ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด: 16/04/54

 

จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม
Deontological Ethics

 

1. ความหมายของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม
2. จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของ อิมมานูเอล ค้านต์ (Immanuel Kant)
3. การอธิบายทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัย
4. ปัญหาและข้อโต้แย้งที่สำคัญ

เรียบเรียงจาก
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
คำที่เกี่ยวข้อง

จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม (deontological ethics) คือ ทฤษฎีจริยศาสตร์ที่อธิบายว่าการตัดสินความถูกต้องของการกระทำไม่ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำ แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะบางอย่างของตัวการกระทำเอง  พบได้ว่าคนนิยมเรียกว่า “จริยศาสตร์เชิงหน้าที่” (duty ethics) โดยพิจารณาในแง่มุมที่ว่า การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยธรรมอันเป็นสิ่งที่สมควรต้องกระทำนั้นคือการกระทำที่เป็นหน้าที่ (duty) ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังมิให้สับสนกับ “จริยศาสตร์เชิงหน้าที่” ในอีกความหมายที่บ่งถึงกลุ่มทฤษฎีจริยศาสตร์ที่ “จริยศาสตร์เชิงคุณธรรม” กำลังท้าทายในปัจจุบัน นักจริยศาสตร์คนสำคัญที่เสนอทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม ได้แก่ อิมมานูเอล ค้านต์ (Immanuel Kant)  ดับบลิว ดี รอส (W. D. Ross) และโธมัส อี. ฮิลล์ จูเนียร์ (Thomas E. Hill Jr.) เป็นต้น  ในที่นี้จะนำเสนอคำอธิบายจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมดังที่ปรากฏอยู่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของอิมมานูเอล ค้านต์ และการอธิบายจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมในทัศนะของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัย รวมทั้งจะนำเสนอปัญหาและข้อโต้แย้งที่สำคัญของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมในตอนท้าย

 

1.ความหมายของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม

คำว่า “deontology” ที่ปรากฏในงานเขียนของ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) มีความหมายกว้างๆ เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องหน้าที่  คำว่า “deontology” มีที่มาจากคำในภาษากรีก 2 คำคือ คำว่า “deon (หรือ dei) ที่หมายถึงหน้าที่ (duty) หรือสิ่งที่ต้องกระทำ  และคำว่า “logos” หมายถึงปัญญาหรือความรู้  ดังนั้นคำว่า “deontology” จึงหมายถึง ความรู้หรือปัญญาเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่  ภายหลังคำๆ นี้ใช้ในความหมายเฉพาะเพื่อบ่งถึงทฤษฎีจริยศาสตร์หรือกฎจริยธรรมที่มีรากฐานอยู่บนมโนทัศน์เรื่อง “หน้าที่” (Richardson,  2006: 713)  ความหมายของคำว่าหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะหมายถึง การกระทำที่ควรกระทำ มีลักษณะจำเป็น หรือต้องกระทำโดยปราศจากเงื่อนไข (Richardson, 2006: 713)  เช่น การอธิบายถึงการกระทำที่ถูกหรือผิดว่ามีลักษณะเป็นกฎคำสั่งแบบเด็ดขาด (categorical imperative) ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์ เป็นต้น

การอธิบายความหมายของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมอีกวิธีหนึ่งคือ การอธิบายโดยเปรียบเทียบกับทัศนะแบบที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ  (consequentialism) เช่น ทฤษฎีประโยชน์นิยม (utilitarianism) เป็นต้น เนื่องจากจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมเป็นแนวคิดที่ปฎิเสธทัศนะแบบที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ   ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างทั้ง 2 ทฤษฎีคือ จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมปฏิเสธการตัดสินความถูกต้องของการกระทำโดยพิจารณาที่ผลของการกระทำ ทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะพิจารณาความถูกต้องจากลักษณะบางอย่างของตัวการกระทำเอง เช่น ทฤษฎีอันทรงอิทธิพลของค้านต์เห็นว่าความถูกต้องของการกระทำจะต้องพิจารณาจากเจตนาของการกระทำ  นั่นคือ คุณค่าของการกระทำจะไม่ขึ้นกับสิ่งอื่น หรือไม่มีเจตนาจะกระทำเพื่อผลลัพธ์ใดๆ  คุณค่าทางจริยธรรมตามทฤษฎีนี้จึงไม่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ บุคคล สถานการณ์ หรือไม่สามารถนำเอาเงื่อนไขของแต่ละบุคคลมาใช้ในการตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมได้  จึงกล่าวได้ว่าจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของค้านต์ต้องการให้หลักการตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมมีลักษณะเป็นภววิสัย (objective) หรือมีการตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมแยกออกจากผู้กระทำ โดยการตัดสินคุณค่าของการกระทำจะอาศัยกฎจริยธรรมที่เป็นกฎสากล ซึ่งหมายถึงกฎจริยธรรมเป็นกฎที่สามารถใช้ได้กับมนุษย์ทุกคนในทุกสถานการณ์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลหรือสถานการณ์นั้นๆ แต่อย่างใด  ตัวอย่างเช่น หากการกล่าวเท็จเป็นสิ่งที่ผิดกฎจริยธรรมในรูปแบบนี้  การกล่าวเท็จก็จะเป็นการกระทำที่ผิดเสมอไม่ว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำหรือกระทำในสถานการณ์ใด


2. ทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของ อิมมานูเอล ค้านต์ (Immanuel Kant)

ค้านต์อธิบายกฎจริยธรรมในทฤษฎีจริยศาสตร์ของเขาโดยใช้มโนทัศน์ “หน้าที่” เป็นแกนหลัก เห็นได้จากการที่เขามักจะกล่าวถึงกฎจริยธรรมโดยใช้คำว่า หน้าที่” (duty) แทนเสมอ  ค้านต์กล่าวว่า ฉะนั้นหลักข้อแรกของจริยธรรมก็คือการกระทำที่จะมีค่าทางจริยธรรมจะต้องเกิดจากหน้าที่ หลักข้อสองก็คือค่าทางจริยธรรมของการกระทำที่เกิดจากหน้าที่นั้นมิได้อยู่ที่จุดหมายที่ต้องการจะบรรลุ แต่อยู่ในคติ (maxim) ที่ก่อให้เกิดการกระทำนั้น (อ้างถึงใน เนื่องน้อย บุณยเนตร, 2539: 19-20)  แนวคิดทางจริยศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของค้านต์ปรากฏใน Groundwork of the Metaphysic of Morals (1785) Critique of Practical Reason (1788) และ Metaphysics of Morals (1797)  ในส่วนนี้จะกล่าวถึงลักษณะของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมที่ปรากฏอยู่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์ และลักษณะที่สำคัญอื่นๆ ของกฎจริยธรรมของค้านต์ที่สำคัญต่อการอธิบายความหมายของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม

ค้านต์อธิบายว่า การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยธรรมหรือการกระทำที่ถูกต้องเป็นการกระทำที่ทำด้วย เจตนาดี (good will)  เขากล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าใจทุกอย่างในโลกนี้ และแม้กระทั่งนอกโลก เป็นความดีโดยปราศจากคุณสมบัติอื่นใดนอกจากเจตนาดี (อ้างถึงใน เนื่องน้อย บุณยเนตร, 2539: 19-20)  คุณธรรมใดๆ ก็ตาม เช่น สติปัญญา ไหวพริบ ความกล้าหาญ และความเด็ดเดี่ยว อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีได้หากไม่ได้มีเจตนาดีประกอบ  (Kant, 1964: 59-68) ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ หากเป็นการตัดสินใจเลือกกระทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และผู้กระทำต้องการทำสิ่งนั้นเพราะมีเจตนาที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้การกระทำนั้นจะล้มเหลว (เช่น ผู้ที่ลงมือกระทำว่ายน้ำได้ไม่ดีพอจึงทำให้ช่วยคนๆ นั้นไม่ได้) ความล้มเหลวดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของการกระทำลดลงแต่อย่างใด  ในทางตรงข้าม หากเขากระโดดน้ำลงไปช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำโดยมีเจตนาที่จะได้รับผลตอบแทนจากการช่วยคนผู้นั้น เช่น เงินรางวัล หรือแม้แต่คำชมเชย การกระทำนั้นก็จะไม่มีคุณค่าทางจริยธรรม  เจตนาดีจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการกระทำตามหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์

ค้านต์อธิบายว่าเจตนาดีหมายถึงการกระทำที่ตัดสินใจเลือกกระทำตามเหตุผล ถ้าเป็นการเลือกกระทำตามแรงโน้ม (inclination) เช่น ความปรารถนาให้ได้มาซึ่งความสุข หรือเป็นอารมณ์และความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความรู้สึกรัก ความรู้สึกเกลียด การกระทำนั้นจะไม่มีคุณค่าทางจริยธรรม  ค้านต์จำแนกกฎเป็น 2 ชนิด คือ (1) กฎคำสั่งแบบเด็ดขาด (categorical imperative) คือ กฎที่สั่งให้กระทำโดยปราศจากเงื่อนไข กฎเช่นนี้ก็คือกฎจริยธรรมนั่นเอง เช่น “จงอย่าพูดเท็จ” ซึ่งต้องกระทำตามแม้ว่าการพูดเท็จจะทำให้ได้ประโยชน์ก็ตาม (2) กฎคำสั่งแบบเงื่อนไข (hypothetical imperative) คือกฎทีสั่งให้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าต้องการเรียนเก่ง จงขยัน” ค้านต์เห็นว่าการกระทำที่มีคุณค่าทางจริยธรรมคือการกระทำตามคำสั่งแบบเด็ดขาด  รูปแบบที่รู้จักกันดีของคำสั่งเด็ดขาดมี 2 ลักษณะ ได้แก่

() จงกระทำในสิ่งที่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้  เขาอธิบายว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำตามคติ (maxim) ที่ผู้กระทำสามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ (universalizable) นั่นคือเป็นการกระทำที่ทุกคนสามารถปรารถนาอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือกกระทำได้ ตัวอย่างเช่น การขอยืมเงินผู้อื่นโดยให้สัญญาว่าเราจะคืนเงินที่ยืมให้เขา โดยผู้ที่ยืมรู้ดีว่าไม่สามารถคืนเงินนั้นได้  หากพิจารณาการกระทำดังกล่าวตามหลักการของค้านต์ การผิดสัญญาเป็นการกระทำที่ไม่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทุกคนไม่สามารถจงใจอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือกกระทำได้ หากการกระทำนี้เป็นกฎสากล คือทุกคนเลือกที่จะผิดสัญญา การทำสัญญาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากจะไม่มีใครยอมทำสัญญากับใคร เพราะทุกคนจะตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ว่าหากทำสัญญาก็จะถูกละเมิดสัญญา เหมือนกับที่ตนเองตั้งใจจะผิดสัญญา  การกระทำดังกล่าวจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในตัวเองขึ้น  ดังนั้น การจงใจผิดสัญญาจึงเป็นการกระทำที่ผู้กระทำต้องการให้ตนเองทำได้เพียงคนเดียว หรือต้องการให้ตนเป็นผู้ได้รับการยกเว้นจากการทำตามคำสั่งทางจริยธรรม  เป้าหมายของค้านต์ในการยืนยันหลักการข้อนี้คือเพื่อหลีกเลี่ยงอคติในการตัดสินเลือกกระทำ และเพื่อที่กฎจริยธรรมจะมีลักษณะเป็นกฎสากล

() จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นจุดหมายในตัวเอง และไม่ใช่เป็นวิถีไปสู่เป้าหมายใดๆ  กฎคำสั่งในข้อแรกกำหนดหลักการพื้นฐานของจริยศาสตร์ของค้านต์ ส่วนกฎข้อที่สองนี้เป็นหลักการในเชิงปฏิบัติที่กำหนดให้ปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่มีเกียรติศักดิ์ศรี และมีคุณค่าในตัวเอง ต่างจากวัตถุสิ่งของต่างๆ และไม่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายใดๆ  การปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะผู้ที่มีคุณค่าในตัวเองในที่นี้รวมถึงการที่ตัวผู้กระทำเองมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะจุดหมายด้วย  ค้านต์อธิบายว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเนื่องจากมนุษย์มีเหตุผลในการตัดสินเลือกกระทำและมีเป้าหมายเป็นของตนเอง   

อลัน โดเนแกน (Alan Donagan) อธิบายถึงความสำคัญของคำสั่งเด็ดขาดในรูปแบบที่ 2 ว่าช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบที่ตามมาจากการยอมรับจริยศาสตร์ที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ กล่าวคือ สำหรับจริยศาสตร์ที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ การลงมือฆ่าคนบริสุทธิ์ 1 คนเพื่อความอยู่รอดของคนอีก 100 คนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (Davis, 1971: 17) หรือสำหรับจริยศาสตร์ที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ ยอมให้ใช้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มาเป็นเงื่อนไขในการทำร้ายและรังแกคนส่วนน้อยได้ ในทางตรงข้าม สิ่งเหล่านี้ถือว่าผิดจริยธรรมหากพิจารณาว่ามนุษย์ไม่ใช่เป็นวิถีไปสู่เป้าหมายของใคร หากแต่เป็นจุดหมายในตัวเองที่ต้องเคารพ

จากลักษณะต่างๆ ของกฎจริยธรรมของค้านต์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้มีการอธิบายว่ากฎจริยธรรมของค้านต์มีลักษณะเป็นกฎสัมบูรณ์ (absolute law) คือ เป็นกฎไม่ผันแปรหรือขึ้นกับสิ่งอื่น เช่น การตัดสินว่าการกล่าวเท็จเป็นสิ่งที่ไม่ดีในทุกสถานการณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บางคนเห็นว่าความไม่ยืดหยุ่นนี้อาจมีปัญหาด้านการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง ตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องการทำแท้ง ซึ่งทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์อาจเห็นว่าเป็นการฆ่าคนบริสุทธิ์และเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎ (ก) นั่นคือ ไม่สามารถทำให้คติที่ว่า จงฆ่าผู้บริสุทธิ์ เป็นกฎสากลได้ หรือไม่สามารถยอมรับให้ผู้ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันกระทำได้เหมือนกันอย่างเป็นสากล  และเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎ (ข) นั่นคือ ผู้เป็นแม่ใช้ชีวิตของทารกในครรภ์เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายในการรักษาชีวิตของตนเอง หรือเพื่อผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ของตัวเอง  แต่สาเหตุของการทำแท้งก็อาจเกิดได้จากสถานการณ์ที่หลากหลาย อาทิเช่น การทำแท้งเนื่องจากถูกข่มขืน หรือการทำแท้งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ  หากตัดสินการทำแท้งว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในทุกกรณีก็อาจทำให้ทฤษฎี ตลอดจนคุณค่าด้านจริยศาสตร์แบบของค้านต์ก็ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำแท้งได้

ในกรณีตัวอย่างอื่นๆ เช่น การฆ่าผู้บริสุทธิ์หนึ่งคนเพื่อช่วยชีวิตของคนทั้งโลก ทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์ก็ไม่สามารถยอมให้ฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยพิจารณาจากผลของการกระทำได้  หรือในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างหน้าที่สองหน้าที่ เช่นในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการกระทำที่ถูกต้องตามทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมสองการกระทำ หรือที่เรียกว่าเป็นปฎิทรรศน์ของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม  (paradox of deontology) ตัวอย่างเช่น มีรถบรรทุกคันหนึ่งเบรกไม่ทำงาน คนขับรถต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการบังคับรถบรรทุกไปชนคนหนึ่งคน หรือหักหลบคนๆ นั้นแต่จะมีผลทำให้คนอีก 5 คนเสียชีวิตแทน ในกรณีนี้ การจะตัดสินว่าทางเลือกใดถูกต้อง ต้องกระทำโดยไม่นำผลของการกระทำมาพิจารณา และจะต้องคำนึงว่ามีหน้าที่ปฏิบัติกับมนุษย์เสมือนเป็นจุดหมายในตนเอง เห็นได้ว่ากรณีเหล่านี้ทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์จะไม่มีคำตอบเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางจริยธรรมได้ 

ดับเบิลยู. ดี. รอส พยายามอธิบายวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากการอธิบายหน้าที่ในลักษณะที่เป็นกฎสัมบูรณ์ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของค้านต์ โดยการจำแนกหน้าที่เป็นสองชนิด คือ หน้าที่ชั้นต้น (prima facie duty) กับหน้าที่แท้จริง (actual duty) หน้าที่ชั้นต้นหมายถึงหลักการทั่วไปที่ใช้ชี้นำการกระทำ โดยปกติหากไม่มีความขัดแย้งกับหน้าที่ชั้นต้นอื่นๆ ก็จะกลายเป็นหน้าที่แท้จริง แต่หากเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะที่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองหน้าที่  เช่น กรณีรถบรรทุกเบรกแตกข้างต้น รอสเสนอว่าหน้าที่ที่มีความสำคัญมากกว่าคือหน้าที่แท้จริง ส่วนหน้าที่ชั้นต้นอีกหน้าที่หนึ่งถือว่าไม่ใช่หน้าที่แท้จริงในสถานการณ์นี้

รอสเสนอว่าหน้าที่ในชั้นต้นที่ผู้กระทำควรยึดถือมีอยู่ 7 ข้อ คือ (1) ความซื่อสัตย์ (fidelity) (2) การชดเชยความผิด (reparation) (3) การรู้คุณ (gratitude) (4) ความเที่ยงธรรม (justice) (5) การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น (beneficence) (6) การพัฒนาตนเอง (self-improvement) (7) การไม่ทำร้ายผู้อื่น (nonmalficence)โดยไม่ได้กำหนดให้หน้าที่ใดเป็นหน้าที่สูงสุด  ข้อเสนอของรอสถูกโจมตีว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม เนื่องจากจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมอธิบายว่าหน้าที่มีลักษณะเป็นกฎสัมบูรณ์มิอาจยกเว้นได้ แต่รอสอธิบายว่าบางกรณียกเว้นการทำหน้าที่ชั้นต้นได้


3. ทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัย

นอกจากทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของค้านต์ที่ทรงอิทธิพลแล้ว นักจริยศาสตร์ร่วมสมัยได้พัฒนา อธิบาย ตีความ และขยายความลักษณะของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินตามรอส คือ พยายามหลีกเลี่ยงลักษณะของกฎสัมบูรณ์ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการอธิบายกฎจริยธรรมในลักษณะไม่ยืดหยุ่น ในส่วนนี้จะนำเสนอการอธิบายจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัยในบางทัศนะ

นักจริยศาสตร์ร่วมสมัยส่วนหนึ่งอธิบายกฎจริยธรรมแบบจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมว่าเป็นกฎกำหนดล่วงหน้า (prerogatives) เพื่อใช้ควบคุมระงับการกระทำผิดก่อนที่บุคคลจะกระทำ  กฎเหล่านี้มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือบรรทัดฐาน (norms) ต่างๆ ฟรานเซส แคมม์ (Frances Kamm) อธิบายว่ากฎกำหนดล่วงหน้าประกอบด้วยสองลักษณะ คือ (1) การกระทำที่ไม่ได้กระทำเพื่อให้เกิดผลดีสูงสุด และ (2) การกระทำที่เลือกกระทำบนพื้นฐานของเหตุผลที่มีลักษณะเป็นสากล  แคมม์อธิบายว่ากฎกำหนดล่วงหน้าเป็นการคาดการณ์ถึงการกระทำที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น มีไว้เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกกระทำตามกฎจริยธรรม (Kamm, 2000: 207)  นักจริยศาสตร์ร่วมสมัยจึงอธิบายกฎจริยธรรมของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมในลักษณะของการเป็นกฎที่ใช้ควบคุม (constrain) การกระทำ หรือมีลักษณะที่เป็นข้อห้าม (prohibition) ไม่ให้กระทำสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องขณะที่การกระทำนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น มากกว่าเป็นกฎที่กำหนดให้กระทำสิ่งใด

แนนซี แอน เดวิส (Nancy Ann Davis) นักจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมร่วมสมัยอีกท่านหนึ่งสรุปว่ากฎคำสั่งของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ (Davis, 1971: 208) คือ

(1) กฎคำสั่งของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม เป็นกฎเชิงปฎิเสธ (negatively formulated) หรือเป็นการปรับให้กฎจริยธรรมมีลักษณะเชิงปฏิเสธมากกว่าเชิงยืนยัน (positively formulated)  ตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนกฎคำสั่งว่า จงกล่าวความจริง เป็น จงอย่ากล่าวเท็จ หรือ จงช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็น จงอย่าทำร้ายผู้บริสุทธิ์  การอธิบายกฎจริยธรรมเป็นกฎเชิงปฏิเสธมีนัยที่สำคัญมาก เนื่องจากทำให้กฎจริยธรรมมีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากพิจารณากฎจริยธรรมที่ว่า จงกล่าวความจริง กับ จงอย่ากล่าวเท็จ จะพบว่าการยึดกฎสองข้อนี้มีผลต่อการตัดสินเลือกกระทำที่แตกต่างกัน  ภายใต้สถานการณ์บางประการ เช่น เมื่อแพทย์ถูกคนไข้โรคหัวใจที่มีอาการหนักถามถึงอาการของตนเอง หากแพทย์ยึดกฎจริยธรรมในลักษณะยืนยัน เช่น จงพูดความจริง อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้เนื่องจากความกลัวหรือตกใจ แต่หากยึดกฎในเชิงปฎิเสธก็อาจจะให้ผลที่แตกต่างออกไป เช่น แพทย์อาจปฎิเสธหรือเลี่ยงที่จะตอบคำถามผู้ป่วยเพื่อจะไม่ต้องกล่าวเท็จได้ เป็นต้น  ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งคือ การปล่อยให้ตาย (letting die) ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ยอมรับได้หากมองกฎจริยธรรมเป็นกฎเชิงปฏิเสธ (จงอย่าฆ่าผู้บริสุทธิ์) แทนที่จะเป็นกฎเชิงยืนยัน (“จงรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์) (Kamm, 2000: 208)  การมองกฎจริยธรรมในเชิงปฏิเสธจึงส่งผลให้การกระทำที่เป็นไปตามกฎจริยธรรมหรือการกระทำที่ถูกต้องแบบจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมมีลักษณะยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น

(2) นอกจากกฎจริยธรรมแบบจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะมีลักษณะในเชิงปฎิเสธแล้ว เดวิสอธิบายเพิ่มเติมถึงกฎจริยธรรมแบบจริยศาสตร์เชิงหน้าที่ว่ามีขอบเขตแคบและจำกัด (narrowly framed and bounded) กล่าวคือจำกัดเฉพาะการควบคุมทางจริยธรรมที่มีเฉพาะผลต่อพันธกรณีทางจริยธรรมในเชิงสังคม อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อผู้อื่นในวงกว้าง หรือเฉพาะการกระทำที่เป็นข้อห้ามที่เชื่อมโยงกับลักษณะของกฎคำสั่งในข้ออื่นๆ เช่น การห้ามกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องในข้อ (1) ซึ่งจำกัดเฉพาะกฎในเชิงปฏิเสธ หรือป้องกันการมีความจงใจที่มุ่งหวังผลของการกระทำ หรือเป็นความจงใจที่จะกระทำผิดกฎ (ดูข้อต่อไป) เป็นต้น  ขอบเขตเฉพาะในที่นี้จึงหมายถึงการห้ามไม่ให้ตัดสินเลือกกระทำการกระทำ เช่น การไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ การไม่กล่าวเท็จ มากกว่าจะเป็นกฎคำสั่งเพื่อกำหนดให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

(3) กฎคำสั่งของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะระบุถึงความจงใจในขอบเขตแคบๆ (narrowly directed)  เดวิสอธิบายว่า กฎจริยธรรมของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมกำหนดให้ผู้กระทำตั้งใจที่จะไม่กระทำสิ่งที่ผิด มากกว่าที่จะกำหนดให้ครอบคลุมว่ามีสิ่งใดที่ต้องเลือกกระทำ ในกรณีที่เป็นปัญหา เช่น การไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ 1 คน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์อีก 5 คนต้องเสียชีวิตแทนนั้น การทำตามกฎในลักษณะนี้จะหมายความว่าผู้กระทำควรตัดสินเลือกที่จะไม่ทำร้ายผู้ใด ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลใดๆ ก็ตาม  กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าการกระทำตามกฎแบบจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะระบุถึงความจงใจที่จะไม่มุ่งหวังผลของการกระทำ และความจงใจที่จะไม่กระทำผิดกฎจริยธรรมเท่านั้น

ลักษณะในข้อที่ (3) นี้ เป็นการระบุถึงความจงใจที่แตกต่างจากการอธิบายของแนวคิดแบบที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ  กล่าวคือ ทฤษฎีที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ เน้นการความจงใจในแง่ของการหวังผลที่จะตามมาจากการกระทำ แต่ความจงใจในความหมายของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมเป็นความจงใจที่จะไม่กระทำผิดกฎจริยธรรม และไม่มุ่งหวังถึงผลของการกระทำ  จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมอธิบายว่ามีความแตกต่างระหว่างการกล่าวเท็จกับการไม่กล่าวความจริง  นั่นคือ การกล่าวเท็จเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยความจงใจในการกระทำผิดกฎจริยธรรม แต่การไม่กล่าวความจริงผู้ที่กระทำไม่ได้มีความจงใจที่จะละเมิดกฎจริยธรรม  หรือในกรณีการเลือกฆ่าคนบริสุทธิ์ 1 คน เพื่อช่วยชีวิตคนอีก 5 คน ย่อมมีความจงใจที่แตกต่างจากการเลือกไม่ฆ่าคนบริสุทธิ์แล้วมีผลทำให้อีก 5 คนเสียชีวิต เนื่องจากผู้ที่กระทำไม่มีความจงใจที่จะทำผิดกฎจริยธรรม เดวิสอธิบายว่า การกระทำนี้ตัดสินว่าเป็นเพียงความล้มเหลวที่จะรักษาชีวิตคนอีก 5 คนเท่านั้น


4. ปัญหาและข้อโต้แย้งที่สำคัญ

การอธิบายลักษณะของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมในลักษณะของกฎสัมบูรณ์ หรือเป็นหน้าที่สัมบูรณ์ มีข้อโต้แย้งโดยทั่วไปว่าทำให้การอธิบายลักษณะของการกระทำที่ถูกต้องเป็นไปได้ยาก และเป็นกฎที่มีลักษณะแข็งเกินไปเมื่อนำไปตัดสินในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว โดยเฉพาะลักษณะจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมของค้านต์  จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจึงมีปัญหาและข้อโต้แย้งหลักที่สำคัญสองประการ คือ (1) ปัญหาการอธิบายถึงชนิดของการกระทำที่ผิด  และ (2) ปัญหาการอธิบายการตัดสินโดยใช้กฎจริยธรรมที่มีลักษณะสัมบูรณ์  การอธิบายลักษณะจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมโดยนักจริยศาสตร์ร่วมสมัยในหัวข้อที่ผ่านมา  เป็นความพยายามบางส่วนในการแก้ปัญหาสองข้อนี้ของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม หรือเป็นการปรับให้ลักษณะของกฎคำสั่งมีลักษณะแคบลง ซึ่งส่งผลให้จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมมีความเป็นไปได้มากขึ้นในเชิงปฏิบัติ  อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาและข้อโต้แย้งต่อคำอธิบายลักษณะของกฎจริยธรรมในแบบจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม  ในที่นี้จะนำเสนอข้อโต้แย้งที่น่าสนใจในบางประเด็น  โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อตามประเด็นปัญหาหลักของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมที่กล่าวถึง

(1) จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะมีปัญหาในการอธิบายถึงชนิดของการกระทำที่ผิด  ปัญหานี้เกิดกับนักจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมบางส่วนที่ปฏิเสธการคิดเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมการกระทำหนึ่งๆ จึงเป็นหน้าที่ แต่นักจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมบางส่วนที่มีการเสนอทฤษฎี เช่น ค้านต์ และรอส จะไม่ประสบปัญหานี้

นักจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมที่ไม่เสนอคำอธิบายความถูกผิดของการกระทำ เห็นว่าหน้าที่ต่างๆ ปรากฎในกฎจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป หรือเป็นการกระทำที่โดยทั่วไปยอมรับว่าเป็นสิ่งผิด เช่น การไม่กล่าวเท็จ การไม่ฆ่าหรือไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น ผลที่ตามมาคือปัญหาการจำแนกชนิดของการกระทำที่ผิด และปราศจากเหตุผลสนับสนุน ตัวอย่างเช่น หากตั้งคำถามว่า ทำไมการกล่าวเท็จหรือการฆ่าผู้บริสุทธิ์จึงเป็นสิ่งผิด  จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมก็จะไม่สามารถยกเหตุผลใดมาสนับสนุนกฎเหล่านี้ได้

โธมัส เนเกิล (Thomas Nagel) อธิบายว่าการระบุว่าการกระทำใดผิด ควรพิจารณาจากการกระทำที่โดยทั่วไปยอมรับว่าผิดมาเป็นเวลานาน เช่น หลักคำสอนในศาสนายูดาย ในศาสนาคริสต์ ข้อเสนอของเนเกิลก็สามารถตั้งคำถามต่อไปได้ว่าทำไมการกระทำเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผิด  อีกทั้งการอธิบายโดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่โดยทั่วไปยอมรับหรือเป็นหลักการทางศาสนา ก็ยิ่งลดความน่าเชื่อถือของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม เนื่องจากในท้ายสุด จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะกลายเป็นส่วนเกิน เนื่องจากสามารถใช้กฎจริยธรรมในสังคมหรือศาสนาโดยไม่ต้องอาศัยจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมได้  (Davis, 1971: 211-212)  

นอกจากนี้ ความพยายามแก้ปัญหาของจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม ดังที่ปรากฎในหัวข้อที่ผ่านมาก็ยังประสบกับความไม่ชัดเจน ยังมีคำถามว่าเพราะเหตุใดเพียงมุ่งไม่กระทำผิด ก็ถือว่าทำถูกต้องแล้ว ทำไมการเลือกจะไม่ละเมิดคนๆ หนึ่ง แล้วมีผลร้ายต่อคนอีก 5 คนแทน จึงถือเป็นความล้มเหลวที่จะช่วยชีวิตของคนอีก 5 คน แทนที่จะถือว่าเป็นความผิดทางจริยธรรม ทำไมเพียงการไม่กล่าวเท็จ ถือว่าไม่ผิดจริยธรรม ทำไมไม่กล่าวว่าผิดทางจริยธรรมเพราะเก็นการเก็บงำความจริงเอาไว้ หากจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมไม่มีทฤษฎีสำหรับอธิบายว่าทำไมการกระทำหนึ่งๆ จึงไม่ถูกต้อง คำถามเหล่านี้ย่อมตอบไม่ได้ ในท้ายที่สุด ทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมอาจเป็นเพียงกฎจริยธรรมที่กำหนดไม่ให้กระทำผิดในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับร่วมกันเท่านั้น เช่น การไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ไม่กล่าวเท็จ เป็นได้แต่เพียงหลักประกันขั้นต่ำสุดของการมีจริยธรรมทางสังคม ที่ไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ 

(2) จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมเห็นว่าคุณค่าของการกระทำมีคุณค่าในตัวเองโดยไม่ขึ้นกับสิ่งอื่นในทุกกรณี และห้ามไม่ให้ผู้กระทำตัดสินเลือกกระทำสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาจากผลที่จะได้ ถึงแม้จะรู้ดีว่าการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลดีหรือผลร้ายก็ตาม ท่าทีเช่นนี้ทำให้บางครั้งจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมดูจะให้คำตอบที่ไม่เหมาะสม เช่น ถ้ากล่าวเท็จ และจะทำให้คนจำนวนมากปลอดภัย จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมจะเสนอแนะให้เลี่ยงการทำผิดกฎจริยธรรม แม้ว่าจะต้องปล่อยให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าในกรณีที่ผู้กระทำรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดผลอะไรจากการกระทำของตนแล้วไม่ได้นำมาพิจารณา จะถือว่ามีความจงใจที่จะก่อให้เกิดผลร้ายหรือไม่  ตัวอย่างเช่น ในกรณีของรถบรรทุกที่กำลังพุ่งเข้าชนคนๆ หนึ่ง  การตัดสินใจที่จะไม่ฆ่าโดยการหักหลบทั้งๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่า การหักหลบจะทำให้คนอีก 5 คนเสียชีวิตแทน ในกรณีเช่นนี้จะอธิบายว่าผู้ที่กระทำไม่มีความจงใจทำในสิ่งที่ผิดได้อย่างไร  (Davis, 1971: 215)

ถึงการอธิบายจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมมีปัญหาและข้อโต้แย้งในการอธิบาย แต่จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมก็เป็นทฤษฎีที่มีความน่าสนใจหลายประการในทางจริยศาสตร์ เดวิด แมคนัฟตัน (David McNaughton) สรุปถึงประเด็นที่น่าสนใจทางจริยศาสตร์หลายประเด็น อาทิเช่น จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมเป็นความพยายามแสวงหาคุณค่าของการกระทำจากตัวการกระทำเอง มากกว่าจะพยายามแสวงหาคุณค่าทางจริยธรรมจากสิ่งอื่น เช่น ผลที่เกิดขึ้นของการกระทำนั้นเอง  รวมถึงอิทธิพลของทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงกรณียธรรมได้ส่งผลต่อความคิดในเรื่องความยุติธรรมในทฤษฎีจริยศาสตร์แบบพันธสัญญาของ จอห์น รอลส์ (John Rawls) เป็นต้น

วรเทพ ว่องสรรพการ (ผู้เรียบเรียง)

เรียบเรียงจาก

·

เนื่องน้อย บุณยเนตร. 2539. จริยศาสตร์ตะวันตก: ค้านท์ มิลล์ ฮอบส์ รอลส์ ซาร์ทร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

·

Davis, Nancy (Ann). Contemporary Deontology. In Peter Singer (ed.). A Companion to Ethics, pp. 205-218 Oxford: Blackwell.

·

Hill, Thomas E., Jr. 2000. Kantianism. In Hugh LaFollette (ed.). The Blackwell Guide to Ethical Theory, pp. 227-246. Massachusetts: Blackwell.

·

Johnson, Robert. 2008. Kant’s Moral Philosophy. In Edward N. Zalta (ed.). Stanford Encyclopedia of Philosophy. <URL=http://plato.stanford.edu/entries/kant-moral>

·

Kamm, F. M. 2000. Nonconsequentialism. In Hugh LaFollette (ed.). The Blackwell Guide to Ethical Theory, pp. 205-226. Massachusetts: Blackwell.

·

Kant, Immanuel. 1969. Groundwork of the Metaphysic of Morals. H.J. Paton (trans, analysed). London: Hutchinson University Library.

·

McNaughton, David. 1998. Deontological Ethics. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy [CD-Rom Version 1.0].

·

Richardson, Henry S. 2006. Deontological Ethics. In Donald M. Borchert (ed.). Encyclopedia of Philosophy. Second edition. New York: Macmillan, Vol. 2: 712-715.


เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

·

Darwall, Stephen L. 2002. Deontology. Oxford: Basil Blackwell Publishers. (มีเนื้อหารวบรวมคำอธิบายหลักการพื้นฐานของทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงหน้าที่แบบดั้งเดิมและร่วมสมัย)

·

Kant, Immanuel. 1969. Groundwork of the Metaphysic of Morals. H.J. Paton (trans, analysed). London: Hutchinson University Library. (สำหรับทำความเข้าใจทฤษฎีจริยศาสตร์เชิงหน้าที่ของอิมมานูเอล คานต์เกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานทางอภิปรัชญาและญาณวิทยา)

·

Ross, W. D. 1930. The Right and the Good. Oxford: The University Press. (ทัศนะจริยศาสตร์เชิงหน้าที่ของ ดับบลิว ดี รอส นักจริยศาสตร์เชิงหน้าที่ร่วมสมัย)


แหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
 

·

Bibliography of secondary literature on Kant's Ethics Maintained by Jorg Schroth

·

Ethics Updates: Kantian Ethics Home Page  Maintained by Lawrence ed by Lawrence Hinman

·

Notes on Deontology A Convenient Summary of Deontology with a Focus on Kant


คำที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มทฤษฎีจริยศาสตร์ที่เน้นพิจารณาผลการกระทำ / อันตวิทยา / จริยศาสตร์เชิงคุณธรรม / อัตนิยมและปรัตถนิยม
Consequentialism / Teleology  / Virtue Ethics / Egoism and Altruism

 


 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | เชื่อมโยง | ติดต่อเรา


 


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ