั่วไป
(general will)
และนักประชาธิปไตยสมัยใหม่เรียกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม
(common good)
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิจารณ์ว่าความคิดเรื่องเจตจำนงทั่วไปนี้มีความคลุมเครือ
คำถามสำคัญคือสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการสูงสุด
(maximum welfare)
สำหรับชุมชนการเมืองนั้นมีจริงด้วยหรือ หรืออีกนัยหนึ่ง
สิ่งอันเป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกคน เช่น
เจตจำนงค์ทั่วไป ประโยชน์ส่วนรวม
หรือผลประโยชน์สาธารณะนั้น มีอยู่จริงหรือ
ถ้าตอบว่าจริง
ก็ต้องอธิบายต่อไปด้วยว่าสวัสดิการสูงสุดนั้นมีอยู่แบบใดระหว่าง
(ก)
มีอยู่ก่อนและไม่ขึ้นกับความต้องการของคนแต่ละคน
(ข)
มีอยู่ในฐานะฟังค์ชั่น (function)
ที่รอการเติมเต็ม
หรือมีอยู่ในฐานะผลรวมของความต้องการของคนแต่ละคน
ถ้าเลือกตอบ
(ก)
ก็ต้องอธิบายต่อไปอีกว่าจะชี้ชัดคุณค่าหรือสวัสดิการสูงสุดนั้นได้อย่างไร
(ค) ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น เช่น
การลงคะแนนเสียง
(ง) ด้วยวิธีอื่นด้วยที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ถ้าตอบ (ง) เหตุผลสนับสนุนแบบเน้นผลลัพธ์นี้จะล้มเหลว
เนื่องจากเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเราสามารถค้นพบคุณค่าหรือสวัสดิการสูงสุดได้โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการประชาธิปไตย
แต่ถ้าตอบ
(ค) เหตุผลสนับสนุนนี้ก็จะประสบความล้มเหลวเช่นกัน
เหตุผลประการแรกคำตอบ (ค) หักล้างคำตอบ (ก)
ที่ว่าสวัสดิการสูงสุดมีอยู่ก่อนและไม่ขึ้นกับความต้องการของคนแต่ละคน
ทั้งนี้เพราะว่าการยอมรับ (ก)
นั้นหมายความว่าเราสามารถค้นพบสวัสดิการสูงสุดภายนอกกระบวนการประชาธิปไตย
แต่คำตอบ (ค)
แสดงว่าต้องค้นพบผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้
เท่ากับผู้ใช้เหตุผลสนับสนุนแบบเน้นผลลัพธ์ต้องหันไปเลือกคำตอบ
(ข) แต่นั่นเท่ากับยอมรับว่าเหตุผลสนับสนุนแบบเน้นผลลัพธ์
มีลักษณะคล้ายกับเหตุผลสนับสนุนเชิงกระบวนการ
อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการประชาธิปไตยจะเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้องหรือเป็นสวัสดิการสูงสุดจริง
(Coleman & Ferejohn, 1986)
อีกข้อวิจารณ์หนึ่งที่ทำความเสียหายค่อนข้างมากให้แก่ประชาธิปไตยแบบผลลัพธ์ถูกต้องมาจากเค็นเน็ธ
แอร์โรว์
(Kenneth Arrow) ผู้พยายามทดสอบทฤษฎีประชาธิปไตยของรุสโซเพื่อหาเงื่อนไขเชิงรูปธรรมที่จำเป็นสำหรับทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถตอบสนองความต้องการหรือแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนได้ตามที่รุสโซกล่าวอ้าง
เขาเริ่มต้นจากสมมติฐานว่า
หากให้คนแต่ละคนจัดอันดับความต้องการเลือกที่ตนมีต่อนโยบายสาธารณะไว้คนละหนึ่งชุด
ระบอบประชาธิปไตยหนึ่งๆ
จำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวม
(aggregate)
ชุดการจัดอันดับของทุกคนเข้าด้วยกันและจัดทำเป็นอันดับทางเลือกของสังคม
(social choice)
ออกมาได้จึงจะถือว่าระบอบนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริง
และลงเอยด้วยการพบว่าไม่ว่าจะค้นหาอย่างไรก็ไม่สามารถพบกฎ
วิธีปฏิบัติหรือกระบวนการลงคะแนนเสียงแบบใดเลยที่สามารถรวบรวมความต้องการเลือกทั้งหมดเข้าด้วยกันและจัดอันดับออกมาเป็นผลลัพธ์ชุดเดียวที่คนส่วนใหญ่ต้องการมากที่สุดได้
กล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปคือเขาพบว่าเมื่อคนอย่างน้อยสามคนมาร่วมกันตัดสินใจเลือกทางเลือกนโยบายตั้งแต่สามทางเลือกขึ้นไป
การตัดสินโดยใช้หลักเสียงข้างมากจะล้มเหลวเสมอ
เพราะจะไม่มีทางเลือกใดเลยชนะได้เสียงข้างมากไปแต่เพียงผู้เดียว
และแต่ละทางเลือกจะมีเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการทางเลือกอื่นมากกว่าอยู่เสมอ
ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงลักษณะวนเป็นวงกลม
(cycling)
ยกตัวอย่าง
คนในอเมริกาสามกลุ่มถูกขอให้ลงคะแนนเสียงเลือกนโยบาย
3 แบบเกี่ยวกับการอุดหนุนด้านการศึกษา
คนสามกลุ่มได้แก่
(1) คนอเมริกันจากรัฐทางใต้
ซึ่งมีแนวโน้มจะเหยียดผิว
(2)
คนอเมริกากันที่เป็นรีพับลิกันซึ่งไม่ต้องการให้รัฐเพิ่มการอุดหนุนเพราะตัวเองจะถูกเก็บภาษี
เพิ่ม แต่ก็เกลียดการเหยียดผิว และ
(3)
คนอเมริกันจากรัฐทางเหนือซึ่งไม่เหยียดผิว
นโยบายสามแบบได้แก่
(ก)
ให้เงินอุดหนุนเพิ่มแก่โรงเรียนรัฐในทุกรัฐสำหรับสร้างตึกเรียน
(ข) ไม่เพิ่มเงินอุดหนุนแก่โรงเรียน คือ
เคยให้เท่าไหร่ก็ให้เท่านั้นต่อไป
(ค)
ให้เงินอุดหนุนเพิ่มเฉพาะโรงเรียนในรัฐที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนผิวดำ
แอร์โรว์ชี้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีโครงสร้างตามตารางข้างล่างนี้
ลำดับที่ |
คนกลุ่มที่
1 |
คนกลุ่มที่
2 |
คนกลุ่มที่
3 |
1 |
อุดหนุนทุกรัฐ
(ก) |
ไม่อุดหนุนเลย
(ข) |
อุดหนุนเฉพาะรัฐ
(ค) |
2 |
ไม่อุดหนุนเลย
(ข) |
อุดหนุนเฉพาะรัฐ
(ค) |
อุดหนุนทุกรัฐ
(ก) |
3 |
อุดหนุนเฉพาะรัฐ
(ค) |
อุดหนุนทุกรัฐ
(ก) |
ไม่อุดหนุนเลย
(ข) |
จากตัวอย่งที่ยกมาจะเห็นว่า
ถ้าเอาการจัดลำดับทางเลือกของคน
3
กลุ่มนี้มารวมกันเพื่อหาทางเลือกที่คนในสังคมพอใจมากที่สุด
จะไม่มีทางเลือกใดเลยที่คนต้องการมากที่สุดจริงๆ
ดังจะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ที่หนึ่ง (คนกลุ่มที่หนึ่งและคนกลุ่มที่สาม)
ชอบทางเลือกก. มากกว่าทางเลือกข.
ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ที่สอง
(คนกลุ่มที่หนึ่งและคนกลุ่มที่สอง) ชอบทางเลือกข.
มากกว่าทางเลือกค.
แต่ก็มีเสียงส่วนใหญ่ที่สาม(คนกลุ่มที่สองและคนกลุ่มที่สาม)
ชอบทางเลือกค. มากกว่าทางเลือกก.
หรือเขียนเป็นประโยชน์สัญลักษณ์ได้ดังนี้
ก
> ข; ข
> ค แต่ ค >
ก
ดังนั้น
จึงสรุปไม่ได้ว่า
ทางเลือกก.
หรือ
ข.
หรือ
ค.
อย่างใดอย่างใดเป็นทางเลือกที่คนชอบมากที่สุด
ภายหลังแอร์โรว์ได้สรุปข้อค้นพบนี้ออกมาเป็นทฤษฎีบททั่วไปที่ชื่อว่าทฤษฎีบทเรื่องความเป็นไปไม่ได้
(impossibility theorem)
ที่กล่าวว่าการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องเรื่องความสมเหตุสมผล
(rationality)
ความไม่เป็นเผด็จการของทางเลือก
(non-dictatorship)
อำนาจอธิปไตยของพลเมือง
(people sovereignty)
ความเป็นเอกฉันท์
(unanimity)
การไม่ขึ้นกับทางเลือกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องพร้อมกันได้
ซึ่งหมายถึงข้อเรียกร้องให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่เป็นธรรมขัดแย้งกับความสามารถของสถาบันของการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยที่จะให้ผลลัพธ์ของส่วนรวมที่สมเหตุสมผลและไม่ขัดแย้งกันเอง
ผู้อ้างเหตุผลสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเน้นผลลัพธ์บางรายพยายามแก้ปัญหานี้โดยปฏิเสธว่าผลการลงคะแนนเสียงไม่ได้แสดง
“เจตจำนง”
ของประชาชนโดยดูจากการเลือก
เราจึงไม่ควรคิดว่าการลงคะแนนเสียงคือกิจกรรมสำหรับระบุว่าอะไรคือเจตจำนงตั้งแต่ต้น
แต่การอ้างเช่นนี้เท่ากับอ้างว่าประชาธิปไตยไม่สามารถบอกเจตจำนงของประชาชน
(Coleman & Ferejohn, 1986)
ส่วนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยรายอื่นๆ
เช่น
มิลเล่อร์
(David Miller)
เสนอว่า
เราควรเลิกเชื่อว่ามีเจตจำนงทั่วไปที่เป็น
“คำตอบที่ถูกต้อง”
หนึ่งเดียวสำหรับคนทุกคน
และหันมานิยามการตัดสินใจที่ถูกต้องว่าเป็นการตัดสินใจที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของคนแต่ละคนแทน
ประชาธิปไตยจึงให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องในแง่ที่สะท้อนผลประโยชน์ส่วนตัวของคนแต่ละคน
โดยไม่เกี่ยวข้องกับเจตจำนงค์ทั่วไปของรุสโซ
หรือผลประโยชน์ส่วนรวมของนักประชาธิปไตยสมัยใหม่
แต่ถ้าเชื่อเช่นนี้เสียแล้ว
ประชาธิปไตยก็จะต้องพบกับปัญหาเรื่องความชอบธรรมในแง่ที่ว่าในการลงคะแนนเสียง
ฝ่ายชนะจะไม่สามารถอ้างได้อย่างชอบธรรมเต็มที่ว่านโยบายของตนสะท้อนผลประโยชน์ส่วนรวม
การให้เหตุผลสนับสนุนเชิงผลลัพธ์แบบที่สองได้แก่เหตุผลแบบของจอห์น
สจ๊วต
มิลล์ (John Stuart Mill)
ซึ่งเสนอว่าการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
(representative government)
ก่อให้เกิดพัฒนาการทางปัญญา
ความรู้
จิตสำนึกและจริยธรรมแก่พลเมือง
เมื่อต่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะและเรียนรู้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มอื่นๆ
ในสังคมนอกเหนือจากผลประโยชน์แคบๆ
ของตนเอง
แต่เหตุผลนี้ต้องประสบปัญหาว่าสามารถใช้ได้โดยอิงผลที่เกิดขึ้นจริงแล้ว
(ex post)
เท่านั้น
นั่นคือ
สำหรับสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วและเห็นผลแล้ว
จึงจะเห็นข้อดีด้านนี้ของประชาธิปไตยได้
แต่ไม่สามารถใช้ได้กับสังคมที่ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยที่ต้องตัดสินใจว่าจะรับประชาธิปไตยหรือจะรับอุดมคติแบบอื่น
เช่น
เทวาธิปไตย
(theocracy)
พัฒนาการที่เกิดขึ้นกับพลเมืองเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยเป็นเพียงผลข้างเคียง
(by-products)
จากการใช้ระบอบประชาธิปไตย
แต่ไม่อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนสำหรับการตัดสินใจเลือกใช้ระบอบประชาธิปไตยขณะที่ผลนั้นยังไม่บังเกิดขึ้นได้
5.3
เหตุผลสนับสนุนแบบอื่นๆ
นักทฤษฎีและนักปรัชญาการเมืองบางรายที่ตระหนักถึงข้อจำกัดของเหตุผลสนับสนุนสองแบบข้างต้นได้พยายามนำเสนอเหตุผลแบบอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น
เอมี่
กัทแมนและเดนนิส
ทอมป์สันที่เสนอว่าประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดเพราะสามารถคลี่คลายหรือแก้ไขความขัดแย้ง
(conflict resolution)
ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
เนื่องจากเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจเหตุผลและคุณค่าของกันและกันอย่างผู้มีอารยะ
แทนที่จะต้องพึ่งพาสถาบันอื่นเป็นผู้ตัดสิน
เช่น
ศาลยุติธรรม
ซึ่งมีน้อยครั้งมากที่จะสามารถสลายความขัดแย้งให้หมดไปได้จริงๆ
ขณะที่นักทฤษฎีคนอื่นๆ
เช่น
จอน
เอ็ลสเตอร์
(Jon Elster)
อ้างเหตุผลจากทฤษฎีเกม
(game theory)
ว่าประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นจุดรวมความคิด
(focal point)
แบบหนึ่ง
กล่าวคือหากเรามองปัญหาประชาธิปไตยว่าเป็นปัญหาของการประสานงานกันในสังคมระหว่างปัจเจกบุคคลเพื่อประโยชน์ของทุกคนร่วมกัน
(ที่ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม)
นั่นคือ
พลเมืองที่มีเหตุผลมีแนวโน้มจะคิดถึงประชาธิปไตยมากกว่ารูปแบบการตัดสินใจชนิดอื่นเมื่อต้องทำงานร่วมกัน
ขณะที่โจชัว
โคเฮน
(Joshua Cohen)
และจอห์น
รอลส์ให้ความสำคัญมากกว่ากับการอ้างเหตุผลสนับสนุนความเป็นไปได้ของประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง
โดยอ้างว่าประชาธิปไตยในความหมายของการให้เหตุผลสนับสนุนนโยบายสาธารณะ(public
justification)
นั้นจะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีบางสิ่งทำหน้าที่คล้ายจุดรวมความคิด
โดยทั้งคู่เห็นตรงกันว่าจุดที่ว่านั้นคือ
เสรีนิยมทางการเมือง
(political liberalism)
หรือ
ทฤษฎีความยุติธรรมในฐานะความเที่ยงธรรม
ที่รอลส์เสนอไว้
อนึ่ง
เหตุผลสนับสนุนเหล่านี้แม้จะยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบระเบียบชัดเจนเหมือนการให้เหตุผลสนับสนุนประชาธิปไตยสองแบบแรก
แต่อย่างน้อยก็ช่วยชี้ให้เห็นแนวทางใหม่ๆ
ในการอ้างเหตุผลสนับสนุนประชาธิปไตย
ที่ไม่ยึดกับคู่ตรงข้ามระหว่างกระบวนการและผลลัพธ์
(procedure vs consequences)
อีกต่อไป
ปิยฤดี ไชยพร (ผู้เขียนและเรียบเรียง)
เรียบเรียงจาก
(เฉพาะหัวข้อ 1-3
ของบทสารานุกรมนี้)
· |
Gutmann, Amy. 2007. Democracy. In
Robert
E. Goodin, Philip Pettit and Thomas Pogge, eds.
A Companion to Contemporary Political Philosophy,
pp. 521-531. Blackwell
Publishing. |
· |
Barber, Benjamin. 1984. Strong Democracy:
Participatory Politics for A New Age.
Berkeley, Calif:
University of California Press.
(นำเสนอทฤษฎีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสำหรับยุคสมัยปัจจุบันภายใต้ชื่อว่า
“ประชาธิปไตยเข้มแข็ง”) |
· |
Cohen, Joshua. 1998.
Deliberation and Democratic
Legitimacy. In The Good
Polity, A.Hamlin and P.
Pettit, eds. Oxford : Blackwell.
; Deliberative Democracy,
Jon Elster, ed. Cambridge:
Cambridge University press. ;
Gutmann, Amy and Thompson,
Dennis 1996. Democracy and
Disagreement: Why Moral
Conflict Cannot Be Avoided in
Politics and What Can Be Done
About It. Cambridge,
Mass.: Harvard University Press.
(งานสองชิ้นนี้บุกเบิกนำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองเพื่อแก้ปัญหาปฏิทรรศน์และปัญหาเรื่องการให้หลักการแก่ประชาธิปไตย) |
· |
Coleman, Jules and Ferejohn, John. 1986. Democracy and
Social Choice. Ethics 97: 6-25.
;
Cohen, Joshua. 1986. An
Epistemic Conception of Democracy. Ethics
Vol. 97: 26-38.
(งานสองชิ้นนี้อภิปรายปัญหาเชิงปรัชญาเรื่องการให้หลักการ
(justification) แก่ประชาธิปไตย) |
· |
Dahl, Robert. 1989. Democracy and its
Critics. New Haven, Conn.: Yale
University Press.
(นำเสนอข้อวิจารณ์เชิงปฏิบัติ (practical)
โดยรวมๆ ต่อประชาธิปไตย) |
· |
Laclau, Ernesto.
2005. On Populist Reason.
London: Verso.
(นำเสนอและอภิปรายแนวคิดหลักของประชาธิปไตยแบบประชานิยม) |
· |
Rawls, John. 1971. A
Theory of Justice.
Cambridge, Mass.: Harvard
University Press.
(นำเสนอแนวคิดหลักของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม) |
· |
Rousseau, Jean-Jacques. 1950. The Social Contract,
G.D.H. Cole, trans. New York: E.P. Dutton, Everyman’s
Library.
(เป็นงานที่บุกเบิกนำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) |
· |
Schumpeter, Joseph. 1943.
Capitalism, Socialism, and
Democracy. London:
George Allen & Unwin.
(นำเสนอแนวคิดหลักของประชาธิปไตยแบบชุมปีเตอร์เรียน) |
· |
Walzer, Michael. 1983.
Spheres of Justice.
New York: Basic Books.
(นำเสนอแนวคิดหลักประชาธิปไตยแบบสังคม) |
· |
Wollheim, Richard. 1962. A
Paradox in the Theory of
Democracy. In Peter Laslett and
W. G. Runciman eds.
Philosophy, Politics and Society
(Second Series), pp.
71-87. Oxford: Basil Blackwell.
(อภิปรายปฏิทรรศน์ของประชาธิปไตย) |
คำที่เกี่ยวข้อง
สิทธิ /
อัตตาณัติ /
ความเสมอภาค
Rights /
Autonomy /
Equality
|