1. บทนำ
“ปฏิทรรศน์” เป็นคำแปลของคำว่า “paradox”
รากศัพท์ของคำนี้ประกอบด้วย “para”
ซึ่งแปลว่า “ตรงกันข้าม” (contrary to)
และ “dox” ซึ่งแปลว่า “ความเชื่อ”
(belief)
ปฏิทรรศน์ใช้กันในความหมายของข้อความที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับความเชื่อที่คนทั่วไปมี
หรือยอมรับว่าเป็น “สามัญสำนึก” ซีโนแห่งอีเลีย
(Zeno of Elea, 490-430 BCE)
เป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่ออกชุดการอ้างเหตุผลเพื่อเสนอปฏิทรรศน์มากมายหลากหลาย
เป็นที่เชื่อกันว่า
ซีโนเสนอปฏิทรรศน์เหล่านี้เพื่อปกป้องฐานคิดทางอภิปรัชญาของปาร์เมนิเดส
(Parmenides)
ที่เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นความจริงหนึ่งเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้และไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ภาพปรากฏที่ทำให้เห็นต่างไปจากนี้เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น
แม้คนส่วนใหญ่อาจเห็นว่านี่เป็นแนวคิดที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง
แต่ซีโนกลับชี้ให้เห็นในมุมกลับกันว่าแนวคิดที่ตรงข้ามกับของปาร์เมนิเดสต่างหากที่นำไปสู่ผลซึ่งไร้สาระเสียยิ่งกว่า
ตัวอย่างเช่น ซีโนแสดงให้เห็นว่าถ้าเราเชื่อว่ามีสิ่งต่างๆ
อยู่อย่างหลากหลายแล้ว
เราก็จะต้องสรุปว่าทุกสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งมีขนาดที่ใหญ่อย่างไม่จำกัดและเล็กอย่างไม่จำกัด
หรือถ้าเราเชื่อว่าการเคลื่อนที่สามารถแบ่งแยกได้อย่างไม่สิ้นสุด
สิ่งที่ตามมาก็คือข้อสรุปที่บอกว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่เคลื่อนที่ได้
อย่างไรก็ตาม
ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับข้อสรุปดังกล่าวนี้
แต่อย่างน้อยที่สุดปัญหาที่ซีโนยกขึ้นมา
ทำให้เราต้องตระหนักว่าการจะยอมรับและเชื่อในการมีอยู่ที่หลากหลายและการเคลื่อนที่
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น
ไม่ใช่สิ่งที่จะทึกทักเอาได้โดยง่ายอีกต่อไป
มีการถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่าเป้าหมายที่ซีโนต้องการโจมตีนั้นเป็นใครหรือแนวคิดแบบใดกันแน่
บางคนเชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายคือนักปรัชญาสายปิทากอรัส
(Pythagorean)
ที่เห็นว่าความเป็นจริงมีพื้นฐานอยู่บนตัวเลขและจำนวนทางคณิตศาสตร์
บางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายที่อาจเป็นไปได้
แต่ไม่ได้มีอยู่จริง ที่อาจจะเสนอทฤษฎีทางเลือกอื่นๆ
ขึ้นมาขัดแย้งกับหลักปรัชญาของปาร์เมนิเดส
แต่การตีความทั้งสองนี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก
เพราะขาดหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน
สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดจึงน่าจะเป็นการตีความที่เห็นว่าซีโนต้องการหักล้างทัศนะของคนทั่วไปที่คิดว่าแนวคิดของปาร์เมนิเดสเป็นสิ่งที่ผิดอย่างชัดเจนเพียงเพราะขัดกับสามัญสำนึกเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน
ปฏิทรรศน์ของซีโนที่สำคัญและเป็นที่ถกเถียงอย่างมีนัยสำคัญในทางปรัชญา
อาจแยกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ปฏิทรรศน์ของความหลากหลาย
และปฏิทรรศน์ของการเคลื่อนที่
แม้ซีโนจะเขียนงานที่แสดงชุดการอ้างเหตุผลต่างๆ
ทั้งหมดของตนเองไว้
แต่น่าเสียดายที่งานเหล่านั้นสูญหายไปเกือบทั้งหมด
มีเพียงถ้อยคำบางส่วนที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลาย
ข้อเสนอส่วนใหญ่ของซีโนที่เรารับรู้กันมีบอกเล่าผ่านงานเขียนของเพลโต
(Plato) และอริสโตเติล (Aristotle)
เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนที่
2. ปฏิทรรศน์ของความหลากหลาย
ทัศนะที่เชื่อว่าความเป็นจริงคือทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน
(monism) ตามที่ปาร์เมนิเดสเสนอนั้น
ดูไม่น่าจะมีความเป็นไปได้มากนักเมื่อเทียบกับทัศนะแบบพหุนิยม
(pluralism)
ที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกของเรามากกว่า นั่นคือ
ทัศนะที่บอกว่าโลกประกอบด้วยสิ่งต่างๆ หลากหลาย เช่น
มนุษย์ ก้อนหิน ต้นไม้ ฯลฯ
แต่ซีโนเสนอข้ออ้างเหตุผลที่แสดงว่าการเชื่อในพหุนิยมเช่นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเอง
กล่าวคือ ถ้ามีสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายอยู่จริง สิ่งต่างๆ
นั้นจะมีอยู่อย่างจำกัดและไม่จำกัด และสิ่งต่างๆ
นั้นจะมีขนาดเล็กจนไม่มีขนาดและใหญ่จนมีขนาดที่ไม่จำกัด
ซึ่งนี่ทำให้ต้องสรุปว่าทัศนะแบบพหุนิยมเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้
2.1 ข้ออ้างเหตุผลเรื่องสิ่งที่จำกัดและสิ่งที่ไม่จำกัด
ข้อเขียนของซีโนที่ใช้อธิบายเรื่องนี้
ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน โดยซีโนกล่าวไว้ว่า
A: “ถ้ามีสิ่งต่างๆ อยู่มากมาย
ย่อมจำเป็นที่สิ่งเหล่านั้นจะมีมากเท่าที่พวกมันมีอยู่
และมีไม่มากหรือไม่น้อยไปกว่านั้น
แต่ถ้าหากพวกมันมีมากเท่ากับที่พวกมันมีอยู่
พวกมันก็ย่อมมีจำกัด”
B “ถ้ามีสิ่งต่างๆ อยู่มากมาย
สิ่งที่มีอยู่เหล่านั้นจะมีอยู่อย่างไม่จำกัด
เพราะย่อมจะต้องมีสิ่งอื่นที่อยู่ระหว่างสิ่งต่างๆ
ที่มีอยู่นั้นเสมอ
และก็จะมีสิ่งอื่นที่อยู่ระหว่างสิ่งเหล่านี้ต่อไปอีก
และดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจึงมีอยู่อย่างไม่จำกัด”
จากข้ออ้างเหตุผล
A ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ผลรวมของสิ่งต่างๆ
ที่มีอยู่ (ซึ่งในที่นี้สมมติให้เป็น T)
จำเป็นต้องมีอยู่มากเท่ากับ T และ
T จะต้องมีจำนวนไม่มากไปกว่า
T+
(หมายถึงผลรวมที่ประกอบไปด้วยทุกสิ่งที่อยู่ใน T
บวกกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากนั้น)
และไม่น้อยไปกว่า T-
(หมายถึงผลรวมของเกือบทุกสิ่งที่อยู่ใน T
แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) แต่ปัญหา ณ จุดนี้คือ
ข้ออ้างเหตุผลนี้จำเป็นต้องมีข้อสมมติฐานที่ว่า ถ้า
T* ประกอบด้วยทุกสิ่งที่อยู่ใน T
และมีสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามาด้วยแล้ว
T* จะประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่มากกว่า
T และ T
จะประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่น้อยกว่า T*
อย่างไรก็ตาม
ข้อสมมติฐานเช่นนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะในกรณีที่
T และ T*
ต่างประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดแล้ว (เช่น
เซตของจำนวนเต็ม) เราจะไม่สามารถบอกได้ว่า T
ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่น้อยกว่า
T*
กรณีของข้ออ้างเหตุผล
B
เป็นประเด็นของการเพิ่มสิ่งอื่นเข้ามาได้อย่างไม่จำกัด
หากมีสิ่งต่างๆ มากมายจริงดังที่ทัศนะแบบพหุนิยมอ้าง
นั่นย่อมมีนัยว่าสิ่งต่างๆ
นั้นสามารถแยกแยะให้ต่างออกจากกันได้ เช่น
สามารถแยกแยะให้เห็นได้ว่าคนแตกต่างไปจากม้า
และวิธีหนึ่งที่จะจำแนกสองสิ่งนี้ให้ต่างกันออกไปก็คือการระบุถึงสิ่งอื่นที่ขั้นอยู่ระหว่างสองสิ่งนี้
เช่น อานม้า
แต่ถ้าเช่นนั้นอะไรที่ทำให้อานม้ากับม้าแยกต่างกันออกไป
คำตอบอาจเป็นไปได้ใน 2 รูปแบบ
หนึ่งคือการชี้ไปที่สิ่งอื่นที่อยู่ระหว่างสองสิ่งนั้น
และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป อันจะทำให้ได้ข้ออ้างเหตุผล
B ตามมา
สองคือการบอกว่าสองสิ่งนี้ต่างจากกันแม้จะสัมผัสกันก็ตาม
แต่นี่กลับทำให้เกิดการแบ่งแยกอื่นที่เป็นไปได้ต่อไป เช่น
ระหว่างตัวม้าด้านขวากับตัวม้าด้านซ้าย
(ซึ่งเป็นสองสิ่งที่สัมผัสกันอยู่)
อันทำให้ผลรวมของสิ่งต่างๆ คือ T
นั้น
สามารถถูกขยายออกไปสู่ผลรวมแบบอื่นที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาได้อย่างไม่จำกัด
ด้วยเหตุนี้ หากเราเชื่อว่าโลกประกอบด้วยสิ่งต่างๆ
มากมายหลากหลาย อะไรที่จะเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างสิ่งต่างๆ
โดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างที่ซีโนเสนอมาได้
ประเด็นสำคัญ ณ จุดนี้คือ สามัญสำนึกเพียงอย่างเดียว
(ดังที่คนทั่วไปส่วนใหญ่มักใช้กัน)
ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุผลสนับสนุนได้
ในการตอบข้ออ้างเหตุผลของซีโนนี้
อาจจำเป็นต้องคิดให้เกินเลยไปจากแนวคิดพหุนิยมแบบที่คนทั่วไปเชื่อกัน
(simple pluralism)
ซีโนเสนอข้อโต้แย้งโดยมีสมมติฐานว่าทัศนะที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เขาเสนอจะมองว่าโลกประกอบด้วยสิ่งต่างๆ
ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นเนื้อเดียวกันและมีความต่อเนื่องกัน
(homogeneous and continuous mass of exiting
things)
และเมื่อไม่มีพื้นฐานที่แน่นอนสำหรับการแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ
นี้
วิธีเดียวที่จะแยกแต่ละสิ่งได้ก็คือการพิจารณาความสัมพันธ์ที่สิ่งต่างๆ
นี้มีระหว่างกัน เช่น พิจารณาจากการที่มันอยู่ห่างจากกัน
ในแง่นี้จึงทำให้ข้ออ้างเหตุผล B
มีความสมเหตุสมผลสำหรับการโต้แย้งทัศนะเช่นนี้
การตอบข้อโต้แย้งนี้จึงอาจทำได้โดยการปฏิเสธสมมติฐานเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกัน
เช่นที่นักปรัชญาสมัยกรีกอย่างดิโมคริตัส
(Democritus) แยกแยะสิ่งต่างๆ
ได้เพราะมองว่าโลกประกอบด้วยหน่วยย่อยที่ต่างประเภทกันสองแบบ
นั่นคือ อะตอม (atom) และที่ว่าง (void)
โดยอะตอมสองอะตอมใดๆ
แยกขาดจากกันด้วยที่ว่าง
ส่วนอะตอมและที่ว่างที่ติดกันเป็นสิ่งที่แยกจากกันอยู่แล้วเพราะเป็นสิ่งคนละประเภทกัน
อย่างไรก็ตาม การโต้แย้งข้อเสนอของซีโนในรูปแบบนี้
เท่ากับเป็นการปฏิเสธแนวคิดพหนุนิยมแบบที่คนทั่วไปเชื่อกัน
เพราะโลกแบบดิโมคริตัสนี้ไม่ได้ประกอบสิ่งที่หลากหลายอย่าง
มนุษย์ ก้อนหิน ต้นไม้ ฯลฯ
แต่เป็นโลกที่ประกอบไปด้วยอะตอมต่างๆ
ข้อโต้แย้งอีกแนวหนึ่งที่มีความซับซ้อนในการคิดแบบพหุนิยมมากขึ้นไปอีกคือแนวทางแบบของอริสโตเติล
ที่แยกความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ เช่น มนุษย์และม้า
ออกจากกันด้วยการจัดองค์ประกอบเชิงหน้าที่
(functional organization)
ของแต่ละสิ่งนั้น
2.2 ข้ออ้างเหตุผลเรื่องสิ่งที่ใหญ่และสิ่งที่เล็ก
ข้ออ้างเหตุผลอีกชุดหนึ่งที่ซีโนใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองของทัศนะแบบพหุนิยมคือ
ถ้ามีสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายอยู่จริง สิ่งต่างๆ
นั้นจะมีขนาดที่ใหญ่อย่างไม่จำกัด และเล็กจนไม่มีขนาด
ซีโนกล่าวว่า
“ไม่มีสิ่งใดที่มีขนาด
เพราะแต่ละสิ่งในสิ่งต่างๆ
ที่มีมากมายนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับตัวมันเองและเป็นหนึ่งเดียว”
เนื่องจากการสูญหายของข้อเขียนส่วนใหญ่ของซีโน
จึงยังไม่ชัดเจนในจุดนี้ว่าทำไมเพียงเพราะแต่ละสิ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับตัวมันเองและเป็นหนึ่งเดียว
จึงทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีขนาด
แต่ซีโนก็ได้ชี้ให้เห็นปัญหาต่อจากจุดนี้ว่า
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ไม่มีขนาดนั้นย่อมไม่มีอยู่จริง
เพราะ
“ถ้าสิ่งนั้นถูกเพิ่มเข้าไปในสิ่งอื่นที่มีอยู่
มันจะไม่ทำให้สิ่งอื่นนั้นใหญ่ขึ้น
เพราะถ้ามันไม่มีขนาดและถูกใส่เพิ่มเข้าไป
สิ่งที่ถูกมันเพิ่มเข้ามาก็ไม่สามารถมีขนาดที่เพิ่มขึ้นได้
จึงสรุปได้ทันทีว่าไม่มีสิ่งใดที่ถูกเพิ่มเข้าไป
แต่หากเมื่อมันถูกแยกออกมา
สิ่งอื่นนั้นก็ไม่ได้มีขนาดเล็กลง
และสิ่งอื่นนั้นก็จะไม่มีขนาดเพิ่มขึ้นเมื่อถูกมันเพิ่มเข้ามา
จึงเป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งใดที่ถูกเพิ่มเข้าไปหรือแยกออกมา”
ข้ออ้างเหตุผลของซีโนนี้ใช้ได้กับวัตถุในโลกสามมิติ
(แต่ไม่อาจใช้ได้กับสิ่งประเภทอื่น เช่น
เราไม่ได้ตัวใหญ่ขึ้นด้วยการที่มีความสุขมากขึ้น
แม้อาจจะกล่าวได้ว่าตัวเรามีความสุขเพิ่มเข้ามา)
จึงอาจกล่าวได้ว่า
ซีโนกำลังอ้างเหตุผลโจมตีรูปแบบของพหุนิยมที่เห็นว่ามีวัตถุทางกายภาพต่างๆ
ที่หลากหลาย ในอีกทางหนึ่ง สำหรับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นั้น
“ถ้ามันมีอยู่
แต่ละสิ่งก็จะต้องมีขนาดและความหนา
และชิ้นส่วนหนึ่งของมันก็จะต้องแยกออกจากชิ้นส่วนอื่นที่เหลือได้
และการให้เหตุผลลักษณะเดียวกันนี้ก็ใช้กับชิ้นส่วนของสิ่งนั้นที่อยู่ด้านหน้าได้
ซึ่งตัวมันเองจะต้องมีขนาดและส่วนของมันก็จะมีด้านหน้า
การพูดเช่นนี้ครั้งหนึ่งจึงไม่ต่างจากการพูดเช่นเดียวกันนี้ต่อๆ
ไป ไม่มีชิ้นส่วนใดเลยที่จะเป็นชิ้นส่วนสุดท้าย
และไม่มีชิ้นส่วนใดเลยที่จะแยกขาดจากส่วนอื่น ดังนั้น
ถ้ามีสิ่งต่างๆ อยู่มากมายแล้ว
พวกมันย่อมต้องทั้งใหญ่และเล็ก นั่นคือ
เล็กจนถึงขั้นไร้ขนาด แต่ใหญ่จนมีขนาดที่ไม่จำกัด”
การอ้างเหตุผลของซีโนวางอยู่บนข้อสมมติที่ว่าวัตถุใดๆ
สามารถถูกแบ่งแยกลงไปเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่แยกจากกันได้
ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนนั้นเองก็ถือเป็นวัตถุอันหนึ่งเช่นกัน
จึงนำไปสู่การแบ่งแยกที่ไม่มีที่สิ้นสุด
กระบวนการแบ่งแยกย่อยนี้ดำเนินไปได้อย่างไม่มีจุดจบ
ดังนั้น ชิ้นส่วนต่างๆ จึงมีขนาดที่ใหญ่อย่างไม่จำกัด
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าข้ออ้างเหตุผลนี้เป็นการอ้างว่าขนาดของผลรวมของชิ้นส่วนต่างๆ
มีขนาดใหญ่อย่างไม่จำกัด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้
ข้อเสนอของซีโนจะเป็นการใช้เหตุผลที่บกพร่อง
เพราะแม้จำนวนของชิ้นส่วนต่างๆ จะมีได้อย่างไม่จำกัด
แต่ผลรวมของชิ้นส่วนย่อยที่ไม่จำกัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีความไม่จำกัดตามไปด้วย
(ดังที่ลำดับของ
1/2 + 1/4 +
1/8 + ...
จะดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด
แต่ผลรวมของทั้งหมดจะมีค่าเป็น 1)
ในกรณีของการแบ่งสิ่งต่างๆ ข้างต้น ผลรวมของชิ้นส่วนต่างๆ
ของสิ่งๆ หนึ่งจะยังคงเท่ากับขนาดดั้งเดิมของสิ่งนั้น
อย่างไรก็ตาม หากเราเข้าใจการตีความในอีกรูปแบบหนึ่ง
ก็อาจทำให้เห็นความสมเหตุสมผลของข้ออ้างเหตุผลนี้ได้
กล่าวคือ
จุดสนใจของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผลรวมของชิ้นส่วนย่อยต่างๆ
แต่อยู่ที่กระบวนการและผลผลิตของการแบ่งแยกย่อยนั้น
คือให้พิจารณาที่ความเป็นไปได้ของการทำให้กระบวนการแบ่งแยกนั้นเสร็จสมบูรณ์
ซีโนกำลังชี้ให้เห็นว่าในเมื่อคนทั่วไปมักคิดถึงวัตถุต่างๆ
ในลักษณะที่สามารถแบ่งแยกย่อยและมีการกินที่
และไม่มีเหตุผลที่จะทึกทักเอาได้ว่าการแบ่งแยกย่อยนี้จะต้องมีขีดจำกัดขั้นต่ำ
จึงย่อมเป็นผลตามมาว่าวัตถุต่างๆ
สามารถแบ่งแยกย่อยลงไปได้อย่างไม่จำกัด
จากข้ออ้างเหตุผลในส่วนนี้ทำให้เห็นได้ว่าเหตุใดซีโนจึงอ้างได้ว่าสิ่งซึ่งมีขนาดเท่ากับตัวมันเองและเป็นหนึ่งเดียว
เป็นสิ่งที่ไม่มีขนาด
ทั้งนี้เพราะการเป็นหนึ่งเดียวหมายถึงการที่สิ่งนั้นไม่มีชิ้นส่วนย่อย
มิเช่นนั้นแล้วมันจะกลายเป็นสิ่งหลายสิ่ง
(จากการที่แบ่งได้เป็นหลายชิ้นส่วน)
และเนื่องจากว่าสิ่งใดก็ตามที่มีขนาดจะสามารถแบ่งแยกเป็นชิ้นส่วนย่อยได้
สิ่งที่ไม่มีขนาดเท่านั้นจึงไม่มีชิ้นส่วน
และนี่จึงเป็นเหตุผลรองรับข้ออ้างเหตุผลแรกที่แสดงว่าถ้ายอมรับมีอยู่อย่างหลากหลายของสิ่งต่างๆ
แล้ว
ต้องยอมรับด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นเล็กจนถึงขั้นไม่มีขนาด
3. ปฏิทรรศน์ของการเคลื่อนที่
สำหรับอริสโตเติล ข้ออ้างเหตุผล 4
รูปแบบของซีโนที่โต้แย้งเรื่องการเคลื่อนที่
ถือเป็นข้ออ้างเหตุผลที่หักล้างได้ยาก
แต่อริสโตเติลก็ได้สรุปข้ออ้างเหตุผลทั้งสี่พร้อมเสนอทางออกไว้ดังนี้
3.1 การแบ่งเป็นสอง (Dichotomy)
ปฏิทรรศน์นี้โต้แย้งว่าการเคลื่อนที่ไม่อาจมีอยู่จริงได้
เพราะในการเคลื่อนที่นั้น
จำเป็นต้องทำบางสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นเสียก่อน
ตัวอย่างเช่น ในการที่เราจะเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้น
A ไปถึงจุดหมาย B
ได้ เราจะต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงจุด A1
ซึ่งเป็นครึ่งทางของระยะ A – B
เสียก่อน
และจากนั้นเราก็จะต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงจุด A2
ซึ่งเป็นครึ่งทางของระยะ A1 – B
และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป
แต่ละครั้งที่เราเคลื่อนที่ไปถึงระยะครึ่งทาง
ยังคงเหลือระยะทางอีกครึ่งหนึ่งของระยะทางที่เหลือที่เราจะต้องให้ไปถึงก่อนอีกเสมอ
ซึ่งระยะทางที่ต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงดังกล่าวมีจำนวนที่ไม่สิ้นสุด
และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำที่ไม่สิ้นสุดเช่นนั้นให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่จำกัดได้
ดังนั้น
เราจึงไม่สามารถเคลื่อนที่ไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้
ในอีกทางหนึ่ง
อาจมีการแสดงถึงปฏิทรรศน์ของการแบ่งเป็นสองนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
โดยเริ่มต้นปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนที่
(แทนที่จะกำหนดให้เคลื่อนที่ไปครึ่งทางและมีระยะอีกครึ่งทางที่เหลือซึ่งต้องเคลื่อนที่ต่อไป
ดังที่กล่าวไปข้างต้น) กล่าวคือ
ในการเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้น
A ไปถึงจุดหมาย B
จำเป็นที่เราจะต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงครึ่งทางเสียก่อน คือ
1/2 (A – B)
แต่ก่อนหน้านั้นเราจะต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงครึ่งทางของระยะครึ่งทางแรกนั้น
คือ 1/4 (A – B)
และก่อนหน้านั้นอีกเป็นระยะ 1/8 (A
– B) และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป
ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกครั้งที่เราคิดถึงระยะทางที่สั้นที่สุดที่เราจะต้องเคลื่อนที่ไปให้ได้เป็นลำดับแรกก่อน
ย่อมจะต้องมีระยะทางที่สั้นกว่านั้นอยู่อีกเสมอ
ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนที่ไม่สิ้นสุด
และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำที่ไม่สิ้นสุดเช่นนั้นให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่จำกัดได้
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม
ข้อโต้แย้งต่อปฏิทรรศน์การแบ่งเป็นสองในทั้งสองรูปแบบ
ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ในที่นี้เพื่อความกระชับ
จึงขอพิจารณาจากรูปแบบแรกเป็นหลัก
ซึ่งเราอาจสรุปเป็นขั้นตอนการอ้างเหตุผลได้ดังนี้
1) ในการเคลื่อนที่ไปสู่จุดหมายใดๆ
เราต้องเคลื่อนที่ผ่านระยะครึ่งทางก่อนเสมอ
2) มีระยะครึ่งทางอยู่เป็นจำนวนที่ไม่จำกัด
3)
เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำซึ่งมีจำนวนไม่จำกัดในเวลาที่จำกัด
4) ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนที่ไปสู่จุดหมายใดๆ
การอ้างเหตุผลของต้นมีความสมเหตุสมผลในทางรูปแบบ นั่นคือ
ถ้าการทำ
X จะต้องทำ Y ก่อน
และการทำ Y เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น
การทำ X
จึงเป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน
การหาทางออกจากปฏิทรรศน์จึงต้องพิจารณาจากค่าความจริงของข้ออ้างแต่ละข้อว่ามีข้ออ้างใดที่ไม่อาจยอมรับได้
อันจะทำให้เราสามารถปฏิเสธข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์นี้ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ
การปฏิเสธปฏิทรรศน์นี้ด้วยการใช้สามัญสำนึกเพียงอย่างเดียว
เช่นการบอกว่า เราทุกคนต่างมีประสบการณ์เห็นสิ่งต่างๆ
เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น
ข้ออ้างเหตุผลของซีโนจึงต้องผิดอย่างไม่ต้องสงสัย
ย่อมเป็นการโต้แย้งที่ไม่เพียงพอ เพราะดังที่กล่าวไปแล้ว
ทัศนะแบบของปาร์เมนิเดสที่ซีโนต้องการปกป้องนั้น
กำลังบอกเราว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่มันปรากฏต่อเรา
เราอาจเห็นสิ่งต่างๆ เคลื่อนที่อยู่จริง
แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพมายา
และซีโนได้ทำการพิสูจน์เชิงตรรกะให้เห็นแล้วว่าสิ่งต่างๆ
นั้นไม่อาจมีการเคลื่อนที่ได้
การจะปฏิเสธข้อเสนอเช่นนี้จึงจำเป็นต้องชี้ให้เห็นให้ได้ว่าในข้ออ้างเหตุผลที่กล่าวมามีข้อใดที่เป็นปัญหา
อันจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องยอมรับข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์ที่ตามมา
อริสโตเติลปฏิเสธข้ออ้างที่ 3 โดยการชี้ให้เห็นว่า
เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ไม่ได้มีจำกัด
หากแต่เป็นสิ่งที่ไม่จำกัดเช่นเดียวกับการมีระยะครึ่งทางเป็นจำนวนที่ไม่จำกัด
ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการเคลื่อนที่ทุกครั้งต้องใช้เวลาที่ไม่จำกัด
แต่หมายความว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางสามารถแบ่งให้น้อยลงได้เรื่อยๆ
อย่างสัมพันธ์กับระยะทางที่สั้นลงเรื่อยๆ เช่น
ถ้าเราใช้เวลา 1/2 นาที สำหรับการก้าวข้ามระยะทางครึ่งแรก
เราก็จะใช้เวลา 1/4 นาทีสำหรับระยะทางครึ่งที่สอง และ
1/8 นาทีสำหรับระยะทางครึ่งถัดไป
และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ด้วยเหตุนี้
ในขณะที่ระยะทางสั้นลงเรื่อยๆ
เวลาที่จะใช้ในการก้าวข้ามระยะทางเหล่านั้นก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน
ในแง่นี้
เราไม่ได้มีเวลาที่จำกัดในการเคลื่อนที่ไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
ข้ออ้างที่ 3 จึงไม่จริง
การอนุมานไปสู่ข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์ของการอ้างเหตุผลข้างต้นจึงไม่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม
อริสโตเติลเห็นว่าทางออกข้างต้นยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญที่เกี่ยวโยงกับปฏิทรรศน์นี้
นั่นคือ
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำการกระทำที่มีจำนวนไม่จำกัดให้เสร็จสิ้นได้
แนวทางแก้ปัญหาที่อริสโตเติลเสนอ
วางอยู่บนฐานของการแยกแยะมโนทัศน์เรื่องความไม่จำกัดออกเป็น
“ความไม่จำกัดที่เกิดขึ้นจริง”
(actual infinite) และ “ความไม่จำกัดที่อาจเกิดขึ้นได้”
(potential infinite)
อริสโตเติลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำที่มีจำนวน
“ไม่จำกัดที่เกิดขึ้นจริง” ให้สำเร็จ
แต่การทำการกระทำที่มีไม่จำกัดในความหมายที่สองนั้น
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อริสโตเติลอธิบายว่า
ระยะทางหรือช่วงเวลาประกอบด้วยจุดต่างๆ (points)
หรือช่วงขณะต่างๆ (instants)
ที่มีจำนวนไม่จำกัดที่อาจเกิดขึ้นได้ จุดหรือช่วงขณะหนึ่งๆ
ถูกทำให้เกิดขึ้นจริงก็ด้วยการหยุดอยู่ที่ตรงนั้นหรือหยุด
ณ เวลานั้น
การก้าวข้ามระยะทางหนึ่งด้วยการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้จุดใดๆ
ระหว่างทางนั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมา ดังนั้น
การเคลื่อนที่ย่อมเป็นไปได้เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำการกระทำที่มี
“ไม่จำกัดที่เกิดขึ้นจริง”
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
อริสโตเติลได้ชี้ให้เห็นว่าการอ้างเหตุผลข้างต้นมีความบกพร่องในแง่ของการใช้คำที่คลุมเครือ
หากเราแยกแยะความหมายของความจำกัดให้ดีแล้ว
จะทำให้เราเข้าใจข้ออ้างที่ 2 และ 3
ในการอ้างเหตุผลข้างต้นได้เป็นสองทาง คือ
2a)
มีระยะครึ่งทางที่เกิดขึ้นจริงอยู่เป็นจำนวนที่ไม่จำกัด
3a)
เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำซึ่งมีจำนวนไม่จำกัดที่เกิดขึ้นจริงในเวลาที่จำกัด
2b)
มีระยะครึ่งทางที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เป็นจำนวนที่ไม่จำกัด
3b)
เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำซึ่งมีจำนวนไม่จำกัดที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาที่จำกัด
และจากการแยกแยะความไม่จำกัดตามที่อริสโตเติลเสนอ
ระยะทางที่แท้จริงสำหรับการเคลื่อนที่นั้น
ถูกทำให้เกิดขึ้นจริงก็ด้วยการที่เราเริ่มต้นเคลื่อนที่และหยุดเคลื่อนที่ในแต่ละครั้ง
ไม่ใช่ระยะทางที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการแบ่งในจินตนาการ
ข้ออ้าง 2a
จึงไม่เป็นจริง ส่วนข้ออ้าง 3b
ก็ไม่จริงเช่นกัน
(ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว) นี่จึงทำให้ข้ออ้างที่ 2 และ 3
ในการอ้างเหตุผลดังกล่าวไม่สามารถเป็นจริงพร้อมกันได้
(ไม่ว่าจะถูกตีความแบบใด)
และทำให้ไม่นำไปสู่ข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์ข้างต้น
3.2 อคิลลิส
(Achilles) กับเต่า
ปฏิทรรศน์เรื่องอคิลลิสของซีโนนี้ยังคงเป็นข้อโต้แย้งต่อความเป็นไปได้ของการเคลื่อนที่
ในที่นี้สมมติให้อคิลลิส
(Achilles) ที่วิ่งได้เร็วมาก
มาวิ่งแข่งกับเต่า
โดยอคิลลิสต่อให้เต่าออกนำหน้าไปก่อนระยะหนึ่ง
แต่สุดท้ายอคิลลิสจะไม่สามารถวิ่งไล่ทันเต่าได้
เพราะในการที่จะวิ่งไล่ทันเต่า เขาจะต้องไปถึงจุด A
ที่เต่าเริ่มออกวิ่งเสียก่อน
ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น เต่าก็ได้เคลื่อนที่ต่อไปอยู่ที่จุด
A1 แล้ว
จากนั้นเขาก็จะต้องไปให้ถึงจุด A1
ที่ซึ่งในขณะนั้น เต่าได้เคลื่อนที่ไปสู่จุดต่อไปแล้ว
และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป กล่าวโดยสรุปคือ
ในแต่ละช่วงขณะที่อคิลลิสวิ่งไปถึงจุดที่เต่าออกวิ่ง
เต่าจะไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว ดังนั้น
อคิลลิสจึงไม่มีทางวิ่งไล่ทันเต่าได้
ดูเหมือนว่าปฏิทรรศน์นี้จะเป็นการอ้างเหตุผลแบบเดียวกันกับปฏิทรรศน์ของการแบ่งเป็นสอง
หากแต่ต่างกันที่ไม่ได้มีการแบ่งสิ่งต่างๆ
ออกเป็นครึ่งหนึ่ง
โดยรูปแบบข้ออ้างเหตุผลของปฏิทรรศน์นี้จะเป็นดังนี้
1) ในการที่จะวิ่งไล่ทันเต่าได้
อคิลลิสต้องไปให้ถึงจุดที่เต่าเริ่มต้นออกตัวก่อนเสมอ
2) จุดเริ่มต้นที่เต่าออกตัวมีจำนวนที่ไม่จำกัด
3)
เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการกระทำที่มีจำนวนไม่จำกัดในเวลาที่จำกัด
4) ดังนั้น อคิลลิสไม่สามารถวิ่งไล่ทันเต่าได้
แม้ข้ออ้างเหตุผลข้างต้นจะไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปเดียวกับปฏิทรรศน์ของการแบ่งเป็นสองที่ว่าการเคลื่อนที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากธรรมชาติของการเคลื่อนที่ย่อมมีนัยว่า
สิ่งที่เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าจะเคลื่อนที่ไล่ทันสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ช้ากว่าในที่สุด
ข้อสรุปของซีโนข้างต้นที่ว่าอคิลลิสไม่สามารถวิ่งไล่ทันเต่าได้
จึงสามารถสรุปไปสู่การบอกว่าการเคลื่อนที่ไม่มีอยู่จริงได้เช่นเดียวกัน
และตามการวิเคราะห์ในแบบของอริสโตเติล
ซึ่งยังคงเป็นการตีความที่มีอิทธิพลอยู่จนปัจจุบัน
ปฏิทรรศน์อคิลลิสนี้จะเป็นการอ้างเหตุผลที่บกพร่อง
ด้วยเหตุผลเดียวกับที่กล่าวไว้ในปฏิทรรศน์ของการแบ่งเป็นสองข้างต้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในข้อเขียนของอริสโตเติลให้ดี
(Physics 239b14)
จะพบว่าการตีความข้างต้นไม่ถูกต้อง
อริสโตเติลกล่าวไว้เพียงว่า “ผู้ที่วิ่งช้ากว่าจะไม่มีทางถูกไล่ทันได้โดยผู้ที่วิ่งเร็วที่สุด
เพราะในลำดับแรกผู้ที่ไล่ตามจะต้องไปให้ถึงจุดที่ผู้ถูกตามจากไปเสียก่อน
อันทำให้ผู้ที่วิ่งช้ากว่านำหน้าอยู่เสมอ”
ทั้งนี้โดยไม่มีการกล่าวถึงจำนวนที่ไม่จำกัดของจุดเริ่มต้นออกตัว
หรือความเป็นไปไม่ได้ของการทำการกระทำที่มีจำนวนไม่จำกัดแต่อย่างใด
หัวใจสำคัญของปฏิทรรศน์จึงอยู่ที่คำว่า “เสมอ”
(always) และ “ไม่มีทาง”
(never)
ซึ่งจะนำไปสู่ข้ออ้างเหตุผลในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม
ดังนี้
1) อคิลลิสวิ่งไล่ทันเต่าเมื่อเขาไปถึงจุดที่เต่าอยู่
2) ในแต่ละครั้ง ก่อนที่จะวิ่งไล่ทันเต่าได้
อคิลลิสต้องไปให้ถึงจุดที่เต่าเริ่มต้นออกตัวก่อน
3) เมื่ออคิลลิสไปถึงจุดที่เต่าเริ่มต้นออกตัว
เต่าก็ได้เคลื่อนที่นำหน้าไปแล้ว
4) ดังนั้น เต่าจึงอยู่ในระยะที่นำหน้าอคิลลิสอยู่เสมอ
(จากข้ออ้าง 2 และ 3)
5) ดังนั้น อคิลลิสจึงไม่มีทางวิ่งไล่ทันเต่าได้
(จากข้ออ้าง 4)
รูปแบบการอ้างเหตุผลนี้แตกต่างไปจากการอ้างเหตุผลของการแบ่งเป็นสอง
และทำให้ข้อโต้แย้งเดิมไม่อาจนำมาใช้ได้
ในขณะที่ปฏิทรรศน์การแบ่งเป็นสองอยู่บนฐานของความเป็นไปไม่ได้ของการทำการกระทำที่มีจำนวนไม่จำกัด
ปัญหาในปฏิทรรศน์อคิลลิสจะอยู่ที่ความหมายของคำว่า
“เสมอ”
และ “ไม่มีทาง”
ทั้งนี้
การที่ปฏิทรรศน์อคิลลิสจะโต้แย้งเรื่องความมีอยู่ของการเคลื่อนที่ได้นั้น
ข้ออ้างที่ 5 ต้องมีความหมายที่เป็นการยืนยันว่า
ไม่มีช่วงเวลาใดเลย
ที่อคิลลิสจะไปถึงจุดที่เต่าอยู่ได้
(ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นความเข้าใจโดยทั่วไปต่อข้ออ้างดังกล่าวอยู่แล้ว)
และนั่นย่อมต้องหมายความว่าข้ออ้างที่ 4
จะต้องเป็นการยืนยันว่า ในทุกช่วงเวลา
เต่าจะนำหน้าอคิลลิสเสมอ (เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ 5
ในความหมายตามที่กล่าวมาได้)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าข้ออ้างที่ 4 ไม่จริง
เพราะในความเป็นจริง
สิ่งที่เคลื่อนที่เร็วกว่าย่อมต้องไล่ทันสิ่งที่เคลื่อนที่ช้ากว่าได้ในที่สุด
และเมื่อพิจารณาจากลำดับการอ้างเหตุผล ข้ออ้างที่ 2 และ 3
ก็ไม่ได้นำไปสู่ข้ออ้างที่ 4
ในความหมายที่ว่าเต่าจะนำหน้าอคิลลิสอยู่ในทุกช่วงเวลา
เพราะอันที่จริง ข้ออ้างที่ 2 และ 3 เพียงแต่บอกเราว่า
เต่าจะนำหน้าอคิลลิสอยู่ทุกช่วงขณะในช่วงเวลาที่กำลังวิ่งไล่กัน
เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเต่านำหน้าอคิลลิสอยู่ 9
กิโลเมตร และเต่าคลานได้ 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในขณะที่อคิลลิสวิ่งได้เร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นั่นเท่ากับว่าในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า
อคิลลิสจะวิ่งไล่ทันเต่าได้พอดี
ในระหว่างที่วิ่งไล่กันอยู่นั้น อคิลลิสจะวิ่งตามเต่า
และเต่าจะนำหน้าอยู่เสมอ แต่ขอบเขตของ
“เสมอ”
ในที่นี้อยู่ในขอบเขตของช่วงเวลาที่อคิลลิสยังวิ่งไล่ไม่ทันเต่าเท่านั้น
ไม่ใช่ “เสมอ”
ในแบบที่ไม่มีขอบเขตจำกัดอย่าง “ในทุกช่วงเวลา”
ที่ถูกใช้ในข้ออ้างที่ 4 และดังที่กล่าวไปแล้ว
ข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์จะได้มาก็ด้วยการที่ไม่มีเวลาใดเลยที่อคิลลิสจะวิ่งไล่ทันเต่าได้
แต่การอ้างเหตุผลข้างต้น โดยเฉพาะจากข้ออ้างที่ 2 และ 3
ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลที่นำมาสู่การสรุปเช่นนี้ได้
3.3 ลูกศรที่พุ่งออกไป
(Flying Arrow)
ซีโนเสนอปฏิทรรศน์ลูกศรเพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกศรที่กำลังพุ่งออกไปนั้นไม่มีการเคลื่อนที่
อริสโตเติลได้สรุปปฏิทรรศน์นี้ไว้ว่า
“ถ้าทุกสิ่งหยุดนิ่งเสมอเมื่อมันกินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเอง
และสิ่งที่กำลังเคลื่อนที่เคลื่อนที่อยู่ในแต่ละช่วงขณะเสมอ
ลูกศรที่เคลื่อนที่อยู่นั้นก็ย่อมจะไร้การเคลื่อนที่”
(Physics 239b5)
แต่ข้อความเพียงเท่านี้ยังไม่อาจนับเป็นการอ้างเหตุผลที่สมบูรณ์ได้
และการเติมเหตุผลให้สมบูรณ์อาจทำได้หลายรูปแบบ
ซึ่งรูปแบบหนึ่งเป็นดังนี้
1) ถ้าสิ่งใดๆ กินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเองแล้ว
สิ่งนั้นหยุดนิ่งอยู่กับที่
(เหตุผลจากข้อเขียนของอริสโตเติล)
2)
ลูกศรที่อยู่ในอากาศกินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเองในทุกๆ
ขณะที่มันพุ่งออกไป (เหตุผลที่เสริมเข้ามา)
3) ดังนั้น
ลูกศรจึงหยุดนิ่งอยู่กับที่ในแต่ละขณะที่มันพุ่งออกไป
(จากข้ออ้าง 1 และ 2)
4) สิ่งที่เคลื่อนที่ เคลื่อนที่ ณ ขณะหนึ่งๆ เสมอ
(เหตุผลจากข้อเขียนของอริสโตเติล)
5) ดังนั้น ในช่วงเวลาทั้งหมดที่ลูกศรพุ่งออกไป
ลูกศรนั้นหยุดนิ่งอยู่กับที่ (จากข้ออ้าง 3 และ 4)
อริสโตเติลโต้แย้งปฏิทรรศน์นี้ว่าเป็นผลมาจากการรับสมมติฐานที่ว่าเวลาประกอบขึ้นด้วยช่วงขณะต่างๆ
(instants)
หากไม่มีการรับสมมติฐานนี้แล้ว
ก็จะทำให้ไม่สามารถสรุปจากข้อ 4 ไปข้อ 5 ได้ นอกจากนี้
อริสโตเติลยังได้โต้แย้งประเด็นเรื่องการเคลื่อนที่และการหยุดนิ่งด้วย
กล่าวคือ การเคลื่อนที่และการหยุดนิ่งอยู่กับที่
เกิดขึ้นได้เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาหนึ่งๆ
ไม่ใช่จากช่วงขณะ การเคลื่อนเป็นเรื่องของการที่สิ่งๆ
หนึ่งอยู่ในที่ต่างกันในเวลาที่ต่างกัน
ไม่มีสิ่งใดที่เคลื่อนที่ได้ในชั่วขณะหนึ่งๆ
ในทำนองเดียวกัน
การหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็สามารถเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการปราศจากการเคลื่อนที่
นั่นคือ สิ่งๆ หนึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่ในช่วงเวลาหนึ่ง
(ไม่ใช่ในช่วงขณะ) เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้มีการเคลื่อนที่
ในแง่นี้ ข้ออ้างที่ 3 จึงไม่อาจยอมรับได้
ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาการตีความข้ออ้างที่ 1
ที่บอกว่าทุกสิ่งซึ่งกินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเอง
เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
การกล่าวเช่นนี้ย่อมเท่ากับเป็นการบอกว่าบางสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้กินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเอง
แต่การไม่กินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเองนี้ครอบคลุมช่วงเวลาใด
ระหว่าง ก) ในช่วงเวลาทั้งหมดของการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้น
หรือ ข) ในช่วงขณะหนึ่งๆ ในการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้น
หากเป็นความหมายแรก
ก็จะหมายความว่าในช่วงเวลาทั้งหมดที่ลูกศรพุ่งออกไป
มันจะอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันในเวลาที่ต่างกัน
ซึ่งนั่นทำให้ผลรวมของการกินพื้นที่ของลูกศรที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ
ทั้งหมด
มีขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดของตัวลูกศรที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งย่อย
ในทางกลับกัน ในระหว่างช่วงเวลาที่ลูกศรหยุดนิ่ง
ลูกศรนั้นก็จะกินพื้นที่เท่ากับขนาดของตัวมันเอง
การตีความแบบแรกนี้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย
แต่จะทำให้การอ้างเหตุผลข้างต้นไม่สมเหตุสมผลขึ้นมา
เพราะข้ออ้างที่ 1
นี้จะกลายเป็นเรื่องของการเคลื่อนที่และการหยุดนิ่งที่ครอบคลุมช่วงเวลาหนึ่งๆ
(ไม่ใช่เพียงช่วงขณะ
– instant)
อันทำให้ไม่สามารถอนุมานไปสู่ข้ออ้างที่ 3
ซึ่งพูดถึงพฤติกรรมของลูกศรในแต่ละช่วงขณะได้
ในขณะที่การตีความแบบ ข.
แม้ว่าจะทำให้อนุมานไปสู่ข้ออ้างที่ 3 ได้
เพราะอยู่ในขอบเขตของแต่ละช่วงขณะเหมือนกัน
แต่การตีความนี้ไม่อาจหาเหตุผลที่ดีมารองรับได้เลยว่าเหตุใดสิ่งต่างๆ
จึงเปลี่ยนแปลงขนาดในระหว่างการเคลื่อนที่ได้
(ที่แต่ละช่วงขณะ
ลูกศรจะมีขนาดใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าขนาดของตัวมันเองเมื่อหยุดนิ่ง)
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้ออ้างที่ 1
การอ้างเหตุผลข้างต้นจึงไม่อาจรับได้
เพระตามการตีความแบบแรก การอ้างเหตุผลนี้จะไม่สมเหตุสมผล
ในขณะที่การตีความแบบที่สอง (แม้ว่าจะสมเหตุสมผล)
แต่ข้ออ้างดังกล่าวกลับเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจยอมรับได้ตั้งแต่ต้น
3.4 ขบวนแถวที่เคลื่อนที่ (Moving
Rows)
อริสโตเติลเขียนถึงปฏิทรรศน์นี้ไว้ว่าเป็นข้ออ้างเหตุผลที่เกี่ยวกับสิ่งซึ่งมีขนาดเท่าๆ
กัน เคลื่อนที่ขนาบข้างไปกับสิ่งซึ่งมีขนาดเท่าๆ
กันในทิศทางที่ตรงกันข้าม
กลุ่มหนึ่งเคลื่อนมาจากปลายด้านหนึ่ง
ในขณะที่อีกกลุ่มเคลื่อนมาจากตรงกลาง
และต่างเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่เท่ากัน
อันนำไปสู่ข้อสรุปเชิงปฏิทรรศน์ของซีโนที่ว่า
“ครึ่งหนึ่งของเวลาที่ใช้เคลื่อนที่เท่ากับสองเท่าของเวลาครึ่งหนึ่งนั้น”
(half the time is equal to its double)
ในที่นี้ เราอาจลองสมมติให้มีวัตถุที่มีลักษณะเป็นขบวนแถว
ซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อยที่มีขนาดเท่ากัน และให้มีขบวนแถว 3
ขบวน คือ ขบวน
A ขบวน B และขบวน
C โดยที่ขบวนแถว A
หยุดนิ่งอยู่กับที่ ขบวนแถว B
เคลื่อนที่ไปทางขวาของ A
และขบวนแถว C
เคลื่อนที่ไปทางซ้ายของ A
ด้วยความเร็วที่เท่ากัน โดย ณ
ช่วงเวลาหนึ่งของการเคลื่อนที่นี้ ส่วนขวาสุดของขบวนแถว
B และส่วนซ้ายสุดของขบวนแถว
C
ได้เคลื่อนที่มาเรียงแนวตรงกันกับจุดกึ่งกลางของ A
ดังนี้
A A A
B B B
C C C
และโดยที่ทั้ง
B และ C
เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่เท่ากัน เมื่อส่วนขวาสุดของ
B เคลื่อนมาตรงกับส่วนขวาสุดของ
A แล้ว ส่วนซ้ายสุดของ C
ก็จะเคลื่อนมาตรงกับส่วนซ้ายสุดของ
A ดังนี้
A A A
B B B
C C C
ปฏิทรรศน์เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาถึงเวลาที่
B ใช้ในการเคลื่อนที่ผ่าน A
และ C
ภายในช่วงเวลาเดียวกัน
นั่นคือ สมมติให้การที่ส่วนขวาสุดของ B
(จากที่อยู่ตรงกลางของ A)
เคลื่อนที่ไปจนถึงส่วนขวาสุดของ A
ใช้เวลา T หน่วย
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ส่วนขวาสุดของ
B ก็ได้เคลื่อนผ่านขบวน C
ซึ่งมีความยาวเป็น 2 เท่าของที่ B
เคลื่อนผ่าน A
(เพราะจากแผนภาพข้างต้น ส่วนขวาสุดของ B
เคลื่อนมาเจอ A
อีก 1 ส่วน แต่เคลื่อนมาเจอ C อีก
2 ส่วน) ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาเป็น 2
เท่าของการที่ B เคลื่อนผ่าน
A (คือเท่ากับ 2T
หน่วย) แต่สถานการณ์ทั้งหมดนี้
เริ่มต้นและจบลงพร้อมัน
จึงทำให้เกิดข้อสรุปที่เป็นปฏิทรรศน์ว่า เวลา T
หน่วย เท่ากับเวลา 2T
หน่วย
ความบกพร่องของการอ้างเหตุผลนี้
มาจากการสับสนในเรื่องความเร็วโดยสัมพัทธ์ของวัตถุ
กล่าวคือ ถ้าแถว
B เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว S
ไปทางขวาเมื่อเทียบกับแถว A
และถ้าแถว C
เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว S
ไปทางซ้ายเมื่อเทียบกับแถว A แล้ว
นั่นแสดงว่า แถว C
กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว S+S = 2S
เมื่อเทียบกับแถว B
ด้วยเหตุนี้ ระยะเวลา (ซึ่งคือ
ระยะทางหารด้วยความเร็ว) ของการที่ส่วนขวาสุดของ B
เคลื่อนไปตรงกับส่วนขวาสุดของ A
จึงเป็น T/S
และระยะเวลาของการที่ส่วนขวาสุดของ B
เคลื่อนไปตรงกับส่วนขวาสุดของ C
จึงเป็น 2T/2S
นั่นคือ T/S = 2T/2S
ซึ่งไม่เป็นปฏิทรรศน์แต่ประการใด
4. สรุป
ปฏิทรรศน์ของซีโนได้รับความสนใจในทางปรัชญาเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการพัฒนามโนทัศน์สมัยใหม่ที่เกี่ยวกับความเป็นอนันต์
โดยเฉพาะจากงานของเบอร์ทรันด์ รัสเซล (Bertrand Russull)
และงานของจอร์จ แคนเทอร์ (Georg Cantor)
เกี่ยวกับทฤษฎีจำนวนเชิงอนันต์ (theory of
transfinite numbers)
และเป็นอีกครั้งที่มีการใช้หลักปรัชญาร่วมสมัยมาแก้ปฏิทรรศน์
ดังเช่นที่อริสโตเติลได้ทำในสมัยกรีก
รวมถึงข้อท้าทายที่ปฏิทรรศน์ของซีโนมีต่อทัศนะของคนทั่วไปเกี่ยวกับอวกาศ
เวลา และการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะในปัญหาการแบ่งเป็นสอง
อคิลลิสกับเต่า และลูกศรที่พุ่งออกไป
นี่จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการของการถกเถียงปฏิทรรศน์ของซีโนซึ่งก้าวข้ามไปจากสิ่งที่ซีโนเองต้องการเสนอ
นอกจากนี้ ความสำคัญของปฏิทรรศน์ของซีโนอีกประการหนึ่งคือ
การใช้วิธีการนิรนัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของการใช้แต่เพียงความเชื่อที่คุ้นเคยที่ปราศจากการตรวจสอบมายืนยันทัศนะของตน
คุณูปการเหล่านี้ย่อมน่าจะมีน้ำหนักสำคัญที่ช่วยชดเชยความผิดพลาดของข้ออ้างเหตุผลที่มีอยู่ในปฏิทรรศน์ของซีโนได้
ซึ่งส่วนมากจะพบความผิดพลาดนั้นได้ก็เมื่อมีการใช้มโนทัศน์
การแยกแยะ และเทคนิคการพิสูจน์
ซึ่งยังไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาในยุคสมัยของซีโนนั้น
พรเทพ สหชัยรุ่งเรือง (ผู้เรียบเรียง)
เรียบเรียงจาก
· |
Huggett, Nick. 2004. Zeno's Paradoxes. In Edward
N. Zalta (ed.).
The Stanford Encyclopedia of Philosophy.
<URL=http://plato.stanford.edu/archives/win2006/entries/paradox-zeno/>. |
· |
Makin, Stephen. 1998. Zeno of
Elea. In Edward Craige (ed.).
Routledge Encyclopedia of
Philosophy. CD-Rom
Version 1.0. |
· |
McKirahan, Richard. 2006. Zeno of Elea. In
Donald M. Bochert (ed.). Encyclopedia of
Philosophy. Second edition. New York:
Macmillan, Vol. 9: 871-879. |
· |
Aristotle. 1984. Physics. W. D.
Ross. (trans.). In J. Barnes (ed.). The
Complete Works of Aristotle. Princeton:
Princeton University Press.
(เนื้อหาส่วนใหญ่ใน
Book VI
เป็นการอธิบายและโต้แย้งปฏิทรรศน์ต่างๆ ของซีโน) |
· |
Palmer, John. 2008. Zeno of
Elea. Edward N. Zalta (ed.).
The Stanford Encyclopedia of Philosophy.
<URL=http://plato.stanford.edu/archives/spr2008/entries/zeno-elea/>.
(เป็นการอธิบายและตีความปฏิทรรศน์ของซีโนจากบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของซีโนเอง
ซึ่งต่างจากงานอื่นๆ
ที่มักอธิบายปฏิทรรศน์ของซีโนจากข้อโต้ตอบของนักปรัชญา
นักคณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์) |
· |
Plato. 1997. Parmenides. M. L. Gill and P. Ryan
(trans.) In
Plato: Complete Works. J. M. Cooper
(ed.). Indianapolis/Cambridge: Hackett Publishing
Co. Inc.
(มีบทสนทนาระหว่างซีโนกับโสเครตีส)
|
· |
Russell, Bertrand. 1919. Introduction to
Mathematical Philosophy. London: George
Allen and Unwin Ltd.
(อธิบายถึงความคิดทางคณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการเสนอทางออกต่อปัญหาของซีโนในข้อถกเถียงสมัยใหม่) |
· |
Salmon, W. C. 2001. Zeno’s Paradoxes.
Second edition. Indianapolis: Hackett Publishing
Co. Inc. (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี
1970
เป็นงานที่เหมาะแก่การเริ่มต้นค้นคว้าปฏิทรรศน์ของซีโน
เพราะได้รวบรวมบทความทางปรัชญาที่สำคัญในช่วงก่อนปี
1970
โดยเฉพาะข้ออ้างเหตุผลที่โต้แย้งเรื่องการเคลื่อนที่) |
|