ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด: 16/04/54

 

ปรัชญาสำนักเต๋า
Daoism


 

1. ความเข้าใจเบื้องต้น
2. มโนทัศน์สำคัญของปรัชญาสำนักเต๋า
   
2.1 เต๋า ()
    2.2 เต๋อ ()
   
2.3 อู๋เหวย (無爲)
3. การแปรเปลี่ยน
เรียบเรียงจาก
เอกสารอ้างอิง
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

คำที่เกี่ยวข้อง

 

1. ความเข้าใจเบื้องต้น

นอกจากสำนักขงจื่อแล้ว สำนักเต๋าถือเป็นอีกหนึ่งสำนักความคิดที่มีอิทธิพลต่อปรัชญาและวัฒนธรรมจีน ปรัชญาสำนักนี้ก่อกำเนิดขึ้นในยุคคลาสสิกของจีนเช่นเดียวกับปรัชญาสำนักขงจื่อคือยุคชุนชิวและจั้นกั๋ว (ยุคฤดูไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง และยุคสงครามระหว่างรัฐ, 722-221 ก่อนคริสต์ศักราช) สำนักเต๋าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปรัชญาเหลา-จวง (Lao-Zhuang Philosophy ) เพราะอ้างอิงเนื้อหาปรัชญาจากคัมภีร์หลักของสำนักนี้คือ เต๋าเต๋อจิง (มักเรียกอีกอย่างว่า คัมภีร์เหลาจื่อ) และ จวงจื่อ อีกทั้งเพื่อแยกแยะความคิดทางปรัชญาออกจากพวกนิตินิยม (Legalism) ในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นที่นำความคิดของสำนักเต๋ามาปรับใช้ ที่เรียกว่าแนวคิดหวง-เหลา (Huang-Lao 黃老) และแยกออกจากสำนักเต๋าใหม่ (Neo-daoism 玄學)  ในยุคสมัยหลังราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีลักษณะของความเป็นศาสนาเต๋าและได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา หัวข้อสารานุกรมนี้จึงเน้นให้ความเข้าใจปรัชญาของสำนักเต๋าในยุคคลาสสิกเท่านั้น

คำว่า สำนักเต๋า” (เต๋าเจีย 道家) ไม่ได้มีที่มาจากการเรียกสำนักความคิดที่มีผู้ก่อตั้งสำนักอย่างชัดเจน เหมือนอย่างสำนักขงจื่อ เต๋าเจียเป็นคำที่ซือหม่าเชียน (Sima Qian  司馬遷) นักประวัติศาสตร์จีน (200 ปีก่อนคริสตศักราช) ได้จัดกลุ่มสำนักปรัชญาจีนเป็น 6 สำนัก คือ สำนักขงจื่อ (หรูเจีย 儒家) สำนักเต๋า สำนักมั่วจื่อ (มั่วเจีย 墨家) สำนักหยินหยาง (阴阳家) สำนักนิตินิยม (ฝ่าเจีย 法家) และ สำนักหมิง (หมิงเจีย 名家) เกณฑ์การแบ่งของ ซือหม่าเชียนยึดตามข้อเสนอเรื่องศิลปะในการปกครอง มิได้แบ่งตามนักปรัชญาผู้ก่อตั้งสำนัก เนื่องจากในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นแนวคิดหวง-เหลาซึ่งตีความปรัชญาของเหลาจื่อในมุมมองของนักนิตินิยม มีอิทธิพลในสมัยนั้น นักประวัติศาสตร์จึงนึกถึงเนื้อหาความคิดของหวง-เหลาเป็นหลักเมื่อใช้คำว่า เต๋าเจีย แต่ทั้งนี้ได้กำหนดให้เหลาจื่อ (Laozi老子) (600 ปีก่อนคริสตศักราช) และจวงจื่อ (Zhuangzi) (ประมาณ 375-300 ปีก่อนคริสตศักราช) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญของสำนักเต๋า และได้จัดหวยนานจื่อ (Huainanzi 淮南子ประมาณ 140 ก่อนคริสตศักราช) และเลี่ยจื่อ (Liezi列子ประมาณคริสตศักราช 400) เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ในสำนักนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักของการเรียกแนวคิดนี้ว่า สำนักเต๋า เป็นเพราะปรัชญาสำนักนี้ให้ความสำคัญกับมโนทัศน์ เต๋า() (วิถีหรือมรรควิธีที่แท้) เป็นหลักมากกว่าสำนักอื่น แม้ว่านักปรัชญาจีนยุคคลาสสิกต่างมุ่งหาคำตอบว่าอะไรคือ เต๋าหรือมรรควิธีที่แท้ แต่ทั้งขงจื่อและมั่วจื่อต่างเน้นให้คำอธิบายต่อมโนทัศน์ เต๋าในเชิงเป็นวิถีมนุษย์เป็นหลัก ในขณะที่สำนักเต๋ามองมโนทัศน์ เต๋าเป็นสามลักษณะคือ 1) เต๋าในฐานะเป็นวิถีมนุษย์หรือสังคม 2) เทียนเต๋า (天道) หรือวิถีธรรมชาติ และ 3) เต๋าอันยิ่งใหญ่ (Great Dao 大道) หรือสรรพสิ่งที่กำเนิดขึ้นและดำเนินไปในจักรวาลทั้งหมด สำนักเต๋าเน้นให้ความสำคัญกับเต๋าในแบบที่สองและสามซึ่งเป็นความเป็นจริงในเชิงอภิปรัชญา โดยมองว่าการที่มนุษย์จะดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับเต๋าอันยิ่งใหญ่จะต้องเข้าใจความเป็นจริงของวิถีธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลก ในขณะที่สำนักขงจื่อเน้นเต๋าที่เป็นวิถีมนุษย์หรือจริยธรรมเป็นหลัก การที่สำนักเต๋าถกเถียงกับสำนักขงจื่อในเรื่องความหมายของ เต๋ากับ เต๋อ() (คุณธรรมหรือพลัง) นั้น มิได้ถกเถียงกันในแง่การให้ความหมายเชิงภววิทยา แต่ถกเถียงกันในแง่ว่ามนุษย์ควรจะตอบสนองหรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับมนุษย์ ปรากฏการณ์ และสิ่งอื่นใดในโลกที่เป็นบริบทแวดล้อมและสัมพันธ์กับเรา สำหรับสำนักเต๋า เต๋าจึงมิใช่เป็นเพียงความจริงบางอย่างที่ถูกค้นพบ หากแต่เป็นทั้งทางที่เราเดินตามและทางที่เราถูกปล่อยไปตาม ดังที่จวงจื่อกล่าวไว้ว่า อันวิถีทางจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการเดินทาง (ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 36)

การที่สำนักเต๋าเน้นการหวนกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติและดูเหมือนมีท่าทีปฏิเสธสังคม พวกอัตนิยม (egoism) และกลุ่มที่หลีกลี้สังคมจึงถูกจัดไว้เป็นพวกสำนักเต๋าด้วย แต่ทั้งนี้ยังเป็นพวกเต๋าแรกเริ่มซึ่งยังไม่ได้พัฒนาความคิดเกี่ยวกับมรรควิธีอย่างชัดเจน นักปรัชญาของสำนักเต๋าที่พิจารณาและให้คำตอบเชิงปรัชญาอย่างลุ่มลึกต่อปัญหาการจัดระเบียบสังคม การปกครอง และวิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นปัญหาหลักในปรัชญาจีนยุคคลาสสิก คือ เหลาจื่อ และจวงจื่อ แม้ว่าทั้งคู่จะสนใจต่อความเป็นจริงสูงสุดหรือ เต๋าเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างบางประการที่มีนัยสำคัญต่อการศึกษาปรัชญาของทั้งสอง คือ ทั้งเหลาจื่อและจวงจื่อมี คู่สนทนา หรือเป้าหมายในการถกเถียงโต้แย้งแตกต่างกัน การพิจารณาปัญหาเชิงปรัชญาบางประการจึงแตกต่างกันไปด้วย รวมทั้งวิธีการเขียนคัมภีร์ก็แตกต่างกัน เหลาจื่อเขียนเต๋าเต๋อจิงเป็นบทกวีสั้นๆ ในลักษณะรำพึงรำพันผู้เดียว และมุ่งวิพากษ์วิจารณ์หลักการปกครองของสำนักขงจื่อที่ให้ความสำคัญกับจารีต วัฒนธรรม และคุณธรรมต่างๆ เป็นหลัก ในขณะที่จวงจื่อเสนอปรัชญาของตนผ่านเรื่องเล่าที่ในบางบทมีการสนทนาถกเถียงกัน และมีการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยวรรณศิลป์ทั้งอุปมาอุปไมย ปฎิบท และเรื่องเล่าในเชิงขบขัน ประชดประชัน อีกทั้งจวงจื่อมุ่งถกเถียงประเด็นเรื่องภาษา ความรู้ และความจริงกับนักปรัชญาสำนักแห่งนาม (Mingjia หมิงเจีย 名家) อย่างโดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮุ่ยจื่อ (Hui shi/Huizi惠子

สิ่งที่ควรพึงระวังอีกประการหนึ่งเมื่อศึกษาปรัชญาสำนักเต๋าคือความคิดที่ว่าสำนักขงจื่อและสำนักเต๋ามีเนื้อหาความคิดที่ตรงข้ามกันเหมือนขั้วหยิน-หยาง ภาพของสำนักเต๋า หรืออีกนัยหนึ่ง คนมักเข้าใจกันว่าสำนักเต๋าเป็นแนวคิดที่วิพากษ์และเป็นส่วนเสริมปรัชญาสำนักขงจื่อ สำนักเต๋าจึงมักถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่เน้นการไม่ตอบสนอง ให้ความสำคัญกับเพศหญิง รักความสันโดษ เน้นพัฒนาจิตวิญญาณ มีลักษณะเป็นรหัสยลัทธิ และยึดถือวิถีชีวิตเฉกเช่นศิลปิน รวมทั้งมีท่าทีเชิงอนาธิปไตย วิมัตินิยม สัมพัทธนิยม และปฏิเสธสังคม ในทางตรงกันข้าม สำนักขงจื่อมักถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่เน้นการสั่งสอนคุณธรรม ยึดถือขนบจารีต และให้ความสำคัญกับการปกครองโดยอำนาจของกษัตริย์และขุนนาง การมีกรอบความคิดว่าสองสำนักนี้มีเนื้อหาความคิดที่ตรงข้ามกันเหมือนขั้วหยิน-หยาง เป็นการทำลายความเข้าใจที่ลึกซึ้งและซับซ้อนต่อปรัชญาทั้งสองสำนักนี้ อันที่จริงแล้วทั้งสองต่างมีพื้นฐานความคิดบางอย่างที่มีร่วมกันหรือใกล้เคียงกัน อาทิเช่น ทั้งสองสำนักต่างเน้นเรื่องการขัดเกลาการฝึกฝนตน และมองการดำเนินชีวิตในเชิงสุนทรีย์ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการแสวงหามรรควิธีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในโลกนี้มากกว่ามุ่งหาความเป็นจริงที่เป็นนามธรรมและอุดมคติ อีกทั้งยังยอมรับลักษณะเฉพาะและความสำคัญพื้นฐานของบุคคลในการมีส่วนร่วมกำหนดโลก โดยเล็งเห็นความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกระหว่างสิ่งแวดล้อมและบริบทกับปัจเจกบุคคล เดวิด ฮอลล์ และโรเจอร์ เอมส์ (David Hall and Roger Ames, 1998) เสนอว่าทั้งสองสำนักต่างเน้นแนวคิดเรื่อง ความอ่อนน้อม” (deference) กล่าวคือ สำหรับสำนักขงจื่อ แนวคิดนี้สะท้อนผ่านคุณธรรม ซู่ () หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในขณะที่สำนักเต๋าแนวคิดเรื่องการอ่อนน้อมจะสะท้อนผ่าน อู๋เหวย (無爲) หรือการกระทำโดยไม่กระทำ

อย่างไรก็ตาม สำนักเต๋าและสำนักขงจื่อมีความแตกต่างบางประการที่มีนัยสำคัญเช่นกัน พวกเต๋ามองว่า สำนักขงจื่อเข้าใจมรรควิธีว่าเป็นวิถีแห่งมนุษย์ ซึ่งเป็นการมองโลกโดยแบ่งแยกมนุษย์กับธรรมชาติออกจากกันอย่างชัดเจน สำนักเต๋าจึงโต้แย้งสำนักขงจื่อว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับโลกธรรมชาติเท่าที่ควร เน้นการขัดเกลาและฝึกฝนตนในบริบทของวัฒนธรรมหรือโลกมนุษย์เป็นหลัก แต่สำหรับสำนักเต๋า การขัดเกลาฝึกฝนตนมิใช่กำหนดอย่างง่ายดายภายในบริบทของโลกมนุษย์ การดำรงอยู่ของมนุษย์ในกระบวนการทั้งหมดมิใช่จะถูกกำหนดโดยลดทอนเป็นเพียงคุณค่าและเป้าหมายของมนุษย์เท่านั้น หากแต่จะต้องถอดถอนมนุษย์จากการเป็นศูนย์กลางในการกำหนดคุณค่า ความหมาย และหลักปฏิบัติต่างๆ แล้วมีชีวิตอย่างกลมกลืนกับกระบวนการของโลกธรรมชาติ


2. มโนทัศน์สำคัญของปรัชญาสำนักเต๋า

2.1 เต๋า () 

แม้ว่า เต๋าจะเป็นคำที่ใช้ทั่วไปในยุคคลาสสิกเพื่อสื่อถึง วิถี หนทาง และ การนำทาง แต่สำนักเต๋าใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงความเป็นจริงสูงสุดที่เป็นกระบวนการอันเป็นพลวัตของโลกทั้งหมด และสื่อถึง วิถี ธรรมชาติ สำนักเต๋ามองโลกว่าไร้ระเบียบและเป็นที่รวมความเป็นไปได้ของแบบแผนต่างๆ การเข้าใจโลกจึงมิใช่การเข้าใจผ่านกฎวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตามโลกทัศน์ที่ว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์อันหลากหลาย มีความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น (the One behind the many) การเข้าใจ เต๋าจะต้องเข้าใจผ่านกรอบความคิดเฉพาะบางกรอบ (เต๋อ) เสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะสำนักเต๋ารวมทั้งปรัชญาจีนยุคคลาสสิกทั้งหมด ไม่ได้มองจักรวาลในลักษณะที่มีต้นกำเนิดมาจากความว่างเปล่าด้วยอำนาจของพระผู้สร้าง (creation ex nihilo) และไม่ได้มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่และดำเนินภายในกฎเดียว (single-ordered world) หากแต่มองว่าโลกธรรมชาติคือที่รวมทุกสรรพสิ่ง (萬物 วั่นอู้) ซึ่งไม่อาจแยกออกจากกันได้ และมีกระบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเอง (自然 จื้อหราน) โดยไม่ต้องมีกฎสากลหรือผู้กระทำภายนอกเป็นตัวกำหนด ด้วยเหตุนี้ ความต่อเนื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ของสรรพสิ่งจึงทำให้ เต๋าเป็น หนึ่ง เดียว ส่วนความแตกต่างของสรรพสิ่งในโลกทำให้ เต๋ามีความหลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงในโลกทำให้ เต๋าเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การที่นักปรัชญาจีนยุคคลาสสิกมองว่าเวลาไม่แยกออกจากปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก ทำให้แนวคิดเรื่องการเป็นอมตะ ไม่ใช่ประเด็นที่นักปรัชญาจีนสนใจ การหาความเป็นจริงที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างที่เพลโตหาในโลกของแบบ จึงไม่ปรากฏในปรัชญาจีนยุคคลาสสิก ด้วยเหตุนี้ เต๋าจึงไม่ใช่ความเป็นจริงเหนือกาลเวลาที่แยกต่างหากจากโลก หากแต่เป็นกระบวนการของการกลายหรือการแปรเปลี่ยนภายในโลกทั้งหมด การที่สำนักเต๋าเสนอให้เราหวนกลับสู่ เต๋าหรือต้นกำเนิดของสรรพสิ่งจึงมิใช่การทำตัวให้อยู่เหนือกาลเวลา หากแต่คือการหลอมรวมกับพลังและที่มาของความเปลี่ยนแปลงในโลก

การที่ทั้งเหลาจื่อและจวงจื่อมองว่า เต๋าเป็นความเป็นจริงสูงสุดที่ยากจะหยั่งถึงและไม่สามารถให้นามได้ มิใช่หมายความว่ามนุษย์ไม่อาจเข้าใจความเป็นจริงนี้ได้เลย หากแต่เหลาจื่อและจวงจื่อต้องการย้ำเตือนว่าการเข้าใจ เต๋าไม่อาจเข้าใจผ่านภาษาได้ทั้งหมด แม้ว่าทั้งคู่จะเข้าใจข้อจำกัดของภาษาในการสื่อความหมายของ เต๋าก็จริง แต่ในเมื่อจำเป็นต้องใช้ภาษาสื่อความ ทั้งสองจึงใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อให้ผู้คนเข้าใจความเป็นจริงนี้ได้มากที่สุด สำหรับเหลาจื่อ เต๋าจะปรากฏผ่านกระบวนการกลายสภาพ (process of becoming) ของการมีสภาวะ (being) และไร้สภาวะ (non-being) กล่าวคือ ทุกสรรพสิ่งจะต้องดำเนินไปสู่ภาวะตรงข้ามเสมอ เช่น จากมืดไปสว่าง จากฤดูร้อนไปสู่ฤดูหนาว เป็นต้น ภาวะตรงข้ามนี้ไม่ใช่ขั้วขัดแย้งหากแต่เป็นภาวะที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ดังเช่นในเต๋าเต๋อจิงบทที่ 2 กล่าวถึงความน่าเกลียดว่าอุบัติขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักความสวย ความชั่วอุบัติขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักความดี และบทที่ 11 กล่าวถึงประโยชน์ของ การไร้สภาวะ ว่าหากไม่มีความว่าง หม้อย่อมไม่อาจนำไปใส่น้ำได้ ล้อที่ไม่มีช่องรูของดุมล้อ ย่อมไม่อาจใช้งานได้ เป็นต้น การที่เหลาจื่อใช้ปฎิบทในเต๋าเต๋อจิง เช่น รูปที่ไร้รูป สดับฟังแต่มิอาจได้ยิน เป็นต้น ก็เพื่อสื่อให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดคงอยู่ในสภาวะใดๆ นั้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มีรูปย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะไร้รูปและที่มีรูปได้ก็เพราะมีความไร้รูปเกิดขึ้นด้วย การที่สรรพสิ่งดำเนินไปตามกระบวนการกลายของภาวะหยิน-หยางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เหลาจื่อจึงกล่าวถึง เต๋าในทำนองว่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ดังที่ในเต๋าเต๋อจิง บทที่ 42 บันทึกไว้ว่า

ธรรมวิถี (เต๋า) ก่อกำเนิดหนึ่ง หนึ่งก่อกำเนิดสอง สองก่อกำเนิดสาม
สามก่อกำเนิดสกลสิ่ง
สกลสิ่งล้วนแบกไว้ซึ่ง
อิน (หยิน) และกอดไว้ซึ่ง หยัง’ (หยาง)
ประกอบด้วย
ปราณ (ชี่) จนเกิด ดุลยภาพ’  

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2547: หน้า 84, คำในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)

อย่างไรก็ตาม การที่เหลาจื่อให้ภาพความเข้าใจอาการของ เต๋าในเชิงอ่อน เช่น การใช้สัญลักษณ์น้ำทารก และเพศหญิงเพื่อสื่อถึงพลังของเต๋า มิได้หมายความว่า เต๋าคือความเป็นจริงที่เป็นขั้ว ไร้สภาวะ เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า การไร้สภาวะ ก็ต้องอิงอาศัยกับ การมีสภาวะ ด้วย แต่ที่เหลาจื่อให้ค่ากับพลังเชิงอ่อนก็เพราะการ ไร้สภาวะ เป็นความจริงพื้นฐานกว่า รุ่มรวยกว่า (ใช้ได้อย่างไม่จำกัด) และมีพลังสร้างสรรค์กว่า การมีสภาวะ นั่นเอง นอกจากนี้ ผู้คนมักมองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงพื้นฐานนี้จนกระทั่งให้ค่ากับการมีสภาวะบางอย่างมากเกินไป เช่น ชื่อเสียง เกียรติยศ เหลาจื่อจึงเสนอให้มนุษย์หันมาหลอมรวมกับ เต๋าหรือหวนคืนสู่ต้นกำเนิดด้วยการทำตัวให้ ไร้สภาวะ หรือให้ค่ากับภาวะเชิงอ่อน เช่น ลดการกระทำ ลดความอยากความปรารถนา ลดความรู้ฝ่ายโลก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ สำหรับเหลาจื่อ เต๋าจึงมิได้เป็นเพียงความเป็นจริงเชิงอภิปรัชญาเท่านั้น แต่รวมถึงวิถีปฏิบัติที่อาศัยอาการและพลังของ เต๋าที่เป็นวิถีธรรมชาติเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติของมนุษย์

ส่วนจวงจื่อมอง เต๋าเช่นเดียวกับเหลาจื่อ แต่จวงจื่อแสดงความเข้าใจนี้ผ่านทัศนะที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความรู้ และความจริง กล่าวคือ ความสามารถของมนุษย์ที่จะเอ่ยถึง เต๋าในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดและวิถีของจักรวาลขึ้นอยู่กับความสามารถของภาษาของมนุษย์ด้วย จวงจื่อกล่าวไว้ว่า  

สรรพสิ่งนานากับตัวข้าก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ในเมื่อเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว การเอ่ยวาจาแก่กันจะมีได้ฉันใด ในเมื่อได้เอ่ยวาจากล่าวว่าเป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว การมิได้เอ่ยวาจาจะเป็นได้ฉันใด จำนวน 1 กับการกล่าววาจารวมกันได้เป็น 2 2 รวมกับ 1 ย่อมกลายเป็น 3 จากจุดนี้ หากสืบสาวดำเนินไปเรื่อยๆ แม้แต่คณิตกรผู้ปรีชาก็ยังมิอาจคำนวณถึงจุดจบได้ อย่าว่าแต่สามัญชนเช่นเราเลย ในเมื่อนับจากความไม่มีไปสู่ความมีอยู่ก็ยังได้จำนวนเป็นถึง 3 เช่นนี้ การนับจากความมีอยู่ไปสู่ความมีอยู่ ก็ยิ่งมิต้องเอ่ยถึง จึงมิควรดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองธรรมเถิด  

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 44)
 

คำกล่าวของจวงจื่อดังกล่าวต้องการย้ำเตือนว่าภาษามีข้อจำกัด และภาษาทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า เต๋ามีตัวตนหรือมีสภาวะอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการให้นาม เต๋าดูเป็นการกำหนดความมีสภาวะให้เกิดขึ้นไปด้วย ดังที่จวงจื่อกล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งมีขึ้นได้เพราะการขนานเรียก (ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 36) การเข้าใจ เต๋าอย่างถ่องแท้จึงมิอาจเกิดขึ้นได้ผ่านการใช้ภาษาเท่านั้น
 

2.2 เต๋อ ()

เต๋อมักแปลว่า คุณธรรม ทำให้เข้าใจว่ามีความหมายเช่นเดียวกับ คุณธรรม (virtue) ในปรัชญากรีก แต่ เต๋อมีนัยเชิงจักรวาลวิทยาที่สัมพันธ์กับ เต๋าอย่างแนบแน่น เต๋อยังแปลว่า พลัง ที่ทำให้กิจต่างๆประสบความสำเร็จ เต๋อจึงเป็นความสามารถที่จะแสดงหรือปฏิบัติตามมรรควิธีอย่างถูกต้องและงดงาม ความสามารถนี้รวมทั้งความสามารถที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาตนและที่ไม่ต้องผ่านการเรียนรู้ เต๋อจึงอาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเพิ่มพูนได้ภายหลัง นอกจากนี้ เต๋อเป็นมโนทัศน์ที่จะต้องเข้าใจควบคู่กับ เต๋าเพราะหากมองในภาพใหญ่แล้ว เต๋าคือกระบวนการที่เป็นพลวัตของโลกทั้งหมดและเป็นที่รวมของสิ่งเฉพาะทั้งหลาย ซึ่งแต่ละสิ่งเหล่านี้ต่างมีเต๋อของตน แต่หากมองในภาพย่อยผ่านมุมมองของปัจเจกบุคคลแล้ว เต๋อของคนๆ นั้นจะต้องพัฒนาหรือเพิ่มพูนภายในบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่บุคคลนั้นสัมพันธ์ด้วยเสมอ หากมองในกรอบของปรัชญาสำนักขงจื่อแล้ว เต๋อของปัจเจกบุคคลจะพัฒนาและเพิ่มพูนได้ภายในสิ่งแวดล้อมที่เป็นชุมชนมนุษย์ที่งดงามเท่านั้น ในขณะที่สำนักเต๋ามองว่า เต๋อของมนุษย์จะเพิ่มพูนหากพัฒนาในบริบทของโลกธรรมชาติซึ่งยิ่งใหญ่กว่า ภาพความสัมพันธ์ของ เต๋าและ เต๋อจึงเป็นในลักษณะที่ เต๋าเป็น สนาม หรือ พื้นที่ (field) ส่วน เต๋อเป็นองค์ประกอบหรือ “มุมมองที่เฉพาะเจาะจง (focus) ในสนามนั้น

ตัวอย่างข้อความจากตัวบทที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง เต๋ากับ เต๋อดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้นคือ บทสนทนาระหว่างจวงจื่อและฮุ่ยจื่อ ณ ริมแม่น้ำหาว

จวงจื่อกับฮุ่ยจื่อกำลังเดินเล่นริมฝั่งแม่น้ำหาว จวงจื่อกล่าวขึ้นมาว่า ดูปลาซิวโน่นสิ มันแหวกว่ายไปมาตามใจชอบ นี่คือสิ่งปลาชอบจริงๆ

ฮุ่ยจื่อโต้ตอบว่า ท่านมิใช่ปลา ท่านรู้ได้อย่างไรว่าปลาชอบอะไร

จวงจื่อตอบกลับว่า ท่านมิใช่เรา ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่รู้ว่าปลาชอบอะไร

ฮุ่ยจื่อตอบว่า เรามิใช่ท่าน เราย่อมไม่รู้ว่าท่านรู้อะไร แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็มิใช่ปลาอย่างแน่นอน ซึ่งย่อมพิสูจน์ว่าท่านก็ไม่รู้ว่าปลาชอบอะไร

จวงจื่อจึงตอบกลับไปว่า เรากลับไปที่คำถามเดิมของท่านดีกว่า ท่านถามเราว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าปลาชอบอะไร ดังนั้นแสดงว่าท่านรู้อยู่แล้วว่าเรารู้ เมื่อท่านตั้งคำถามนั้น เรารู้ได้โดยการยืนอยู่ที่นี่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำหาว (สุวรรณา สถาอานันท์, 2539: หน้า 135-136)

ในบทนี้จวงจื่อไม่ได้ต้องการใช้ความกำกวมของภาษาเพื่อโต้แย้งฮุ่ยจื่อ หากแต่ต้องการแสดงให้เห็นข้อจำกัดของวิธีการทางตรรกะที่ฮุ่ยจื่อใช้ รวมทั้งต้องการปฏิเสธความเป็นภววิสัยของความรู้ที่แยกโลกที่ถูกรู้ (เต๋า) ออกจากตัวผู้รู้ (เต๋อ) กล่าวคือ ความรู้ที่จวงจื่อมีเป็นความรู้ที่มาจากการสัมพันธ์กับสรรพสิ่งตามกรอบความคิดในแต่ละสถานการณ์ ทั้งจวงจื่อ ปลา และฮุ่ยจื่อ ต่างเป็นส่วนหนึ่งในสถานการณ์ริมฝั่งแม่น้ำหาว ความรู้ จากที่นี่ เป็นความรู้ที่จวงจื่อ ลืมการแบ่งแยกสิ่งที่ถูกรู้ (คือปลาและฮุ่ยจื่อ) กับผู้รู้(คือตัวจวงจื่อ) อันเป็นการเชื่อมโยงโลกของปลาและฮุ่ยจื่อเข้ากับโลกของจวงจื่อที่มีกรอบความคิดในการมองโลกตรงริมแม้น้ำหาว ด้วยกรอบความคิดนี้เอง จวงจื่อตีความหรือใช้จินตนาการสรุปว่าอาการแหวกว่ายของปลาแสดงว่าปลากำลังมีความสุข อีกทั้งเชื่อมโยงกับโลกของฮุ่ยจื่อด้วยการใช้วิธีทางตรรกะตอบโต้ จวงจื่อจึงหลอมรวมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่กำลังถูกรู้กับผู้รู้จนไม่มีการแบ่งแยก ทำให้โลกของจวงจื่อกับโลกของปลาและฮุ่ยจื่อสัมพันธ์กันได้ จวงจื่อจึงได้รื่นรมย์ไปพร้อมกับความสุขของปลา รวมทั้งรื่นรมย์ไปกับการปะทะคารมกับฮุ่ยจื่อ การที่ฮุ่ยจื่อถามจวงจื่อว่ารู้ได้อย่างไรว่าปลามีความสุข แล้วจวงจื่อตอบว่ารู้จากที่นี้ ที่ริมแม่น้ำหาว จึงเป็นการบอกว่าความรู้เชิงข้อเท็จจริงบางอย่าง (ความรู้ที่ว่าปลามีความสุขจริงๆ หรือไม่ และความรู้ที่ว่าจวงจื่อรู้หรือไม่ว่าปลามีความสุข) อาจไม่สำคัญเท่ากับความรู้ที่เราสัมพันธ์กับสรรพสิ่งตามกรอบความคิดในแต่ละสถานการณ์ ความรู้แบบนี้ต่างหากที่สำคัญในการดำเนินชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ บทสนทนานี้จึงสะท้อนข้อเสนอของสำนักเต๋าเรื่อง อู๋จื้อ (無智) หรือการละทิ้งความรู้ฝ่ายโลก (ความรู้ที่มุ่งจัดการและควบคุมโลก) และความรู้ที่แบ่งแยกโลกอย่างเป็นภววิสัยด้วย นี่เป็นท่าทีที่สำนักเต๋าเสนอให้มนุษย์มีเมื่อสัมพันธ์กับโลก 

2.3 อู๋เหวย (無爲)

นอกจากจะเสนอให้ละทิ้งความรู้ฝ่ายโลก และความรู้ที่แบ่งแยกผู้รู้ออกจากสิ่งที่ถูกรู้อย่างเป็นภววิสัยแล้ว สำนักเต๋ายังมองว่าการละทิ้งความรู้ดังกล่าวในที่สุดแล้วจะทำให้มนุษย์ปฏิบัติต่อโลกด้วยการกระทำที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติที่เรียกว่า อู๋เหวย เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า อู๋เหวย หมายความว่าอย่างไร คำว่า อู๋ () ในภาษาจีนหมายถึง ไม่มี แต่เมื่อพิจารณาควบคู่ทั้งสองคำแล้วผู้แปลส่วนใหญ่มักตีความในเชิงเป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติว่าเป็นการ หลีกเลี่ยงการกระทำ บางอย่าง ปัญหาจึงอยู่ที่คำว่า เหวย () ซึ่งอาจหมายถึงให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่มีการไตร่ตรองหรือมีจุดมุ่งหมายบางอย่าง หรืออาจจะหมายถึงหลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดแย้งกับธรรมชาติ การตีความเช่นนี้อาศัยพิจารณาจากท่าทีของสำนักเต๋าที่ปฏิเสธสังคมและให้ความสำคัญกับโลกธรรมชาติ

ในภาษาไทยมักแปล อู๋เหวย ว่า การไม่กระทำ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าอู๋เหวยคือการนิ่งเฉยไม่กระทำอะไรเลย ที่จริงแล้วอู๋เหวย คือการกระทำที่ จื้อหราน หรือ เป็นไปเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่อ่อนน้อม ไม่แทรกแซงบังคับ ไม่ต้องใช้ความพยายาม และไม่ใช่การกระทำที่ยืนกรานอะไรบางอย่าง (nonassertive) หากมนุษย์ปฏิบัติต่อสรรพสิ่งด้วยท่าที อู๋เหวย กิจต่างๆ จะสามารถดำเนินไปได้เอง ดังที่ เต๋าเต๋อจิง บทที่ 37 บันทึกไว้ว่า

ธรรมวิถี (เต๋า) ย่อมประกอบนิรกรรม (อู๋เหวย) เป็นนิจ
โดยมิมีกิจใดที่ไม่ประกอบ
แม้นราชะผู้เป็นเจ้าสามารถผดุงไว้ได้
สกลสิ่งย่อมผันแปรไปด้วยตนเอง

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2547: หน้า 74, คำในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)

อู๋เหวยจึงเป็นการกระทำที่ตระหนักถึงตัวตนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและต้องสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง เมื่อเราพัฒนาเต๋อของเราและดำเนินตามเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งเสริมเกื้อหนุนสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วย

ในเต๋าเต๋อจิง จะกล่าวถึง อู๋เหวย ในบริบทของการปกครองเป็นหลัก โดยเสนอว่า การปกครองโดยไม่ปกครอง ถือเป็นศิลปะแห่งการปกครองสูงสุด ดังในเต๋าเต๋อจิง บทที่ 57 บันทึกไว้ว่า

อริยมนุษย์จึงกล่าวไว้ว่า ข้ามิกอปรกรรม ประชาธรรมก็บังเกิดเอง
ข้ารักนิ่งสงบ ประชาก็พบครรลองเอง
ข้าปราศจากกิจ ประชาก็บริบูรณ์เอง
ข้ามิปรารถนา ประชาก็เรียบง่ายพอใจเอง

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2547: หน้า 114)

โดยทั่วไป อำนาจ การปกครองที่รัฐใช้ เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นโดยใช้กฎหมายและกำลังบังคับเป็นเครื่องมือควบคุมประชาชน แต่สำนักเต๋าเสนอให้รัฐลดการใช้อำนาจดังกล่าว แล้วหันมาใช้ อำนาจ ที่เป็นพลังเชิงอ่อนแทน กล่าวคือ รัฐควรหยุดการกระทำที่เป็น อำนาจ ในเชิงควบคุม คุกคาม ขู่เข็ญ เช่น ลดการออกคำสั่ง กฎหมาย และการทำสงคราม ลดข้อกำหนดมาตรฐานคุณค่า การยกย่องเชิดชู การให้รางวัลและลงโทษ ลดการส่งเสริมวิทยาการความรู้ที่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชน เป็นต้น สำนักเต๋ามองว่าหากรัฐทำเช่นนี้ได้สังคมและประชาชนทั้งหมดจะค่อยๆ หวนคืนสู่วิถีธรรมชาติดั้งเดิมของตนได้เอง ด้วยหลักการปกครองโดยไม่ปกครองนี่เอง เหลาจื่อจึงจัดอันดับให้ผู้ปกครองที่ประชาชนเพียงรู้ว่ามีอยู่เป็นผู้ปกครองที่ดีที่สุด ดังเต๋าเต๋อจิง บทที่ 17 บันทึกไว้ว่า

เบื้องบนชั้นวิเศษสุด ผู้อยู่เบื้องล่างเพียงรู้ว่ามีอยู่
ระดับถัดมา เบื้องล่างรู้สึกสนิทใจ
ระดับถัดมา เบื้องล่างแซ่ซ้องสดุดี
ระดับถัดมา เบื้องล่างหวาดหวั่นยำเกรง
ระดับถัดมา เบื้องล่างปรามาสหมิ่นแคลน

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
, 2547: หน้า 34)

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือ นอกจากสำนักเต๋าจะเสนอให้มนุษย์สัมพันธ์กับโลกโดยการให้ละทิ้ง ความรู้ และ การกระทำ บางอย่างแล้ว ยังให้ลด ความปรารถนา (無欲) ด้วย ประโยคที่ว่า ข้ามิปรารถนา ประชาก็เรียบง่ายพอใจเอง มิใช่หมายความว่าไม่ให้ปรารถนาสิ่งใด หากแต่เป็นการให้ลดความปรารถนาที่จะครอบครองควบคุมนั่นเอง

ส่วนในจวงจื่อกลุ่มบทในไม่ได้อธิบาย อู๋เหวย ในบริบทของการปกครองอย่างโดดเด่นเฉกเช่น เต๋าเต๋อจิง แต่จวงจื่อเน้นให้ความเข้าใจ อู๋เหวย ในบริบทของปัจเจกบุคคล โดยอธิบายลักษณะและท่าทีของผู้ที่สามารถปฏิบัติ อู๋เหวย หรือสามารถสร้างความกลมกลืนระหว่างตัวตน การกระทำ และโลกที่สัมพันธ์ได้อย่างกลมกลืนเป็นธรรมชาติ ผ่านทักษะและลีลาการแล่เนื้อของพ่อครัวติง (จวงจื่อ บทที่ 3) (ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 60-64) เรื่องราวของพ่อครัวติงนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าจวงจื่อมองการกระทำที่กลมกลืนกับธรรมชาติว่าคือการกระทำที่มาจากทักษะซึ่งสามารถ ลืม การแยกแยะจนกระทำได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม


3. การแปรเปลี่ยน

การที่สำนักเต๋าเสนอให้มนุษย์สัมพันธ์กับโลกด้วยท่าทีอ่อนน้อมเป็นเพราะสำนักเต๋ามองว่าโลกไร้ระเบียบและสรรพสิ่งต่างแปรเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องจนไม่อาจหาจุด เริ่มต้น และ สิ้นสุด ได้ บทที่มีชื่อเสียงในจวงจื่อที่ทำให้เข้าใจเรื่องความแปรเปลี่ยนอย่างโดดเด่นที่สุดคือ บทที่ว่าด้วยจวงจื่อฝันว่าเป็นผีเสื้อ

ครั้งหนึ่งจวงจื่อฝันว่าเป็นผีเสื้อ รื่นเริงลอยร่อนด้วยจิตวิญญาณแห่งผีเสื้ออันแท้ จะรู้ว่ามีตัวตนของความเป็นจวงจื่ออยู่ก็หาไม่ และโดยพลันทันใดนั้นก็ตื่นฟื้นคืนมาพบว่ามีจวงจื่อเป็นตัวตนอยู่จริง จึงไม่แน่ใจว่าจวงจื่อฝันเป็นผีเสื้อ หรือผีเสื้อฝันว่าเป็นจวงจื่อกันแน่ จวงจื่อกับผีเสื้อนั้นย่อมมีตัวตนแยกต่างจากกัน นี่แลจึงกล่าวว่าสรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนสภาวะ

(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 59)

 

โดยทั่วไป ผู้ที่ตีความว่าจวงจื่อเป็นวิมัตินิยม (scepticism) มักใช้บทนี้อ้างเหตุผลสนับสนุนความคิดดังกล่าว กล่าวคือ จวงจื่อกำลังยืนยันถึงการไร้ความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรเป็นโลกแห่งความจริงและโลกแห่งความฝัน แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าบทดังกล่าวไม่ได้แสดงท่าทีวิมัตินิยม เนื่องจากทั้งจวงจื่อและผีเสื้อนั้นย่อมแตกต่างและมีตัวตนที่แยกแยะออกจากกัน  แต่เมื่อทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในสถานการณ์ที่ว่าใครเป็นผู้ฝันและผู้ถูกฝัน  จวงจื่อกลับไม่แน่ใจว่าตนเป็นจวงจื่อจริงๆ ที่เพิ่งเป็นผู้ฝัน หรือว่าผีเสื้อกำลังเป็นผู้ฝันว่าเป็นจวงจื่อในตอนนี้กันแน่  ตรงนี้เองที่นับเป็น การตื่นอย่างแท้จริง เพราะความไม่แน่ใจตรงนี้ทำให้จวงจื่อตระหนักรู้ว่าสรรพสิ่งต่างแปรเปลี่ยนไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างและความหมายได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน แม้กระทั่งตัวตนของเรา เมื่อสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ก็มิอาจแยกแยะได้เหมือนกับที่พบในสถานการณ์ของ ผู้ฝันและ สิ่งที่ฝันถึง ธรรมชาติและจักรวาลจึงเป็นการคละกันระหว่าง การมีสภาวะกับ การไร้สภาวะ ซึ่งทำให้สรรพสิ่งมีความแตกต่างซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตน แต่ก็อยู่ร่วมกันสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว การที่มนุษย์แบ่งแยกและให้ความหมายแก่โลกได้ เป็นเพราะข้อกำหนดของมนุษย์เอง แต่มนุษย์มักคิดว่ามโนทัศน์ในทางภาษาสะท้อนความเป็นจริงของโลก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมนุษย์กระทำต่อโลกในแต่ละสถานการณ์ จึงทำไปโดยตอบสนองต่อมโนทัศน์เหล่านี้ แทนที่จะกระทำโดยลื่นไหลไปตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การเข้าไปจัดการ ควบคุม แทรกแซง และแบ่งแยกอย่างเป็นภววิสัยจึงเป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ ดังที่จวงจื่อกล่าวไว้ในบทสุดท้ายของจวงจื่อ กลุ่มบทในว่า


เจ้าครองสมุทรทักษิณมีนามว่า สู (ว่องไว) เจ้าครองสมุทรทางทิศเหนือมีนามว่า ฮู (ฉับพลัน) ส่วนเจ้ากลางเกษียรสมุทรมีนามว่า หุนตุ้น (ความไร้ระเบียบ) สูกับฮูมักจะไปชุมนุมสำราญกันในอาณาเขตของหุนตุ้น และที่ได้รับการต้อนรับดูแลเป็นอย่างดีเสมอ ทั้งสองจึงปรึกษาหาวิธีที่จะตอบแทนน้ำใจของหุนตุ้น ได้ข้อสรุปว่า มนุษย์ทั้งหลายล้วนมีทวารเจ็ดไว้สำหรับพิศชม ดมดอม ดื่มกิน และสดับฟัง โดยที่หุนตุ้นหามีแม้แต่ทวารเดียวไม่ จึงควรที่จะช่วยกันเจาะทวารให้ ดังนั้น สูกับฮูจึงช่วยกันเจาะทวารให้หุนตุ้นวันละทวาร พอครบเจ็ดวัน หุนตุ้นก็ถึงแก่ความตาย
(ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 167, ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดคำถามได้ว่าแม้โลกจะไร้ระเบียบก็จริง แต่ทำไมสำนักเต๋าไม่เสนอให้จัดการกับความไร้ระเบียบนั้น คำตอบคือ โลกที่ ไร้ระเบียบ ในที่นี้คือโลกที่รวมสรรพสิ่งซึ่งไม่ได้มีความสอดคล้องแบบที่จะหากฎเกณฑ์หนึ่งเดียวเบื้องหลังได้ หากจะจัดระเบียบแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปเองตามธรรมชาติ ก็ต้องคัดเลือกกฎเกณฑ์ของบางสิ่งให้อยู่เหนือสิ่งอื่นๆ แต่สำนักเต๋ามองว่ามนุษย์ไม่ได้มีฐานทางญาณวิทยาที่จะยืนยันได้ว่าเกณฑ์ของมนุษย์หรือของสรรพชีวิตอื่นใดมีความถูก-ผิดเหนือกว่ากัน ดังเช่นที่จวงจื่อตั้งคำถามเพื่อถอดถอนความเป็นศูนย์กลางทางญาณวิทยาของมนุษย์ไว้ว่ามนุษย์ย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะและที่สูงตามต้นไม้ แต่ทำไมปลากลับชอบอยู่ในโคลนตมและลิงกลับชอบห้อยโหนบนต้นไม้ ทั้งมนุษย์ ลิง และปลา ต่างมีกรอบความคิดของตน ใครเล่าคือผู้รู้ในการแสวงหาที่อยู่ที่ถูกต้อง เป็นต้น (ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์, 2540: หน้า 49)

การที่จวงจื่อตั้งคำถามท้าทายต่อกรอบความคิดของมนุษย์ดังกล่าว ทำให้เกิดการถกเถียงว่าจวงจื่อมีแนวคิดเช่นเดียวกับสัมพัทธนิยม (relativism) หรือไม่ หากเราเข้าใจสัมพัทธนิยมว่าเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับสัมบูรณ์นิยม (absolutism) ที่ยืนยันว่ามีความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว ก็อาจกล่าวได้ว่าจวงจื่อห่างไกลจากสัมพัทธนิยมดังกล่าว เพราะแม้จวงจื่อจะมองว่าการเข้าใจโลกจะต้องมองผ่านกรอบความคิดในบริบทสถานการณ์เฉพาะเสมอ แต่จวงจื่อก็ยังยอมรับว่ามีความจริงแท้หรือเต๋าอยู่ ทัศนะของจวงจื่อจึงอาจจัดเป็นสัจนิยมเชิงมุมมอง (perspectival realism) นอกจากนี้ ในแง่ของการปฏิบัติ สัมพัทธนิยมก็มิได้ยืนยันให้เราปฏิบัติตามทฤษฎีใดๆ แต่จวงจื่อเสนอให้มนุษย์มีท่าทีอ่อนน้อม กลมกลืน ลื่นไหลอย่างมีสุนทรีย์ต่อสรรพสิ่ง  

ที่ว่า อย่างมีสุนทรีย์ นั้นมีนัยสำคัญยิ่ง เพราะลักษณะอย่างหนึ่งของท่าทีที่อ่อนน้อมต่อสรรพสิ่งคือการมีอารมณ์หรือจิต/ใจ (ซิน ) ที่โปร่งเบาและรื่นรมย์ การมีจิต/ใจดังกล่าวเป็นทั้งเครื่องมือช่วยปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นจากพันธนาการของกรอบความคิดหรือการแยกแยะทางตรรกะอย่างตายตัว รวมทั้งเป็นเครื่องแสดงว่าเราได้สัมพันธ์กับโลกอย่างกลมกลืนแท้จริง ตัวอย่างเช่น ท่าทีต่อความตาย โดยทั่วไปแล้วความตายของบุคคลใกล้ชิดเป็นเรื่องน่าโศกเศร้า แต่จวงจื่อกลับแสดงให้เห็นว่าความตายมิใช่การสูญเสียและไม่ใช่การสิ้นสุด ความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งทำให้เรามองความตายได้ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปตลอดเวลา การตายอาจมิใช่การสูญเสียอย่างแท้จริง การขับร้องเล่นดนตรีของจวงจื่อในพิธีศพของภรรยาจึงเป็นอาการของผู้ที่เข้าใจความแปรเปลี่ยนของโลกอย่างมีอารมณ์สุนทรีย์
 

ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ (ผู้เรียบเรียง)


เรียบเรียงจาก


·

ศริญญา อรุณขจรศักดิ์. 2547. “ภาษาและความเป็นจริงในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงและจวงจื่อ.” ใน สุวรรณา สถาอานันท์ (บรรณาธิการ). ความเรียงใหม่รื้อสร้างปรัชญาตะวันออก, หน้า 437-519. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

·

Hall, David and Roger T. 1998.  Daoist Philosophy. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. CD-Rom Version 1.0.

·

Hansen, Chad. 2003. Taoism. In Edward N. Zalta (ed.). Stanford Encyclopedia of Philosophy. Available: http://plato.stanford.edu/entries/taoism/. (Accessed date: 27/6/2007).

·

Hansen, Chad. 2006. Chinese Philosophy: Daoism. In Donald M. Borchet (ed.). The Encyclopedia of Philosophy. Second edition. New York: Macmillan, Vol. 2: 184-194.

·

Shen, Vincent. 2003. Daoism (Taoism): Classical (Dao Jia, Tao Chia). In Antonio S. Cua (ed.). Encyclopedia of Chinese Philosophy, pp. 206-214. London: Routledge.


เอกสารอ้างอิง
 

·

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. 2540. คัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

·

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. 2547. คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.

·

สุวรรณา สถาอานันท์. 2539.  กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

·

Hall, David and Roger T. 1998. Daoist Philosophy. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. CD-Rom Version 1.0.


เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม


เอกสารปฐมภูมิ
(คัมภีร์สำนวนแปลภาษาไทย และภาษาอังกฤษ)

·

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. 2540. คัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย. (บทแปลจวงจื่อเฉพาะกลุ่มบทใน ซึ่งเชื่อกันว่าจวงจื่อเป็นผู้ประพันธ์)

·

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. 2547. คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. (บทแปลเต๋าเต๋อจิง พร้อมภาษาจีน มีการแสดงข้อคิดเห็นของผู้แปลเกี่ยวกับการแปลคำสำคัญต่างๆ ในแต่ละบท  และมีภาคผนวกรวบรวม เต๋าเต๋อจิงฉบับภาษาไทยที่ปรากฏในบรรณพิภพไทย)

·

พจนา จันทรสันติ. 2539. วิถีแห่งเต๋า. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย. (บทแปลเต๋าเต๋อจิงพร้อมบทนำและภาคผนวกเกี่ยวปรัชญาเต๋าที่อ่านเข้าใจง่าย)

·

Ch’en, Ku-ying. 1977. Lao Tzu: Text, Notes, and Comments. Rhett Y. W. Young and Roger T. Ames (trans.). San Francisco, CA: Chinese Materials Center, 1977. (บทแปลเต๋าเต๋อจิงที่ใช้เป็นมาตรฐาน มีการให้ข้อคิดเห็นและแนวทางการตีความในแต่ละบท)

·

Graham, Angus (trans.). 1981. Chuang-tzu: The Inner Chapters. London: Allen & Unwin. (บทแปลจวงจื่อ ที่ใช้เป็นมาตรฐาน โดยฉบับแปลของแกรมคงนัยทางปรัชญาไว้ได้เกือบ 85 เปอร์เซ็นต์)

·

Lau, D. C. (trans.). 1963. Laotzu: Tao Te Ching. Baltimore: Penguin Books. (บทแปลเต๋าเต๋อจิง ที่ใช้เป็นมาตรฐาน พร้อมให้ความเข้าใจเบื้องต้นที่อ่านง่าย)

·

Waley, Arthur (trans.). 1934. The Way and Its Power: A Study of the Tao Te Ching and its Place in Chinese Thought. London: Allen & Unwin. (บทแปลเต๋าเต๋อจิงที่ใช้เป็นมาตรฐาน และมีการอภิปรายมโนทัศน์ที่สำคัญในคัมภีร์)

·

Watson, Burton (trans.). 1968. The Complete Works of Chuang Tzu. New York: Columbia UP. (บทแปลคัมภีร์จวงจื่อ ที่ใช้เป็นมาตรฐาน มีการใช้ภาษาแปลที่สละสลวย)


เอกสารทุติยภูมิ

·

สุวรรณา สถาอานันท์. 2539. กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาปรัชญาจีน)

·

ศริญญา อรุณขจรศักดิ์. 2547. ภาษาและความเป็นจริงในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงและจวงจื่อ. ใน สุวรรณา สถาอานันท์ (บรรณาธิการ). ความเรียงใหม่รื้อสร้างปรัชญา, หน้า 437-519. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (เน้นอภิปรายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความเป็นจริงในทัศนะของสำนักเต๋า และถกเถียงว่าสำนักเต๋ามีท่าทีเป็นวิมัตินิยมทางภาษาหรือไม่)

·

Ames, Roger T. (ed.). 1998. Wandering at Ease in the Zhuangzi. Buffalo New York: SUNY Press. (รวมบทความเกี่ยวกับปรัชญาจวงจื่อในประเด็นต่างๆ เช่น บทบาทของความขบขันในจวงจื่อ นัยสำคัญของมิตรภาพระหว่างจวงจื่อกับฮุ่ยจื่อ  และความรู้ที่แท้ในทัศนะของจวงจื่อ)

·

Chang, Chung-yuan. 1963. Creativity and Taoism. New York: Harper & Row. (เป็นงานที่อภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับอิทธิพลของปรัชญาสำนักเต๋าที่มีต่อวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์ของจีน)

·

Graham, A. C. 1989. Disputers of the Tao. La Salle, IL: Open Court. (ให้ความเข้าใจปรัชญาสำนักเต๋าในบริบทของปรัชญาจีนยุคคลาสสิก)

·

Kjellberg, Paul and Philip J. Ivanhoe (eds.). 1996. Essays on Skepticism, Relativism, and Ethics in the Zhuangzi. Buffalo New York: SUNY Press. (รวมบทความเกี่ยวกับประเด็นวิมัตินิยม สัมพัทธนิยมในปรัชญาจวงจื่อ)
· Munro, Donald J. 1969. The Concept of Man in Early China. Stanford: Stanford University Press. (งานศึกษาปรัชญาสำนักเต๋าในประเด็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และจริยศาสตร์)

·

Wu, Kuang-ming. 1982. Chuang Tzu: World Philosopher at Play. New York: Crossroad Publishing. (งานศึกษาและอภิปรายเนื้อหาปรัชญาที่ปรากฏในบทหลักๆ ของจวงจื่อ)


คำที่เกี่ยวข้อง

ปรัชญาสำนักขงจื่อ / พุทธศาสนานิกายเซ็น
Confucianism / Zen Buddhism

 

 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | เชื่อมโยง | ติดต่อเรา


 


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ