1. บทนำ
อัตตาณัติ หรือ “ความเป็นผู้กำหนดตนเอง”
เป็นมโนทัศน์ที่อยู่ในความสนใจของทั้งจริยศาสตร์
ปรัชญาการเมือง
และผู้ที่สนใจปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของเจตจำนง (freedom
of the will)
รวมถึงผู้ที่สนใจประเด็นทางปรัชญาอื่นๆ
มโนทัศน์ดังกล่าวมีหลายบทบาท ทั้งในการอธิบายว่า
"การกระทำ" (action) คืออะไร
“บุคคล”
คืออะไร พันธะทางจริยธรรม (moral obligation)
และความรับผิดชอบทางจริยธรรม (moral
responsibility) เกิดขึ้นได้อย่างไร
รวมถึงยังมีบทบาทในทฤษฎีการเมืองและการแสดงเหตุผลสนับสนุนนโยบายทางการเมืองแนวต่างๆ
อีกด้วย นอกจากนี้
มโนทัศน์นี้ยังมีส่วนสำคัญในแนวคิดเรื่องเหตุผลเชิงปฏิบัติ
(practical reason) ของอิมมานูเอล
ค้านต์ (Immanuel Kant)
แนวคิดเรื่องการปกป้องสิทธิของบุคคลจากการแทรกแซงแบบต่างๆ
แนวคิดเรื่องการศึกษาแบบเสรีนิยม (liberal
education)
ตลอดจนมีบทบาทกับนักคิดกลุ่มสตรีนิยม (feminism)
เข้าใจกันว่ามโนทัศน์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ปกครอง
เป็นเจ้าของ เป็นผู้ออกกฎหรือคำสั่งให้กับตนเอง
(รากของคำว่า “autonomy”
คือคำในภาษากรีกว่า autos
ซึ่งแปลว่า “ตนเอง”
กับคำว่า nomos
ซึ่งแปลว่า “กฎ”)
มโนทัศน์นี้จึงมองได้ว่าต้องเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอิสระอย่างเลี่ยงไม่ได้
กระนั้นรายละเอียดความเกี่ยวพันระหว่างทั้งสองมีความซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจกัน
สารานุกรมนี้จะได้นำประเด็นที่เกริ่นไปบางประเด็นกลับมาพิจารณาให้ละเอียดขึ้นในส่วนต่อๆ
ไป แต่ก่อนอื่นจะขอปูพื้นความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์
“อัตตาณัติ”
ไว้ในบทนำนี้เป็นบางส่วนก่อนดังนี้
คำว่า “autonomy”
มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “heteronomy” (คำว่า
heteros ในภาษากรีกแปลว่า “ผู้อื่น”
หรือ “other”)
คำหลังหมายความอย่างกว้างๆ
ถึงการที่บุคคลหนึ่งตกอยู่ภายใต้กฎหรืออานัติของคนอื่น
ดังนั้นจึงไม่ได้กระทำอะไรเป็นอิสระอย่างแท้จริง
นั่นหมายความว่ามโนทัศน์เรื่อง "อัตตาณัติ"
ดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์เป็นอย่างมากกับมโนทัศน์เรื่อง
“อิสรภาพ” (freedom)
ต่อไปจะได้เห็นว่ามีบางคนเข้าใจว่าที่จริงแล้วทั้งสองเป็นมโนทัศน์เดียวกัน
แต่ก่อนอื่น
ขอให้ข้อสังเกตบางประการเพื่อให้เข้าใจมโนทัศน์อัตตาณัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อันจะเป็นพื้นฐานให้กับส่วนต่อไป
ก. เมื่อเปรียบเทียบกับมโนทัศน์อื่นๆแล้ว
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติเพิ่งจะมีฐานะเป็นมโนทัศน์หลักอันหนึ่งในจริยศาสตร์และปรัชญาการเมืองเมื่อไม่นานนัก
กล่าวคือ เริ่มขึ้นในสมัยทางความคิดที่ให้ความสำคัญกับ
“มนุษย์”
ในฐานะเป็นศูนย์กลางของการแสวงหาความรู้และแสวงหาหลักในการปกครอง
เป็นสมัยที่เรียกว่า “ยุคภูมิธรรม”
หรือ “ยุครุ่งโรจน์ทางปัญญา”
(the Enlightenment) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ในแง่นี้มโนทัศน์ดังกล่าวนี้จึงถือเป็นผลผลิตที่สำคัญของสภาพการณ์ทางความคิดอันซับซ้อนที่เรียกว่า
“สภาวะแบบสมัยใหม่”
(modernity)
ข.
เมื่อพิจารณาเรื่องอัตตาณัติโดยเชื่อมโยงกับเรื่องอิสรภาพแล้ว
อัตตาณัติดูจะมีฐานะเป็นคุณค่าสำคัญ (value)
ที่พึงปรารถนาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เนื่องจากหากปฏิเสธไปเสียแล้ว
ก็ดูเหมือนจะทำให้เราต้องยอมรับสภาวะที่ตรงกันข้าม ได้แก่
ความไร้อิสรภาพ ความจำยอม หรือการตกอยู่ใต้การข่มเหง (oppression)
(ต่อไปเราจะได้เห็นว่าประเด็นนี้อาจมีผู้เห็นต่างออกไปอยู่พอสมควร)
ค.
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติที่มีบทบาทอยู่ในข้อถกเถียงทางปรัชญาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นในทางจริยศาสตร์หรือปรัชญาการเมืองนั้น
มีความแตกต่างกันหลากหลาย ซึ่งสามารถแยกให้เห็นอย่างกว้างๆ
เป็นสองแบบ ดังนี้ (1)
“อัตตาณัติเชิงจริยธรรม” (moral
autonomy)
โดยทั่วไปแล้วหมายถึงความสามารถที่จะออกกฎทางจริยธรรมที่เป็นสากล
(objective moral law) ให้กับตนเอง
ซึ่งอิมมานูเอล
ค้านต์ถือว่าสิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของจริยธรรม
(2) "อัตตาณัติส่วนบุคคล” (personal autonomy)
หมายถึงคุณลักษณะซึ่งบุคคลได้แสดงออกมาในมิติต่างๆ
ของชีวิต
อันสะท้อนถึงการเป็นผู้กำกับการตัดสินใจต่างๆของตัวเอง
นอกเหนือจากการตัดสินใจทางจริยธรรม
ง. อัตตาณัติในข้อ ค. นั้นอาจถือว่าเป็นคนละสิ่งกับ
“อิสรภาพ”
(freedom)
ในแง่ที่ว่าอิสรภาพนั้นคือความสามารถของบุคลที่จะกระทำตามความปรารถนาของตน
โดยไม่มีอุปสรรคจากทั้งภายนอกและภายในมาเหนี่ยวรั้งให้กระทำไม่สำเร็จ
ในทางตรงกันข้าม สำหรับอัตตาณัตินั้น
จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระและความปรารถนา (desire)
ที่แสดง “ความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง”
(authenticity)
บางคนบอกว่าสองมโนทัศน์นั้นต่างกันในแง่ที่ว่าอิสรภาพนั้นเป็นเรื่องของการกระทำแต่ละการกระทำ
ส่วนอัตตาณัตินั้นอยู่ในระดับที่กว้างกว่า คือ
ระดับสภาวะของบุคคล (state of a person)
ผู้เป็นเจ้าของการกระทำ
บางคนก็บอกว่าอัตตาณัตินั้นครอบคลุมได้ทั้งสองระดับ
ตัวอย่างกรณีของคนติดบุหรี่ ถ้าพิจารณาอย่างกว้างแล้ว
คนผู้นี้เป็น “บุคคลที่มีอัตตาณัติ”
(autonomous person)
แต่หากพิจารณาเฉพาะในบางแง่ของชีวิตแล้ว
การติดบุหรี่ทำให้เขาได้สูญเสียความเป็นผู้กำหนดตนเองไปในบางส่วน
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมของเขาในเรื่องบุหรี่
จ. นอกจากนั้นบางคนอาจแยกสิ่งที่เรียกว่า
“อัตตาณัติพื้นฐาน” (basic
autonomy) ออกจาก “อัตตาณัติในอุดมคติ”
(ideal autonomy)
อย่างแรกนั้นเป็นสิ่งที่ถือว่าควรจะพบได้ในผู้ใหญ่ทุกคนที่มีสัมปชัญญะเป็นปกติและไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การบังคับข่มขู่ใดๆ
ส่วนอย่างหลังนั้นถือเป็นเป้าหมายซึ่งมนุษย์ทุกคนควรมุ่งหวังที่จะไปให้ถึง
อันอาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวะที่คนเป็นอิสระอย่างแท้จริง
มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้ไปถึงสภาวะดังกล่าวได้
บทบาทสำคัญของมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติ ณ
ที่นี้ก็คือการเป็นพื้นฐานให้อ้างได้ว่าโดยทั่วไปแล้วทุกคนควรมีความรับผิดชอบในทางจริยธรรมและกฎหมาย
และมีสถานภาพของการเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองเท่าๆ กัน
นอกจากนั้นยังควรได้รับการปกป้องจากการแทรกแซงการตัดสินใจในบางลักษณะ
กล่าวคือควรจะได้รับความเคารพในความสามารถที่เขามีในการตัดสินใจเลือกกระทำ
2.
ความหมายต่างๆ ของอัตตาณัติ
ดังกล่าวแล้วว่ามโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติมีใช้ในบริบทหลากหลาย
ความหมายของอัตตาณัติจึงผันแปรไปไม่มากก็น้อยตามบริบทต่างๆ
โจเอล ไฟน์เบิร์ก(Joel
Feinberg, 1989)
เห็นว่าสำหรับในแง่ที่เกี่ยวกับจริยศาสตร์และปรัชญาการเมือง
อัตตาณัติมีความหมายแบ่งได้อย่างน้อยเป็น 4 แบบ คือ 1)
เป็นความสามารถในการปกครองตนเอง (the capacity to
govern oneself) 2)
เป็นสภาวะของการปกครองตนเองที่เกิดขึ้นจริง (the
actual condition of self government) 3)
เป็นอุดมคติของบุคคล (a personal ideal)
และ 4)
เป็นสิทธิชุดหนึ่งซึ่งแสดงถึงการเป็นเจ้าชีวิตของตนเอง (a
set of rights expressive of one’s sovereignty over
oneself) จะเห็นได้ว่าความหมายทั้ง 4
แบบช่วยให้เข้าใจกว้างๆ เกี่ยวกับอัตตาณัติในฐานะ “การเป็นผู้ปกครองตนเอง”
(self-rule) ได้เจนชัดขึ้น
อัตตาณัติมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ (1)
การใคร่ครวญตัดสินใจเลือกที่เป็นอิสระจากการควบคุมจัดการ (manipulation)
ของบุคคลอื่น และ (2)
ความสามารถในการปกครองตนเอง
หัวใจของมโนทัศน์นี้อยู่ที่องค์ประกอบส่วนที่สอง
องค์ประกอบส่วนที่สองจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบแรกอยู่ก่อน
บุคคลใดจะปกครองตนเองได้
บุคคลนั้นต้องอยู่ในฐานะที่จะกระทำบางอย่างได้ด้วยความสามารถของตนเองและด้วยความปรารถนาที่เข้าใจได้ว่าเป็นของเขาเอง
ด้วยเหตุนี้
ทำให้มีผู้เสนอเงื่อนไขในการพิจารณาว่าคนคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดตนเองหรือไม่ไว้
2 เงื่อนไขด้วยกัน เงื่อนไขแรกเรียกว่า “เงื่อนไขเรื่องความสามารถ”
(competency conditions)
ซึ่งจะประกอบไปด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับการคิดได้อย่างมีเหตุมีผล
การควบคุมตนเองได้ การไม่เจ็บป่วยจนไร้ความสามารถ
การที่ไม่ได้อยู่ในภาวะหลอกตนเอง เป็นต้น
ส่วนเงื่อนไขที่สองเรียกว่า “เงื่อนไขเรื่องความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง”
(authenticity conditions)
อันได้แก่บรรดาความสามารถของบุคคลในการคิดทบทวนและเลือกความปรารถนาตลอดจนคุณค่าต่างๆ
ของตนอย่างที่ตนปรารถนาจริงๆ
การตีความเงื่อนไขประการที่สองที่ยอมรับกันมากที่สุด
เห็นว่าความสามารถดังกล่าวเป็นความปรารถนาในระดับที่สอง (second-order
desires) ยกตัวอย่างเช่น นางสาว ก.
ต้องการหนีเรียน เธอตัดสินใจทำตามความต้องการนั้นเป็นประจำ
แต่เมื่อเธอมาทบทวนดูแล้ว
เธอคิดว่าความต้องการหนีเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เธอจึงปรารถนาที่จะเลิก ในกรณีดังกล่าว “ความต้องการหนีเรียน”
เป็นความปรารถนาระดับแรก ส่วน “ความไม่อยากให้ตัวเองต้องการหนีเรียน”
เป็นความปรารถนาระดับที่สอง
โดยทั่วไปแล้วความต้องการระดับที่สองจะเกิดขึ้นจากการนำความต้องการเดิมที่เรามีอยู่มาไตร่ตรองทบทวนดูอีกครั้งหนึ่ง
นักปรัชญาบางคนบอกว่าความปรารถนาในระดับที่สองนี้
ต้องประกอบด้วยการใช้อำนาจแห่งเจตจำนง (volition)
ในการตัดสินเลือกความปรารถนาระดับแรก
กล่าวคือ
เป็นความปรารถนาที่มุ่งเลือกความปรารถนาระดับแรกตามเจตจำนงที่แท้จริงของตน
ดังนั้น
จึงกล่าวได้ว่าผู้ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขประการที่สองของอัตตาณัติจะยินดียอมรับว่าความปรารถนาระดับแรกต่างๆ
ของเขานั้น เป็นตัวแสดงความเป็นตัวตนของเขาจริงๆ
ก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องกับความปราถนาระดับที่สองของเขา
ถึงแม้แนวความเข้าใจนี้จะได้รับการยอมรับกันมาก
แต่ก็ถูกวิจารณ์อยู่พอสมควร
โดยเฉพาะในเรื่องความไม่ชัดเจนของความคิดเรื่องความเป็นตัวแสดงแทนตัวตนที่แท้จริง
นอกจากนี้
ยังมีข้อวิจารณ์ว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ต้องอธิบายต่อแบบไม่สิ้นสุด
(infinite regress)
กล่าวคือ
มีปัญหาว่าทำไมเราจึงให้น้ำหนักกับความปรารถนาระดับที่สองว่าเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงมากกว่าความปรารถนาในระดับแรก
เป็นไปได้ไหมว่าบุคคลอาจจะตกอยู่ใต้การกดขี่หรือถูกควบคุมจัดการ
จนทำให้การตัดสินใจที่เกิดจากการทบทวนตนเองในระดับที่สองนั้นไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงมากไปกว่าการตัดสินใจในระดับแรก
ในทางตรงกันข้าม การตัดสินใจในระดับที่สูงกว่านั้นจริงๆ
แล้วอาจเป็นเพียงแค่การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (rationalization)
หรือที่จริงเป็นเพียงการหลอกตัวเอง (self-deception)
มากกว่าจะเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนอันแท้จริงของบุคคลนั้น
และนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการอธิบายที่ไม่สิ้นสุด (infinite
regress) ขึ้น
กล่าวคือเราสามารถที่เรียกร้องให้ทดสอบความเป็นตัวของตัวเองของการตัดสินใจระดับที่สอง
(หรือสาม หรือสี่) ของบุคคลหนึ่งได้ต่อไปเรื่อยๆ
แบบเดียวกับที่ทำกับความปรารถนาระดับแรก
แต่กระนั้นก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมื่อไหร่กันที่คำตอบที่เราได้นั้นจะยืนยันถึงความเป็นผู้กำหนดตนเองได้จริงๆ
นักคิดหลายคนพยายามจะหาทางออกให้กับปัญหาที่ว่านี้ด้วยการเสนอเงื่อนไขเพื่อพิจารณาเพิ่มเข้าไปอีก
ซึ่งโดยมากมักจะเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับวิถีทางหรือลักษณะของการทบทวนตรวจสอบความปรารถนาที่บุคคลต้องกระทำ
เช่น ต้องปลอดจากปัจจัยต่างๆ
ที่จะมาทำให้การตัดสินใจนั้นไม่เป็นตัวของตัวเอง
หรือต้องเป็นการตัดสินใจอันมีที่มาที่ไปในเชิงสาเหตุที่เหมาะสม
เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าความเข้าใจอัตตาณัติข้างต้นเน้นไปที่ความสามารถในการคิดทบทวนตนเอง
(self-reflection)
และความเป็นอิสระชนิดที่เรียกว่า “ความเป็นอิสระเชิงกระบวนการ”
(procedural independence) คือ
มุ่งดูที่มาที่ไปในการมีความปรารถนาของบุคคล
โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเนื้อหา (content)
ของความปรารถนาเหล่านั้นแต่นักคิดบางคนเสนอว่ามโนทัศน์อัตตาณัตินี้จะต้องเน้นเรื่อง
“ความเป็นอิสระ”
ที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของความปรารถนาด้วย
คือนอกจากความเป็นอิสระเชิงกระบวนการแล้ว
เรายังควรเน้นพิจารณา “ความเป็นอิสระเชิงเนื้อหาสาระ”
(substantive independence)
ตามความเข้าใจแบบนี้ ผู้ที่เรียกว่ามีอัตตาณัติ
หรือเป็นผู้กำหนดตนเองได้นั้น
ไม่ใช่ว่าจะเลือกรับความปรารถนาหรือคุณค่าใดๆ
มาเป็นของตนก็ได้
เพราะมีความปรารถนาบางอย่างที่มีเนื้อหาเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเรียกได้ว่ามีอัตตาณัติจริงๆ
อย่างไรก็ดี
มีผู้ชี้ว่าผู้ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระในลักษณะนี้ต้องยอมรับในเวลาเดียวกันด้วยว่ามโนทัศน์เรื่องอัตตาณัตินั้น
บังคับให้ต้องยึดถือคุณค่าเฉพาะบางอย่างเอาไว้ด้วย ดังนั้น
อัตตาณัติจึงเป็นไม่เป็นกลางในด้านคุณค่า นั่นคือ
ยึดถือวิถีชีวิตหรือจุดยืนทางการเมืองบางแบบว่ามีความถูกต้องเหมาะสมกว่าแบบอื่น
การเข้าใจแบบนี้บางทีจึงถูกวิจารณ์ว่าอาจจะไปสนับสนุนนโยบายทางการเมืองแบบ
“สมบูรณ์แบบนิยม”
(perfectionist) หรือแนวคิดแบบ “ปิตานิยม”
(paternalism)
ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่เคารพความเป็นผู้กำหนดตนเองของบุคคลอยู่ในที
ประเด็นนี้จะกระจ่างขึ้นในส่วนต่อไป
นักคิดบางคนถือเอาคำอธิบายที่เน้นเรื่องความสามารถในการคิดทบทวนตนเอง
(self-reflection)
เป็นคำอธิบายมาตรฐานของอัตตาณัติ
แนวนี้จะให้ความสำคัญกับการดูประวัติความเป็นมาของบุคคลที่กำลังพิจารณาว่ามีอัตตาณัติหรือไม่
โดยพิจารณาดูกระบวนการที่ทำให้บุคคลมีความปรารถนาและถือคุณค่านั้นๆ
บางคนบอกว่าแนวการอธิบายแบบนี้เป็นการประนีประนอมระหว่างแนวทางการเข้าใจแบบดั้งเดิมที่เน้นความเป็นปัจเจกนิยม
(individualism)
กับแนวทางแบบปิตานิยม
โดยหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการในการเข้าใจตนเองจากความเป็นมาเป็นไปของชีวิตที่มีรากฐานอยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ
ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับรูปแบบความเข้าใจแบบดั้งเดิม
ก็หันมาให้ความสำคัญกับความสามารถของบุคคลในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
คือตัดสินใจได้อย่าง “เป็นกลาง”
หรือ “เป็นวัตถุวิสัย”
(objectively) นั่นคือ
เป็นสากลและไม่ขึ้นกับเงื่อนไขแวดล้อม
คนกลุ่มนี้เห็นว่าข้อพิจารณาเรื่องการใช้เหตุผลในลักษณะนี้สำคัญกว่าข้อพิจารณาว่าความปรารถนาแสดงถึงความเป็นตัวตนจริงๆ
หรือไม่
3.
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติในจริยศาสตร์
3.1
อัตตาณัติตามแนวคิดของค้านต์
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติมีบทบาทสำคัญในทางจริยศาสตร์อยู่สองด้านด้วยกัน
คือ (ก) เป็นตัวแบบของบุคคลผู้มีจริยธรรม (a model of moral person)
กับ (ข)
เป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคลอันทำให้บุคคลอื่นต้องมีพันธะทางจริยธรรมต่อเขา
อิมมานูเอล ค้านต์
เห็นว่าทั้งสองบทบาทดังกล่าวนั้นมีความสัมพันธ์ทางตรรกะต่อกัน
ค้านต์ถือว่าบุคคลแต่ละคนควรเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่เป็นสากลเพื่อบังคับใช้กับตนเอง
(self-imposition of universal moral law)
โดยเขาเห็นว่าความสามารถที่เรียกว่า
“เหตุผลเชิงปฏิบัติ”
(practical reason)
อันช่วยให้บุคคลใช้เหตุผลเลือกกระทำด้วยตนเองนั้น
แสดงว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นอิสระ (free)
การเป็นอิสระของมนุษย์นั้นหมายความว่ามนุษย์สามารถเลือกกระทำได้โดยไม่ขึ้นกับอะไรอื่นนอกจากเจตจำนงของเขาเอง
กฎที่มนุษย์สามารถกระทำตามได้อย่างเป็นอิสระจึงต้องเป็นกฎที่ตัวของมนุษย์เองเป็นผู้กำหนด
และการเป็นผู้กำหนดกฎจริยธรรมมาบังคับใช้กับตนเองนี้เองที่ค้านต์ถือว่าเป็นความหมายของอัตตาณัติ
ตามแนวคิดทางจริยธรรมของค้านต์แล้ว
จริยธรรมเป็นเรื่องของการทำตามกฎ สิ่งที่จะเรียกว่าเป็น
“กฎ”
ได้ก็ต่อเมื่อมีการบังคับใช้อย่างเป็นสากล
มีความแน่นอนตายตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข
หรือที่ค้านต์เรียกว่าเป็น “คำสั่งเด็ดขาด”
(categorical Imperative)
กฎดังกล่าวจึงจะมีพื้นฐานอยู่บนความรู้สึกและความปรารถนาส่วนบุคคลไม่ได้เป็นอันขาด
แม้ว่าเราต้องทำตามกฎจริยธรรม
แต่เราแต่ละคนก็มีอัตตาณัติหรือเป็นผู้กำหนดตนเองได้ในขณะเดียวกัน
นั่นคือ ในกรณีที่เราทำตามกฎที่เราเป็นผู้กำหนด
ในที่นี้จะขออธิบายว่าประเด็นดังกล่าวโดยยกตัวอย่างอิงกับแนวอธิบายของค้านต์ดังนี้
ในขณะที่เราตัดสินใจกระทำอะไรก็ตาม
เราจะต้องตัดสินใจตามหลักคิดหรือแนวคิดที่เป็นเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจกระทำ
(maxim) เสมอ ตัวอย่างเช่น การที่
น.ส. ก. ตัดสินใจเข้าชั้นเรียนสาย อาจจะเป็นเพราะเธอคิดว่า
“ไม่เป็นไร
ฉันจะทำอย่างที่ฉันอยากทำ”
ในเมื่อตอนนั้นเธออยากเข้าชั้นเรียนสาย
เธอจึงตัดสินใจทำตามหลักคิดดังกล่าว คือ เข้าชั้นเรียนสาย
หรืออาจเป็นไปได้ว่าที่เธอตัดสินใจเช่นนั้นก็เพราะเธอมีหลักคิดว่า
“หากต้องเลือกระหว่างการเสียสุขภาพจากการนอนหลับไม่พอกับการเข้าชั้นเรียนได้ทันเวลาแล้ว
ฉันจะเลือกนอนหลับให้พอก่อนเสมอ”
ในเมื่อคืนก่อนหน้านั้นเธอนอนดึก
เธอจึงตัดสินใจตื่นสายและเข้าชั้นเรียนช้ากว่าปรกติ
สำหรับค้านต์แล้วจริยธรรมหรือจริยธรรมเป็นเรื่องของการทำตามกฎ
เราจะเรียกอะไรว่าเป็น
’กฎ’ ได้
สิ่งนั้นต้องถูกบังคับใช้อย่างเป็นสากล
กฎจริยธรรมก็ต้องเป็นสากลด้วย
ค้านต์คิดว่าเราสามารถการกระทำตามกฎสากลข้อหนึ่งหรือชุดหนึ่งไปพร้อมๆกับที่เราทำตามข้อกำหนดของตัวเราเองได้
บนเงื่อนไขที่ว่ากฎสากลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักคิดในการตัดสินใจกระทำที่เราเองมีอยู่
คำถามที่สำคัญก็คือระหว่างหลักคิดของเรากับฐานะความเป็นกฎสากลของมัน
อะไรถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญกว่ากัน
สำหรับค้านต์แล้วอย่างหลังสำคัญกว่า
การกระทำตามหลักคิดของเราเองจะชอบด้วยเหตุผลก็ต่อเมื่อหลักคิดดังกล่าวของเราสามารถมีฐานะเป็นกฎที่สามารถสั่งให้เราทำอะไรได้ด้วย
ค้านต์เห็นว่าการที่เราทำตามหลักคิดของเราเองโดยที่หลักคิดดังกล่าวไม่สามารถใช้บังคับอย่างเป็นสากลได้นั้น
เท่ากับเราเลือกกระทำตามแรงโน้มหรือแรงจูงใจ (incentive)
บางอย่าง เมื่อเราอยู่ในสภาวะเช่นนั้น
ถือว่าเราไม่ได้มีความเป็นอิสระหรือเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
ผู้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงต้อง บังคับ หรือ
กำหนด การกระทำของตนได้ เขาต้องออก กฎ หรือ
กติกา ให้กับตนเอง ในเมื่อกฎจะต้องมีความเป็นสากล
การกำหนดตนเองได้จึงหมายถึงการตัดสินใจเลือกกระทำตามหลักคิดที่เป็นสากล
ค้านต์เสนอให้เราทำตามกฎจริยธรรมอันเป็นสากลเท่านั้น
วิธีหนึ่งในการตรวจสอบว่าเรากำลังทำตามกฎจริยธรรมอันเป็นสากลอยู่หรือไม่ก็คือให้ดูว่า
เวลาที่เราจะตัดสินใจกระทำอะไรนั้น เราสามารถที่จะจงใจ
(หรือปรารถนา) ให้หลักคิดที่เราใช้ตัดสินใจกระทำมีฐานะ
(หรือ กลาย)
เป็นกฎสากลที่ทุกคนต้องทำตามไปด้วยในขณะเดียวกันได้หรือไม่
หากเราสามารถจงใจให้เป็นเช่นนั้นได้
ก็เท่ากับเรากระทำตามกฎสากลอยู่
อย่างไรก็ตามกฎสากลดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ตัวเราเองเป็นผู้กำหนดด้วยในขณะเดียวกัน
ตัวอย่างพื้นฐานอันหนึ่งซึ่งค้านต์ยกขึ้นมาแสดงก็คือการตัดสินใจยืมเงินคนอื่นทั้งๆ
ที่รู้ว่าไม่สามารถจะใช้คืนได้
โดยเขาชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกจริยธรรมหรือเป็นไปตามกฎสากล
หรืออีกนัยหนึ่ง
ผู้กระทำไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
เนื่องจากผู้ที่จะกระทำเช่นนั้นต้องมีหลักคิดในใจว่า
“ฉันสามารถยืมเงินคนอื่นโดยไม่ต้องใช้คืนได้”
หรือ “ฉันจะไม่คืนเงินที่ฉันยืมใครไป”
ในกรณีดังกล่าว
ผู้กระทำไม่อาจจะจงใจให้หลักคิดดังกล่าวกลายเป็นกฎสากลที่ว่า
“ทุกคนที่ยืมเงินผู้อื่นไม่จำเป็นต้องคืนเงินที่ยืมไป”
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง
ผู้ที่เขาขอยืมเงินก็จะต้องตระหนักเช่นกันว่าผู้ยืมจะไม่คืนเงินที่ยืมไป
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมจะไม่ให้ยืมเงิน
เห็นได้ว่าถ้ากฎข้อนี้เป็นสากล จะไม่มีใครให้เงินใครยืม
ดังนั้น
คนที่คิดจะยืมเงินใครโดยจะไม่คืนเงินที่ยืมไปจะไม่สามารถจงใจให้หลักคิดของตนมีฐานะเป็นกฎสากลไปด้วยได้ในขณะเดียวกัน
ในทางตรงข้าม
เขาย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นล่วงรู้ถึงหลักคิดดังกล่าว
คนที่ตัดสินใจทำตามความปรารถนาเช่นนั้นไม่ใช่คนที่ตัดสินใจอย่างเป็นตัวของตัวเอง
หากแต่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มต่างๆ
ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว ผลประโยชน์ หรือ
ความเชื่อบางอย่างที่ฝังหัวอยู่
และถ้าหากเขาเกิดปรารถนาให้เป็นหลักคิดเรื่องการยืมเงินแล้วไม่คืนเป็นหลักคิดที่เขาและทุกๆ
คนถืออยู่เหมือนกัน
ความปรารถนาเช่นนั้นย่อมเป็นความปรารถนาที่ผู้มีสติดีไม่อาจมีได้
เพราะเป็นความปรารถนาที่ทำให้ไม่มีวันได้สิ่งที่ปรารถนา
หรือเป็นความปรารถนาที่ขัดแย้งในตัวเอง
ผู้เห็นด้วยกับค้านต์หลายคนคิดว่าความสามารถของมนุษย์ในการเลือกกระทำตามกฎสากลอย่างเป็นอิสระจากแรงโน้มในลักษณะดังกล่าว
เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมีค่าทางจริยธรรม (moral value)
อันควรเคารพ
ศักยภาพดังกล่าวมาจากการที่มนุษย์ทุกคนนั้นมีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติ
คนที่เป็นผู้กำหนดตนเองจริงๆ
คือคนที่ตระหนักในศักยภาพแห่งการกระทำและรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
และมนุษย์ทุกคนมีพันธะที่จะต้องเคารพต่อคุณค่าดังกล่าว
อันเป็นคุณค่าที่ตนเองก็มีอยู่ด้วย นอกจากนี้
มนุษย์ทุกคนจะต้องพยายามไปให้ถึงซึ่งสถานภาพของการเป็นผู้กำหนดตนเองให้ได้
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวโดยรวมได้ว่าตามทัศนะของค้านต์แล้วอัตตาณัติมีฐานะเป็นทั้งตัวแบบทางจริยธรรมซึ่งเป็นเป้าหมายของการใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติ
และเป็นทั้งคุณสมบัติอันมีอยู่ในตัวของบุคคลซึ่งทุกคนต้องเคารพ
นักคิดที่เดินตามแนวทางแบบของค้านต์ในรุ่นหลังบางคนได้ขยายความเข้าใจเรื่องแหล่งที่มาของคุณค่าทางจริยธรรมอันเกิดจากความเป็นผู้กำหนดตนเองออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
เช่น คริสทีน คอร์สการ์ด (Kristine
Korsgaard, 1996)
เห็นว่าความเป็นผู้กำหนดตนเองนั้นไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานที่ทำให้เราต้องมีพันธะทางจริยธรรม
(moral obligation) เท่านั้น
แต่ยังเป็นพื้นฐานของพันธะที่เกิดขึ้นในระบบที่เป็นบรรทัดฐานทุกประเภท
อันได้แก่ ระบบของกติกาและกฎเกณฑ์ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ทางกฎหมาย
หรือกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
โดยคอร์สการ์ดให้ความสำคัญกับมโนทัศน์ที่เรียกว่า “อัตลักษณ์เชิงปฏิบัติ”
(practical identity)
อันเป็นความเข้าใจตัวเราในขณะที่เราตัดสินใจกระทำอะไรลงไปจากการนำข้อคำนึงเรื่องคุณค่าต่างๆ
มาพิจารณา
สิ่งที่คอร์สการ์ดเห็นต่างไปจากค้านต์ก็คืออัตลักษณ์ดังกล่าวที่แต่ละคนมีนั้น
อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
ถึงแม้อัตลักษณ์เชิงปฏิบัติจะเกี่ยวกับจริยธรรมเป็นหลัก
แต่ก็มีมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริยธรรมด้วย
เราอาจจะเข้าใจอย่างคร่าวๆ ได้ว่า
ตามความคิดของคอร์สการ์ดแล้วอัตตาณัติเป็นพื้นฐานของพันธะทุกชนิด
ในแง่ที่ว่าเป็นความสามารถที่เราทุกคนมีอยู่ในตนเอง
ในอันที่จะกำหนดยืนยันกับตัวเราเองว่าเรามีพันธะที่จะต้องปฏิบัติหรือกระทำบางอย่าง
ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกี่ยวกับจริยธรรมหรือไม่ก็ตาม
3.1.1
ข้อวิจารณ์ที่มีต่อความเข้าใจเรื่องอัตตาณัติของค้านต์
ต่อไปจะกล่าวถึงข้อวิจารณ์ใหญ่ๆ
สองข้อที่มีต่อแนวคิดทางจริยธรรมที่มีฐานอยู่บนความเข้าใจเรื่องอัตตาณัติแบบค้านต์
ข้อวิจารณ์ทั้งสองจะเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นเรื่องฐานะและบทบาทของมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติในทางปรัชญาสังคมและการเมืองซึ่งจะได้พูดถึงต่อไปด้วย
ข้อวิจารณ์แรกมองว่าการยกให้อัตตาณัติเป็นพื้นฐานของพันธะทางจริยธรรมของมนุษย์นั้น
ทำให้พื้นฐานดังกล่าวเป็นเป็นเรื่องของความสามารถเชิงปริชาน
(cognitive
ability) หรือเป็นเรื่องของเหตุผลล้วนๆ
โดยไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก กล่าวคือ
ข้อวิจารณ์นี้เห็นว่าแนวทางการเข้าใจจริยธรรมแบบค้านต์นั้น
ไม่เปิดโอกาสให้มีการตอบสนองทางจริยธรรมโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก
ทั้งๆ ที่ในหลายสถานการณ์
การตอบสนองเชิงอารมณ์ความรู้สึกดูจะเป็นสิ่งที่ผู้มีจริยธรรมควรจะต้องแสดงออกมามากกว่า
เช่น
พันธะของบุพการีที่ต้องมีต่อบุตรไม่ได้มีอยู่แต่ในรูปของการกระทำเท่านั้น
แต่จะต้องมีอยู่ในรูปของอารมณ์ความรู้สึกที่กำกับการกระทำดังกล่าวอยู่ด้วย
คือ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำบางอย่างออกมา
แต่ต้องทำออกมาจากความห่วงหาอาทรด้วย
ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะมีฐานมาจากการที่ค้านต์เข้าใจฐานะของตัวตนหรือสถานภาพของบุคคลซึ่งมีศักยภาพที่จะมอบพันธะให้กับตนเองไปในแง่หนึ่ง
แทนที่จะเป็นอีกแง่หนึ่งซึ่งเป็นไปได้เช่นกัน กล่าวคือ
การที่เรายอมรับและเคารพความสามารถในการเลือกกระทำของบุคคล
ไม่ได้บังคับให้เราต้องเข้าใจ
“ตัวตน” (self)
ของบุคคลผู้นั้นในฐานะเป็น “ผู้รับรู้เข้าใจ”
(ด้วยเหตุผล)
ล้วนๆ
หรือเป็นเพียงบุคคลผู้กำลังไตร่ตรองตามเหตุผลเชิงปฏิบัติเท่านั้น
แต่การตัดสินใจกระทำนั้นสามารถจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์
ความรู้สึก ความปรารถนา ความผูกพันธ์ ความรัก ความรังเกียจ
ความรู้สึกแปลกแยก และรู้สึกสะดวกใจ ทั้งหลายที่เรามีได้
เราสามารถที่จะตัดสินได้ว่าควรหรือไม่ควรมีความรู้สึกเหล่านั้น
เราสามารถที่เลือกยอมรับทางเลือกในการกระทำอย่างเต็มใจและกระตือรือร้นได้
ไม่ใช่เข้าใจอย่างเย็นชาว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่านั้น
ผู้ที่โต้แย้งค้านต์ในแง่ดังกล่าวไม่ได้เชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึกกับเหตุผลนั้นเป็นคุณสมบัติสองอย่างของมนุษย์ที่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกันเหมือนที่ค้านต์เข้าใจ
หากแต่ทั้งคู่ล้วนมีบทบาทอยู่ในการตัดสินใจของมนุษย์
บนความเชื่อที่ว่าเป็นไปได้ที่จะมี “ผู้ใช้เหตุผลอย่างมีหัวใจ”
ซึ่งไม่ได้เป็นเพียง “ผู้สักแต่ว่าใช้เหตุผล”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง
ผู้ที่คิดแบบนี้พยายามนำเรื่องของความรู้สึกให้เข้ามามีความสัมพันธ์กับเรื่องเหตุผลด้วย
ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ค้านต์ทำ
การปฏิเสธความเข้าใจแบบค้านต์ดังกล่าว
ทำให้ที่มาแห่งคุณค่าของมนุษย์ที่ควรเคารพนั้นไม่ได้เป็นแต่เฉพาะเรื่องของศักยภาพเชิงปริชานเท่านั้น
แต่ยังต้องรวมถึงศักยภาพในการมีและใช้ความรู้สึกของแต่ละบุคคลด้วย
ในท้ายที่สุดแล้วความเข้าใจดังกล่าวนี้
จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติไปด้วย
จากการเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจบนพื้นฐานของการไตร่ตรองเลือกด้วยเหตุผล
ไปเป็นการตัดสินใจเลือกที่ให้ความสำคัญกับการใช้อารมณ์ความรู้สึก
ประเด็นคำถามทางปรัชญาที่จะตามมาก็คือ
การที่เราจะตอบได้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่พันธะทางจริยธรรมจะเรียกร้องให้เราต้องแสดงอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง
ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจว่าเราสามารถยอมให้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามามีบทบาทในข้อตัดสินต่างๆที่เกิดจากการไตร่ตรองในขณะที่เราเลือกกระทำได้หรือไม่
ข้อวิจารณ์ข้อที่สองต่อค้านต์เกี่ยวข้องกับเรื่องการไตร่ตรองของบุคคลผู้กำลังจะเลือกกระทำ
ซึ่งค้านต์ถือว่าบุคคลไม่จำเป็นต้องมีการไตร่ตรองจริงๆ
ก็ได้
เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้เลือกกระทำสิ่งต่างโดยไตร่ตรองก่อนเสมอไป
ค้านต์เห็นว่าต้องเข้าใจเกี่ยวกับการไตร่ตรองในฐานะเป็นสมมติฐานว่ามนุษย์ทุกคนนั้นเป็นผู้
สามารถ ตัดสินใจกระทำโดยไตร่ตรองอย่างเหมาะสมได้
และเมื่อไตร่ตรองแล้ว
ทุกคนก็จะได้คำตอบว่าต้องทำตามกฎจริยธรรมอันเป็นสากลชุดเดียวกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการตั้งสมมติฐานในแบบดังกล่าวนั้น
เป็นการถือเสมือนว่าพันธะทางจริยธรรมที่เราทุกคนมี
เป็นพันธะทางจริยธรรมของบุคคลในอุดมคติต่อบุคคลในอุดมคติอื่นๆ
และบุคคลในอุดมคติย่อมมีเหตุผลมากกว่าบุคคลหลายคนตามความเป็นจริง
นั่นย่อมหมายความว่าในบางสถานการณ์แล้วพันธะทางจริยธรรมก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่บุคคล
“มอบให้กับตนเอง” (self-imposed)
อย่างตรงตามความหมายของคำจริงๆ
หรืออีกนัยหนึ่ง
เรามีพันธะทางจริยธรรมที่จะต้องทำตามกฎสากลที่เราเองอาจจะไม่ได้เป็นผู้กำหนดในความเป็นจริง
เพียงแต่ ตามอุดมคติแล้ว
เราสามารถกำหนดกฎดังกล่าวได้เอง
การมองการไตร่ตรองดังกล่าวในลักษณะเป็นสมมติฐานและเป็นอุดมคติเช่นนี้
ทำให้จริยธรรมแบบค้านต์อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับจริยธรรมแบบของเปลโต้อย่างไม่ตั้งใจ
คนที่คิดแบบเพลโต้อาจจะอ้างได้ว่ากฎทางจริยธรรมที่ตายตัวเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนมีพันธะจะต้องทำตามถ้าหากว่าเขาได้ไตร่ตรองอย่างเช่นที่บุคคลในอุดมคติได้กระทำ
การเข้าใจความเป็นผู้กำหนดตนเองในแบบของค้านต์ดังกล่าว
เรียกได้ว่าเป็นการเข้าใจในเชิงกระบวนการล้วนๆ (purely procedural
manner) และอาจทำให้เกิดคำถามได้ว่า
พันธะในทางจริยธรรมจะสามารถเกิดขึ้นมาจากกระบวนการคิดดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมเพียงใด?
กล่าวคือ คุณค่าอันควรเคารพของ “อัตตาณัติ”
ตามความเข้าใจดังกล่าว
จะสามารถผูกมัดให้เราต้องกระทำอะไรบ้าง
ผูกพันเราได้ขนาดไหน และอย่างไร?
3.2
อัตตาณัติในฐานะคุณค่า
การพูดถึงมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติในทางจริยศาสตร์
นอกจากจะมีที่มาจากแนวคิดทางจริยธรรมแบบค้านต์เป็นหลักแล้ว
ก็ยังอาจพบได้ในความคิดของนักจริยศาสตร์ที่สำคัญคนอื่นๆ
ในแง่มุมอื่นๆ
นอกเหนือไปจากการเป็นพื้นฐานของพันธะทางจริยธรรม
ดังที่จะได้พูดถึงในหัวข้อนี้และหัวข้อถัดไป
จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John
Stuart Mill)
นักปรัชญาชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19
เห็นว่าอัตตาณัติมีคุณค่าในตัวเอง
มิลล์ไม่ได้อิงทฤษฎีเกี่ยวกับความสามารถใช้เหตุผลของมนุษย์อย่างที่ค้านต์ทำ
แต่ถือว่าความเป็นผู้กำหนดตนเองนั้นเป็น “องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการเป็นอยู่อย่างมีสุข”
(Mill, 1859: Ch. III)
การมองเช่นนี้ดูเหมือนจะทำให้อัตตาณัติสอดคล้องกับทฤษฎีจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยม
(utilitarianism)
หรือแบบเน้นพิจารณาผลลัพธ์ (consequentialism)
ของมิลล์
ในกรณีนี้อัตตาณัติจะมีฐานะเป็นเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งซึ่งเราพึงเลือก
อย่างไรก็ตาม
มีผู้ชี้ปัญหาว่าเมื่อนำมาพิจารณาตามกรอบความเข้าใจแบบประโยชน์นิยมแล้ว
เราสามารถตั้งคำถามได้ว่าเหตุใดลำพังความสามารถในการพิจารณาไตร่ตรองและเลือกคุณค่าต่างๆ
ซึ่งแต่ละคนมีนั้น จึงถือเป็นสิ่งที่มีค่าในตนเอง
โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ใดๆ ของการมีความสามารถดังกล่าว
เหตุที่ตั้งคำถามได้เช่นนั้นก็เพราะแต่ละบุคคลไม่ได้มีความสามารถในการไตร่ตรองด้วยเหตุผลเท่ากัน
ผลลัพธ์จากการเลือกมีได้หลายทาง
และไม่ใช่ทุกทางจะก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
มิหนำซ้ำบุคคลอาจจะไตร่ตรองตัดสินใจทำร้ายตนเอง
หรือตัดสินใจกระทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นทุกข์
ในกรณีดังกล่าว
ทำไมเราจึงควรคิดว่าอัตตาณัติเป็นสิ่งทรงค่าในตนเอง
หรือทำไมเราจึงยังควรถือว่าอัตตาณัติเป็นสิ่งมีค่าสำหรับทุกคน
หลายครั้ง
ผู้ที่ยึดแนวทางแบบมิลล์มักอ้างว่าอัตตาณัติเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ในความเป็นจริง
ความเป็นผู้กำหนดตนเองนั้นอาจเป็นสิ่งที่มีมีระดับแตกต่างกันได้ตามระดับความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ
ตามระดับวุฒิภาวะ สติปัญญา สุขภาพ นิสัยใจคอ ฯลฯ ดังนั้น
จึงเกิดคำถามว่าทำไมเราจึงควรมองทุกคนว่าเท่าเทียมกันด้วยเหตุดังกล่าว
คำตอบที่มิลล์อาจจะให้ได้ก็คืออันที่จริงแล้วพันธะทางจริยธรรมนั้นไม่ได้มาจากจากความสามารถในการพิจารณาไตร่ตรองและเลือกกระทำที่แต่ละบุคคลมี
หากแต่มาจากการที่แต่ละคน มองตนเอง
ว่ามีความสามารถดังกล่าวอยู่ในตัว
ถึงแม้ความสามารถในการการพิจารณาตัดสินของแต่บุคคลอาจไม่เท่ากัน
แต่เราควรจะมองว่าการตัดสินเลือกเหล่านั้นเป็น
ทางที่เขาเลือกเอง เท่าๆกัน ดังนั้น
จึงควรมองว่าคนเราเท่ากันเพราะว่าสามารถมีทางเลือกเป็นของตัวเองได้เท่าๆ
กัน
เนื่องจากความสามารถในการมีทางเลือกเป็นของตนเองดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกตัวคนอย่างเหมือนๆ
กัน
เราจึงใช้เป็นพื้นฐานของการพึงปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคได้
3.3
อัตตาณัติกับปิตานิยม
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติในทางจริยศาสตร์
ยังมีฐานะเป็นคุณสมบัติของแต่ละบุคคล
ซึ่งสามารถใช้เป็นเหตุผลปกป้องพวกเขาจากการแทรกแซงแบบปิตานิยม
ทั้งในแบบที่ไม่เป็นทางการและเป็นไปตามกฎหมาย
การแทรกแซงบุคคลแบบปิตานิยมนั้น
มีหัวใจอยู่ที่ข้ออ้างที่ว่าเป็นการชอบด้วยเหตุผลที่บุคคลหนึ่งจะแทรกแซงการกระทำหรือการเลือกของอีกบุคคลหนึ่ง
ถ้าหากว่าเขาปราถนาดีและมีความรู้ดีกว่าบุคคลนั้น
นักจริยศาสตร์บางส่วนที่ให้ความสำคัญกับอัตตาณัติเสนอว่าบุคคลทั้งหลายควรได้รับการปกป้องจากการแทรกแซงใดๆ
ไม่ว่าการแทรกแซงนั้นจะกระทำโดยผู้ที่หวังดีและมีความรู้ดีกว่าก็ตาม
เนื่องจากบุคคลแต่ละคนมีสิทธิตัดสินใจเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา
แต่การแทรกแซงนั้นถือเป็นการไม่เคารพต่อความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเองดังกล่าว
ปัญหามีอยู่ว่าถ้าหากความสามารถในการตัดสินใจของบุคคลไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในทันทีทันใด
แต่เพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว
ก็ยังไม่ชัดนักว่าทำไมบุคคลจึงควรได้รับการปกป้องจากการแทรกแซงแบบเหมารวมเหมือนกันไปหมด
โดยทั่วไปแล้ว
การที่เราจะปฏิบัติต่อใครในฐานะที่เขามีความเป็นผู้กำหนดตนเองได้นั้น
บุคคลนั้นน่าจะต้องสามารถกำหนดตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว
เช่น บุคคลนั้นจะต้องโตเป็นผู้ใหญ่
หรือไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ปัจจัยชักนำที่ส่งอิทธิพลให้บุคคลสูญเสียความสามารถในการไตร่ตรองตัดสินใจไป
เช่น อาจจะป่วยหรือมึนเมา
หลายคนจะมองว่าในกรณีดังกล่าวการแทรกแซงแบบปิตานิยมย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควร
4.
อัตตาณัติในปรัชญาสังคมและการเมือง
4.1
อัตตาณัติและความเข้าใจเรื่องตัวตนของบุคคล
เท่าที่ได้พูดไปแล้วจะเห็นได้ว่าอัตตาณัตินั้นเป็นเรื่องของความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างของปัจเจกบุคคล
ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มบุคคล
อย่างไรก็ตามมีผู้วิจารณ์ความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวว่าไม่สอดคล้องกับความเข้าใจโดยทั่วไปที่เรามีต่อตนเองเท่าไหร่นัก
อีกทั้งยังอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเรื่องตัวตน
หรืออัตลักษณ์ (identity)
ซึ่งต่างไปจากความเข้าใจที่มีอยู่จริงๆ
กล่าวคือ
ในความเป็นจริงแล้วเราต่างตกอยู่ภายใต้รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและระเบียบทางวัฒนธรรมต่างๆ
ซึ่งความสัมพันธ์และระเบียบเหล่านั้นมีส่วนอย่างมากในการให้ความหมายว่าแท้จริงแล้วตัวเราคือใคร
เราจำเป็นต้องเข้าใจตัวเราผ่านภาษาซึ่งก็ไม่ใช่สมบัติของเราคนเดียว
อีกทั้งปัจจัยที่คอยก่อรูปคุณค่า ความรู้สึกนึกคิด
และแรงจูงใจต่างๆ
ก็มักมาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมไตร่ตรองของเราเอง
ความพยายามที่จะมองว่าเรามีความเป็นผู้กำหนดตัวเองนั้นแท้จริงแล้ว
ก็คือความพยายามปฏิเสธหรือมองข้ามข้อเท็จจริงอันสำคัญเกี่ยวกับตัวตนของเราไปอย่างมากนั่นเอง
(ดู Taylor, 1991: 33 และ
Bell, 1993: 24-54)
ผู้ที่เชื่อว่าอัตลักษณ์ของบุคคลสัมพันธ์กับ เพศ เชื้อชาติ
วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ อย่างแยกไม่ออกนั้น กำลังพูดถึง
“อัตลักษณ์แบบหนา”
(thick identities) อยู่
พวกเขาเห็นว่าอัตตาณัติแบบปัจเจกบุคคลนั้น จริงๆ
แล้วมีรากฐานจากแนวคิดแบบเสรีนิยม (liberalism)
แนวคิดแบบเสรีนิยมไม่สนใจอัตลักษณ์แบบหนาแต่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลที่เป็นนามธรรมแทน
อีกทั้งละเลยความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับวัฒนธรรม
ประเด็นสำคัญก็คือความเข้าใจแบบเสรีนิยมมองไม่เห็น
“อัตลักษณ์ของกลุ่ม”
เห็นแต่ “อัตลักษณ์ของปัจเจก”
ทำให้ขาดพื้นฐานในการพิทักษ์สิทธิในการปกครองหรือกำหนดตนเองของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ
(ดู Kymlicka, 1995)
บุคคลและกลุ่มบุคคลซึ่งมีอัตลักษณ์ผูกพันกับวัฒนธรรม
จึงมิได้รับการคำนึงถึงและมิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากหลักการหรือนโยบายแบบเสรีนิยมเท่าที่ควร
เช่น
การที่รัฐเสรีนิยมที่เน้นปัจเจกบุคคลออกกฎหมายบังคับใช้แบบเป็นสากลโดยอ้างความเสมอภาค
อาจทำให้บุคคลบางกลุ่มซึ่งยึดถือหลักในการใช้ชีวิตตามแนวทางของวัฒนธรรมหนึ่งร่วมกันอย่างเป็นหัวใจของชีวิต
จำต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวโดยฝืนกับหลักการใช้ชีวิตที่สำคัญนั้น
ในแง่นี้ภาระของการต้องปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่เสมอภาคจริง
เนื่องจากคนกลุ่มหนึ่งต้องถูกบังคับให้ทิ้งสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า
ในขณะที่สิ่งที่มีคุณค่าของคนอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย
คำตอบที่สำคัญของเสรีนิยมต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าวก็คือความเข้าใจเรื่องความเป็นผู้กำหนดตนเองนั้นไม่ได้เรียกร้องให้บุคคลต้องสลัดทิ้งความผูกพันและคุณค่าทั้งหลายที่เขาถืออยู่
หากแต่เรียกร้องให้บุคคลไตร่ตรองเพื่อเลือกกระทำเป็นกรณีๆ
ไป โดยต้องเข้าใจไว้เสมอว่าไม่มีกฎเกณฑ์ คุณค่า
หรือคำสั่งจากวัฒนธรรมใดๆ ที่เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ (ดู
Kymlicka ,1989: 50)
อย่างไรก็ดี
คำตอบนี้ก็ยังไม่ได้แก้ข้อกล่าวหาที่ว่าเสรีนิยมไม่เห็นความสำคัญขององค์ประกอบของตัวตนซึ่งมีรากฐานจากวัฒนธรรม
เนื่องจากหลายครั้งเราจะพบว่าองค์ประกอบของตัวตนในลักษณะดังกล่าว
ไม่ใช่สิ่งที่สามารถนำมาทบทวน เลือกรับ
หรือเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ (ดู Chrisman, 2001)
4.2
บทบาทของอัตตาณัติในการก่อรูปแนวคิดแบบเสรีนิยม
ในที่นี้จะเข้าใจแนวคิดแบบเสรีนิยมอย่างกว้างๆ
ว่าเป็นแนวคิดในทางการเมืองและสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิ
(right)
หรือความยุติธรรม (justice)
โดยแยกต่างหากจากความเข้าใจเรื่อง
“สิ่งที่ดี” (the
good)
รวมทั้งให้ความสำคัญกับสิทธิและความยุติธรรมเหนือเรื่องการแสวงหาสิ่งที่ดีด้วย
พูดอีกนัยหนึ่ง
พวกเสรีนิยมคิดว่าเราสามารถจะพิจารณาว่าอะไรคือความชอบธรรมในการใช้อำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องอ้างถึงความคิดที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี
มโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติมีบทบาทในการช่วยก่อรูปแนวคิดแบบเสรีนิยมอย่างสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรมแบบสัญญาประชาคมของจอห์น
รอลส์
(John Rawls)
หรือเป็นตัวแบบในการเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงบทบาทของมโนทัศน์เรื่องอัตตาณัติในแนวคิดเสรีนิยมที่สำคัญสองประเด็นด้วยกัน
1. บทบาทในข้อถกเถียงเรื่องความเป็นกลางของรัฐ
:
ตามหลักการของแนวคิดเสรีนิยมโดยทั่วไปนั้น
รัฐจะต้องมีความเป็นกลาง (neutrality)
ในการเลือกรับเอาหลักการเรื่องความยุติธรรมตามแนวคิดทางจริยธรรมหนึ่งใดมาใช้
กล่าวคือ
รัฐไม่ควรถือว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรมตามระบบจริยธรรมหนึ่งมีความถูกต้องเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นหลักแห่งความยุติธรรมในทางการเมือง
(คือเกณฑ์ที่จะมาใช้ตัดสินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ในทางการเมือง)
พูดอีกนัยหนึ่งรัฐต้องใช้หลักแห่งความยุติธรรมที่เป็นเอกเทศจากกฎเกณฑ์ของศาสนา
วัฒนธรรม และระบบคุณค่าต่างๆ
หลักแห่งความยุติธรรมดังกล่าวเป็นหลักที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีที่มาจากแนวคิดแบบเสรีนิยมเอง
ทั้งนี้เพื่อจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือความลำเอียงเข้าข้างระบบคุณค่าระบบหนึ่งในหลายๆ
ระบบซึ่งบุคคลยึดถือกันอยู่แตกต่างกัน
การคิดอย่างนี้ดูจะสอดคล้องกับการถือว่าบุคคลทั้งหลายในสังคมเสรีนั้นมีสิทธิเสรีภาพและควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม
มีผู้เสนอว่าปัญหาสำคัญของแนวคิดเรื่องความเป็นกลางชองรัฐแบบเสรีนิยมก็คือตัวแนวคิดแบบเสรีนิยมเองนั้นมีความไม่เป็นกลาง
เนื่องจากในการเลือกรับหลักการแห่งความยุติธรรมนั้น
เสรีนิยมได้มอบบทบาทสำคัญให้กับแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ
แต่การให้ความสำคัญกับอัตตาณัติก็อาจถือได้ว่าเป็นการลำเอียงเข้าข้างระบบจริยธรรมที่เชื่อในการกำหนดตนเอง
ในขณะที่ยังมีระบบจริยธรรมอีกหลายระบบซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว
หรือแม้แต่ในหมู่ระบบจริยธรรมที่เชื่อในเรื่องความเป็นผู้กำหนดตัวเองด้วยกัน
ลักษณะของของอัตตาณัติก็ยังสามารถเข้าใจได้แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย
หลักการแห่งความยุติธรรมแบบเสรีนิยมจึงต้องเลือกเข้าข้างระบบใดระบบหนึ่งอยู่ดี
ผู้วิจารณ์หลายคนจึงบอกว่าแนวคิดแบบเสรีนิยม
โดยเฉพาะแบบดั่งเดิมที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลไม่มีวันที่จะไปถึงซึ่งอุดมคติที่จะไม่ลำเอียงเข้าข้างหรือเป็นกลางจากระบบคุณค่าใดๆ
ได้
2. บทบาทในข้อถกเถียงเรื่อง
“เงื่อนไขการพิจารณารับหลักการ”
:
พวกนักคิดเสรีนิยมมีความเข้าใจที่สำคัญร่วมกันประการหนึ่งว่าบุคคลจะถือคุณค่าใดได้อย่างชอบควรหรือไม่
ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นเลือกรับ
หรือสามารถเลือกรับคุณค่าดังกล่าวได้อย่างมีเหตุผลหรือไม่
และเมื่อพิจารณาการเลือกรับหลักการในระดับของรัฐแล้ว
นักคิดเสรีนิยมอย่างรอลส์
ก็เห็นว่าหลักการที่คอยชี้นำการปฏิบัติงานของสถาบันทางการเมืองใดจะมีความชอบธรรมได้
ก็ต่อเมื่อบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจสถาบันนั้นสามารถพิจารณาเลือกรับหลักการดังกล่าวได้อย่างมีเหตุผล
ข้อคำนึงนี้เองที่พวกเสรีนิยมเรียกว่า “เงื่อนไขการพิจารณารับหลักการ”
(endorsement constraint)
ตัวอย่างเช่นในสังคมประชาธิปไตย
การกำหนดกติกาหรือหลักปฏิบัติใดๆ
ต้องมาจากการเลือกของสมาชิกในสังคม
หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนถกเถียงอย่างใช้เหตุใช้ผลได้ว่าควรจะรับหรือไม่รับหลักการดังกล่าว
ทั้งนี้
กล่าวได้ว่าตราบที่สังคมใช้คุณค่าหรือบรรทัดฐานที่เป็นที่ยอมรับจากเหล่าสมาชิกโดยอาศัยการไตร่ตรองอย่างมีเหตุมีผล
เราจึงจะถือว่าสังคมดังกล่าวให้ความเคารพต่ออัตตาณัติของสมาชิก
ประเด็นดังกล่าวนี้จะเกี่ยวข้องกับทฤษฎีความชอบธรรมแบบเสรีนิยมที่จะได้พูดถึงในหัวข้อต่อไป
4.3
อัตตาณัติกับแนวคิดเสรีนิยมทางการเมือง
โดยทั่วไปกล่าวได้ว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมมีต้นกำเนิดมาจากแนวคิดที่เชื่อในเรื่องสัญญาประชาคม
(social
contract)
ซึ่งวางอยู่บนความคิดเรื่องอธิปไตยของปวงชน (popular
sovereignty)
เสรีนิยมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรมในฐานะหลักการซึ่งบุคคลที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเลือกใช้เป็นกติกาในการปกครองร่วมกัน
มากกว่าที่จะให้ความสำคัญเรื่องของการแสวงหาสิ่งที่ดีร่วมกัน
(collective goods)
อธิปไตยของปวงชนก็คือการที่คนทั้งหลายเป็นผู้ปกครองตัวเอง
แต่ละบุคคลมีเสรีภาพในการแสวงหาสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่สิ่งที่ดีซึ่งพวกเขาแต่ละคนเลือกจะแตกต่างกัน
แนวทางนี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดเรื่องอัตตาณัติของค้านต์
อย่างไรก็ดี
เสรีนิยมอีกแนวหนึ่งเห็นว่าอธิปไตยของปวงชนนั้นโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของการแสดงออกร่วมกันในการตัดสินใจเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล
(collective expression of rational choice)
โดยที่กติกาพื้นฐานของสังคมนั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อไปสู่ความอยู่ดีกินดีของสังคมโดยร่วม
(aggregate citizen welfare)
ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น
แนวทางแบบหลังนี้ได้รับอิทธิพลจากโธมัส ฮอบส์ (Thomas
Hobbes) และนักปรัชญาสำนักประโยชน์นิยม (utilitarianism)
ดังนั้น
จะต้องเข้าใจเสียให้ชัดว่าเสรีนิยมซึ่งให้ความสำคัญกับอัตตาณัติเป็นอย่างมากนั้นก็คือเสรีนิยมแบบที่พยายามเดินตามค้านต์
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดของเสรีนิยมแนวนี้ปรากฏในงานเรื่อง
Theory of Justice
(1971) ของรอลส์
ซึ่งเข้าใจความยุติธรรมว่าคือหลักการทั้งหลายซึ่งเลือกภายใต้สถานการณ์แห่งการตัดสินใจเลือกที่เป็นเหตุเป็นผล
ไม่มีความลำเอียง (unbiased rational decision
making) หรือที่เรียกว่า “ม่านแห่งความไม่รู้”
(veil of ignorance)
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
บุคคลจะเลือกกติกาอย่างเป็นอิสระจากแรงโน้มทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เขาดำรงอยู่
วิธีที่จะได้คำตอบว่าอะไรคือหลักแห่งความยุติธรรมนั้น
รอลส์เสนอให้สมาชิกของสังคมตั้งคำถามกับตนเองว่าถ้าหากเราสลัดเอาสถานภาพทั้งหลายที่เราได้มาด้วยความบังเอิญทิ้งไปให้หมด(เช่น
สภาพร่างกาย ชาติกำเนิด เพศ ฐานะ
ตลอดจนคุณสมบัติเฉพาะตัวทั้งหลาย)
โดยเหลือแต่เพียงความเป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีเหตุผลและการตัดสินใจเป็นของตนเอง
แล้วลองพยายามเลือกกติกาที่จะนำมาบังคับใช้กับทุกคนในสังคม
ซึ่งเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้เงื่อนไขในการตัดสินใจเลือกเช่นเดียวกับเรา
เราจะเลือกกติกาแบบใด
รอลส์เห็นว่าในสถานการณ์แห่งการตัดสินใจดังกล่าว
เราจะเลือกตัดสินใจอย่างมีเหตุผลตามหลักที่เรียกว่า
“ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อเสียเปรียบ”
(maximin)
เพราะในสถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นใครและเราอาจอยู่ในเงื่อนไขที่เสียเปรียบก็ได้
เช่น เกิดมาพิการ ยากจน หรือเป็นชนกลุ่มน้อย
เราย่อมต้องอยากอยู่ในสังคมที่ถือหลักแห่งความยุติธรรมที่คำนึงถึงคนที่เสียเปรียบให้มากที่สุด
เราสามารถเข้าใจหลักแห่งความยุติธรรมซึ่งรอลส์คิดว่าเราต้องเลือกอย่างคร่าวๆ
ได้ว่าสังคมจะต้องแบ่งสรรสิ่งที่มีค่าอย่างเสมอภาค
ยกเว้นบางครั้งที่การแบ่งสรรอย่างไม่เสมอภาคจะให้ประโยชน์กับคนทุกกลุ่มในสังคม
กล่าวคือ
ไม่ทำให้คนกลุ่มที่เสียเปรียบโดยสถานภาพได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ที่ได้เปรียบอยู่แล้วโดยสถานภาพ
รอลส์เชื่อว่าผู้ที่ตัดสินใจหลัง
“ม่านแห่งความไม่รู้”
จะได้คำตอบแบบนี้เหมือนกันทุกคน
อย่างไรก็ดี
แนวคิดของรอลส์ดังกล่าวถูกโจมตีว่าไม่สามารถจะนำมาปฏิบัติได้จริง
เพราะบุคคลไม่สามารถจะเข้าไปอยู่หลัง “ม่านแห่งความไม่รู้”
ได้จริง
ยิ่งกว่านั้นบางคนยังวิจารณ์ว่าแนวคิดเรื่องม่านแห่งความไม่รู้ของรอลส์ยังเป็นแนวคิดที่ลำเอียง
คือให้ค่ากับ “การตัดสินใจด้วยเหตุผล”
มากกว่าการการตัดสินใจแบบอื่นซึ่งอาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า
เช่น
การตัดสินใจที่ให้ความสำคัญกับข้อคำนึงเรื่องความรู้สึกผูกพัน
ความห่วงใย ความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ ดังนั้น
จึงไม่ได้เป็นทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมจริงๆ
ภายหลังรอลส์ได้พัฒนาคำอธิบายทฤษฎีของเขาให้สมบูรณ์ขึ้น
โดยขอให้เราเข้าใจว่าข้อเสนอว่าด้วยหลักการเรื่องความยุติธรรมของเขาเป็น
“การเข้าใจเชิงการเมือง”
(political conception)
ไม่ใช่การเข้าใจแบบอภิปรัชญา (Rawls,
1993)
เขาไม่ได้อ้างว่าทฤษฎีความยุติธรรมของเขาเป็น “ข้อเท็จจริงของโลก”
(fact)
แต่ควรจะเป็นกติกา ข้อตกลง
หรือเครื่องมือบางอย่างที่เรียกว่า “เครื่องมือในการแสดงตน”
(device of representation)
ซึ่งเหล่าพลเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายใช้เพื่อแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับหลักการแห่งความยุติธรรมร่วมกัน
ตามความเข้าใจดังกล่าว
ความยุติธรรมจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ “ฉันทามติที่ซ้อนทับกัน”
(overlapping consensus)
จากความเห็นของพลเมืองที่มีทัศนะทางจริยธรรมอันครอบคลุมรอบด้าน
(comprehensive)
ซึ่งแม้มีความหลากหลาย แต่เป็นทัศนะทางจริยธรรมที่มีเหตุผล
กล่าวคือรอว์ลส์เชื่อว่าพลเมืองที่หลากหลายนั้นสามารถจะยืนยัน
(affirm)
ซึ่งหลักการแห่งความยุติธรรมชุดเดียวกันได้
ถ้ามีทัศนะทางจริยธรรมที่ครอบคลุมรอบด้าน
ถึงแม้จะจริยธรรมดังกล่าวจะเป็นคนละชุดกัน
จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวพยายามจะเปลี่ยนสถานภาพของความยุติธรรมที่แต่เดิมถูกเข้าใจในเชิงปรัชญาอย่างเป็นนามธรรม
ไปสู่ความเข้าใจเชิงปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความชอบธรรม
(legitimacy)
ในการปกครองของรัฐหรือในกติกาของสังคม
ซึ่งทำให้เราสามารถค้นพบฐานที่มาทางจริยธรรมของความยุติธรรมดังกล่าวได้จากกรอบคุณค่าที่ต่างกัน
หนทางแห่งได้มาซึ่งฉันทามติดังกล่าวตามความคิดของรอลส์
ก็คือการที่เราต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลสาธารณะ”
(public reason) และ “การร่วมไตร่ตรอง”
(deliberation) สำหรับรอลส์แล้ว
เราควรจะเข้าใจสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเสียใหม่ว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการช่วยให้เราเข้าถึงกติกาหรือหลักการแห่งความยุติธรรม
แทนที่จะเป็นกลไกที่มีไว้เพื่อระบุว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีร่วมกันของสังคม
รอลส์เห็นว่าบทบาทของอัตตาณัติในภาพความเข้าใจข้างต้นนั้นมีอยู่อย่างสำคัญทีเดียว
เนื่องจากฉันทามติที่เราต้องการแสวงหาจะชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าฉันทามตินั้นได้มาภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอิสระจริงๆ
หรือไม่
พลเมืองทั้งหลายจะต้องเข้าใจว่าตนเองมีความสามารถเต็มที่ที่จะทบทวนเพื่อเลือกรับหรือปฏิเสธมติต่างๆ
ได้บนพื้นฐานของการมีวิจารณญาณและได้รับข้อมูลที่เพียงพอ
ดังนั้น
สภาพแวดล้อมทางสังคมใดที่เหนี่ยวรั้งมิให้พลเมืองมีความสามารถเลือกพิจารณารับหรือปฏิเสธดังกล่าวได้
ก็ย่อมขัดขวางไม่ให้เราไปถึงซึ่งหลักการแห่งความยุติธรรมไปด้วย
ในแง่นี้ความเป็นผู้กำหนดตนเอง
ในฐานะของการตัดสินใจเลือกอย่างมีวิจารณญาณและเป็นอิสระ (free
reflective choice)
จึงมีบทบาทเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในมโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมของจอห์น
รอลส์
พุฒวิทย์ บุนนาค (ผู้เรียบเรียง)
เรียบเรียงจาก
· |
Bell, Daniel. 1993. Communitarianism and
its Critics. Oxford: Clarendon. |
· |
Christman, John. 2001.
Liberalism, Autonomy, and the
Self-Transformation.
Social Theory and Practice
27: 185-206. |
· |
Feinberg, Joel. 1989. Autonomy. In John Christman (ed.).
The Inner Citadel: Essays on Individual Autonomy.
New York: Oxford University Press. |
· |
Kant, Immanuel. 1785. Groundwork for the
Metaphysics of Morals. Mary Gregor (Trans.
and ed.). Cambridge: Cambridge University Press
2005. |
· |
Korsgaard, Kristine M. 1996. The Sources
of Normativity. New York: Cambridge
University Press. |
· |
Kymlicka, Will. 1989.
Liberalism, Community and
Culture. Oxford:
Clarendon. |
· |
---------. 1995. Multicultural Citizenship: A
Liberal Theory of Minority Rights. Oxford:
Clarendon. |
· |
Mill, John Stuart. 1859.
On Liberty. Currin V.
Shields (ed.). New York:
Macmillan 1986. |
· |
Rawls, John. 1971. A
Theory of Justice.
Cambridge, MA: Harvard
University Press. |
· |
---------. 1993.
Political Liberalism.
New York: Columbia University
Press. |
· |
Taylor, Charles. 1991. The
Ethics of Authenticity.
Cambridge, MA: Harvard
University Press. |
· |
Berlin, Isaiah. 1969. Two Concepts of Liberty.
In Four Essays on Liberty. Oxford:
Oxford University Press. (งานคลาสสิกเรื่องความแตกต่างระหว่างเสรีภาพเชิงยืนยันกับเสรีภาพเชิงปฏิเสธ) |
· |
Christman,
John. (ed.). 1989 The
Inner Citadel: Essays on
Individual Autonomy.
Oxford: Oxford University Press.
(หนังสือรวมข้อเขียนร่วมสมัยเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงเรื่องความเป็นผู้กำหนดตนเองในระดับบุคคล
เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการค้นคว้าเพิ่มเติม
ข้อเขียนที่น่าสนใจก็เช่น งานของ
Joel Feinberg
ที่เสนอข้อวิเคราะห์ที่ชัดเจนเรื่องความหมายต่างๆ
ของ ‘ความเป็นผู้กำหนดตนเอง’) |
· |
Dworkin,
Gerald. 1988. The Theory and Practice of Autonomy.
Cambridge: Cambridge University Press. (ว่าด้วยธรรมชาติและคุณค่าของความเป็นผู้กำหนดตนเอง) |
· |
Korsgaard,
Christine. 1996. Creating the Kingdom of
Ends. Cambridge: Cambridge University
Press.
(รวมบทความว่าด้วยทฤษฎีทางศีลธรรมของคานต์และทฤษฎีทางศีลธรรมร่วมสมัย
ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความเป็นผู้กำหนดตนเองในหลายๆ
แง่มุม) |
· |
Miller,
David. (ed.) 1991. Liberty. Oxford:
Oxford University Press. (รวมข้อเขียนเกี่ยวกับเสรีภาพ
หลายชิ้นเกี่ยวข้องกับมโนทัศน์เรื่องความเป็นผู้กำหนดตนเอง) |
· |
Rawls, John.
1971. A Theory of Justice.
Cambridge, MA: Harvard
University Press. (งานจริยศาสตร์และปรัชญาการเมืองระดับคลาสสิก
ข้อเสนอสำคัญคือ
หลักการว่าด้วยความยุติธรรมนั้นเป็นผลมาจากการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผลของบุคคลผู้มีความสามารถกำหนดตนเองได้) |
· |
Rawls, John.
1993. Political Liberalism. New York:
Columbia University Press. (ใน
Lecture II
เป็นข้ออภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของความเป็นผู้กำหนดตนเองในทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม) |
· |
Schneewind,
J.B. 1993. Modern Moral
Philosophy: From Beginning to
End? In P. Cook (ed.).
Philosophical Imagination and
Cultural Memory. Durham,
NC: Duke University Press. (ให้ภาพรวมกว้างๆ
เกี่ยวกับประวัติของจริยศาสตร์สมัยใหม่
โดยเน้นให้เห็นว่ามโนทัศน์เรื่องความเป็นผู้กำหนดตนเองนั้นถือเป็นมโนทัศน์หลักมโนทัศน์หนึ่ง) |
คำที่เกี่ยวข้อง
สิทธิ /
ประชาธิปไตย /
ความเสมอภาค
Rights /
Democracy /
Equality
|