ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด: 16/04/54

 

อเทวนิยม
Atheism

 

1. ความหมายของอเทวนิยม
2. อเทวนิยมในประวัติปรัชญาตะวันตกโดยสังเขป
3. ความแตกต่างจากอไญยนิยม
4. เหตุผลสนับสนุนอเทวนิยม: ความไม่เพียงพอของเหตุผลสนับสนุนความมีอยู่ของพระเจ้า   
5. เหตุผลสนับสนุนอเทวนิยม: ข้อโต้แย้งหักล้างความมีอยู่ของพระเจ้า
6. ข้อโต้แย้งต่ออเทวนิยม
เรียบเรียงจาก
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำที่เกี่ยวข้อง



1.  ความหมายของอเทวนิยม

มีการใช้คำว่า “อเทวนิยม” ในหลายความหมายและเพื่อจุดประสงค์หลายประการ เช่น เมื่อใช้ในบริบททางศาสนาจะหมายถึงศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า หรืออาจใช้เพื่อประณามกลุ่มคนที่ปฏิเสธพระเจ้า เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีนิยามใดที่จะครอบคลุมการใช้คำดังกล่าวนี้ได้ทั้งหมด ในการเรียบเรียงสารานุกรมหัวข้อนี้ จะยึดตามนิยามที่เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในปรัชญาตะวันตก และเป็นนิยามที่ทำให้เข้าใจตามขนบได้ว่านักปรัชญาอย่าง ออกัสติน (Augustine) อไควนัส (Aquinas) จอห์น ล็อค (Locke) จอร์จ เบิร์คเลย์ (George Berkeley) วิลเลี่ยม พาเลย์ (William Paley) เฮนรี่ ลองวิล แมนเซล (Henry Longueville Mansel) จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) พอล ทิลลิค (Paul Tillich) และ จอห์น ฮิค (John Hick) จัดว่าเป็นผู้ที่เชื่อในพระเจ้า ส่วน พอล-เฮนรี่ ฮอลบาค (Paul-Henry Baron Holbach) ลุดวิก บุชเนอร์ (Ludwig Buchner) ลุดวิก ฟอยเออร์บาค (Ludwig Feuerbach) คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) อาร์เธอร์ โชเปนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer) ฟรีดริค นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) และ ฌองปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) เป็นอเทวนิยม ในขณะที่ โธมัส เฮนรี่ ฮักซ์เลย์ (Thomas Henry Huxley) เลสลี สตีเฟ่น (Leslie Stephen) และคลาแรนซ์ แดโรว์ (Clarance Darrow) เป็นอไญยนิยม (agnosticism) หรือผู้ที่เห็นว่าการมีอยู่ของพระเจ้าไม่อาจพิสูจน์ยืนยันหรือหักล้างได้ด้วยเหตุผล

อเทวนิยมคือทัศนะที่ยืนยันถึงการไม่มีอยู่ของพระเจ้า หรือยืนยันว่าข้อความ “พระเจ้ามีอยู่” เป็นเท็จ ผู้ที่เป็นพวกอเทวนิยมจึงมิใช่เพียงสงสัยหากแต่ปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้าด้วย นั่นคือ ยืนยันความเชื่อในการไม่มีอยู่ของพระเจ้า (belief in the nonexistence of God) อเทวนิยมตามความหมายซึ่งเป็นความเข้าใจโดยทั่วไปนี้เรียกว่า "อเทวนิยมแบบยืนยัน" (positive atheism) นอกจากนี้ ยังมี "อเทวนิยมแบบปฏิเสธ" (negative atheism) ซึ่งปราศจากความเชื่อในความมีอยู่ของพระเจ้า (lack of belief in the existence of God) การแบ่งความหมายเช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าปฏิฐานนิยมเชิงตรรกวิทยา (logical positivism) จัดเป็นอเทวนิยมแบบปฏิเสธ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีทัศนะว่าคำพูดใดๆ เกี่ยวกับพระเจ้า รวมถึงข้อความ “พระเจ้าไม่มีอยู่” และ “พระเจ้ามีอยู่” มิอาจตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ เพราะข้อความเหล่านี้ต่างก็ไร้ความหมาย (meaningless) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ที่เป็นอเทวนิยมที่มีท่าทีเชิงยืนยันย่อมมีท่าทีเชิงปฏิเสธ แต่ผู้ที่เป็นอเทวนิยมที่มีท่าทีเชิงปฏิเสธไม่จำเป็นต้องมีท่าทีเชิงยืนยัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสนกับความเข้าใจทั่วไปที่เมื่อกล่าวถึง "อเทวนิยม" ก็จะนึกถึงอเทวนิยมแบบยืนยัน เราอาจเรียกพวกปฏิฐานนิยมว่าเป็นพวก “ไม่ใช่เทวนิยม” (non-theist) แทนการใช้คำว่า "อเทวนิยม" ก็ได้

นอกจากนี้ อเทวนิยมยังอาจมีความหมายอย่างแคบและอย่างกว้างด้วย เนื่องจากแต่ละวัฒนธรรมมีความเชื่อในพระเจ้าแตกต่างกัน ผู้คนส่วนมากมักเชื่อในพระเจ้าตามวัฒนธรรมของตนและปฏิเสธพระเจ้าของวัฒนธรรมอื่น เช่น ชาวโรมันเรียกผู้ที่ไม่ได้นับถือพระเจ้าของตนซึ่งมีลักษณะเป็นเทพปกรนัมว่าเป็นพวกอเทวนิยม เป็นต้น ดังนั้น หากกล่าวว่าอเทวนิยมปฏิเสธความเชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้า เราก็ตั้งคำถามได้ว่า “พระเจ้า” ในที่นี้หมายถึงพระเจ้าในทุกศาสนาและทุกความหมาย หรือหมายถึงพระเจ้าเฉพาะบางศาสนาหรือบางความหมายเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนดังกล่าว จึงควรทำความเข้าใจก่อนว่าพวกเทวนิยมใช้คำว่า“พระเจ้า” ในความหมายและจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ (1) พระเจ้าในทางอภิปรัชญา (metaphysical God) ผู้ที่ใช้คำในความหมายนี้ยอมรับความสำคัญและลักษณะทางอภิปรัชญาบางอย่างของพระเจ้า เช่น ลักษณะที่สมบูรณ์ที่สุด หรือความเป็นจริงสูงสุด เป็นต้น แต่ทัศนะนี้มองว่าการใช้คำพูดหรือคำคุณศัพท์ที่เราใช้อธิบายมนุษย์ (เช่น คำว่า “ความรัก” และ “ชีวิต”) มาใช้สื่อถึงพระเจ้า (เช่นในข้อความ “พระเจ้าคือความรัก” หรือ “พระเจ้าคือชีวิต”) จัดเป็นการใช้คำเชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงเปรียบเทียบ (analogical) เท่านั้น หาได้เป็นการใช้คำแบบมีความหมายตรงตามตัวอักษรไม่ (literal) ทั้งนี้เพราะคำเหล่านี้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่จำกัดของมนุษย์ ส่วนผู้ที่เชื่อว่าคำคุณศัพท์เหล่านี้เมื่อใช้อธิบายพระเจ้าแล้วจะมีความหมายอย่างตรงตัว เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มองพระเจ้าในเชิงมานุษยรูป (anthropomorphic God) หากเปรียบเทียบสองจุดยืนนี้ ถือได้ว่าพระเจ้าในทางอภิปรัชญาเป็นจุดยืนที่ได้รับความนิยมในบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย นักปรัชญาที่สนับสนุนการเข้าใจพระเจ้าเช่นนี้ เช่น ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown ศตวรรษที่ 18) เฮนรี่ ลองวิล แมนเซล (ศตวรรษที่ 19) และ พอล ทิลลิค (ศตวรรษที่ 20) ส่วนนักปรัชญาที่สนับสนุนการมองพระเจ้าในเชิงมานุษยรูป เช่น จอร์จ เบิร์คเลย์ และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ เป็นต้น (2) พระเจ้าในเชิงมานุษยรูปที่ไม่จำกัด (infinite anthropomorphic God) หมายถึงการเข้าใจพระเจ้าจากจุดยืนที่ถือว่าหากคำพูดหรือคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายพระเจ้ามีความหมายตรงตัว คุณลักษณะต่างๆ ที่พระเจ้ามีนั้น ย่อมมีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไร้ข้อจำกัดด้วย เช่น พระเจ้ารักทุกสิ่ง มีสรรพฤทธิ์ ดีอย่างสมบูรณ์ ยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ เป็นต้น (3) พระเจ้าในเชิงมานุษยรูปที่จำกัด (finite anthropomorphic God) หมายถึงการเข้าใจพระเจ้าจากจุดยืนที่ถือว่าแม้คำพูดหรือคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายพระเจ้ามีความหมายตรงตัวก็จริง แต่พระเจ้าก็ทรงมีคุณลักษณ์บางอย่างที่จำกัด เช่น พลังอำนาจ หรือความดี เป็นต้น มิลล์เป็นตัวอย่างของเป็นนักปรัชญาที่เชื่อเช่นนี้

สรุปได้ว่าพวกเทวนิยมยอมรับความจริงของข้อความ “พระเจ้ามีอยู่” โดยคำว่า “พระเจ้า” มีความหมายใดความหมายหนึ่งในสามความหมายข้างต้น ส่วนผู้ที่ปฏิเสธความเชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าของบางศาสนาหรือปฏิเสธความหมายของพระเจ้าอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จะจัดว่าเป็นอเทวนิยมในความหมายแคบ ในบทเรียบเรียงสารานุกรมนี้ จะเจาะจงเฉพาะการปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้าของศาสนาหลักสามศาสนาคือ ศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหนึ่งเดียว (monotheism) ในขณะที่อเทวนิยมแบบกว้างคือคนที่ปฏิเสธความเชื่อในการดำรงอยู่ของสิ่งสูงสุดใดๆ ในทุกรูปแบบและทุกความหมาย มิใช่ปฏิเสธเฉพาะพระเจ้าในศาสนาหลักของตะวันตกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้หากมองในความหมายแคบ นักเทววิทยานิกายโปรเตสแตนท์อย่าง พอล ทิลลิค (Paul Tillich) จึงเป็นอเทวนิยมได้ เพราะทิลลิคปฏิเสธความเชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าตามขนบของเอกเทวนิยม แต่ถ้ามองในแบบกว้าง เขาเป็นเทวนิยมเพราะเชื่อใน "Being-Itself" ในฐานะความเป็นจริงสูงสูงที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้อยู่นอกโลก ไม่ได้มีพลังอำนาจ และไม่มีความสมบูรณ์สูงสุดตามความเข้าใจพระเจ้าในแบบมานุษยรูป
 

2. อเทวนิยมในประวัติปรัชญาตะวันตกโดยสังเขป

การเข้าใจข้อถกเถียงระหว่างเทวนิยมกับอเทวนิยมอาจเริ่มต้นจากความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าเทวนิยมอาศัยความคิดเรื่องการมีผู้กระทำ (agent) มาอธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและจักรวาล โดยทั่วไปเราอธิบายการกระทำและผลของการกระทำที่เกิดขึ้น โดยอ้างถึงมนุษย์ผู้มีเป้าหมายและพลังอำนาจ ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีการปฏิเสธความคิดที่ว่าสิ่งธรรมชาติอย่างพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวเป็นผู้กระทำด้วยตัวเอง มนุษย์อธิบายปรากฎการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติโดยอ้างถึงผู้กระทำที่มีเป้าหมายและพลังอำนาจอย่างพระเจ้า การอ้างถึงพระเจ้าเพื่ออธิบายการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่างๆ นั้น ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่มนุษย์โดยตรงด้วย

เมล็ดพันธุ์ของอเทวนิยมในสังคมตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมแนวคิดในทำนองวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งหาคำอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยสิ่งธรรมชาติด้วยกัน แนวคิดเช่นนี้ซึ่งเริ่มมีมานานแล้วตั้งแต่ปรัชญากรีก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีความพยายามที่จะไม่ใช้พระเจ้าอธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ แต่ก็ยังมีการอ้างถึงพระเจ้าเพื่ออธิบายการกำเนิดและความมีอยู่ของจักรวาล นอกจากนี้ โครงสร้างที่ซับซ้อนและน่าอัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตอย่างพืชและสัตว์ ก็ยังมีการอธิบายว่าเป็นผลงานออกแบบของพระเจ้า ดังนั้น แม้ในสมัยที่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเจริญขึ้น แต่จุดยืนที่ใช้พระเจ้าอธิบายจักรวาลและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอธิบายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วการอ้างเหตุผลจากการออกแบบ (argument from design) ได้ถูกล้มล้างโดยทฤษฎีของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) ในศตวรรษที่ 19 จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอเทวนิยมจจึงเฟื่องฟูเต็มที่ในศตวรรษที่ 19-20 โดยมีนักปรัชญาอย่าง ฟอยเออร์บาค นิทเช่ มาร์กซ์ ฟรอยด์ รัสเซล และซาร์ตเป็นผู้นำ


3. ความแตกต่างจากอไญยนิยม  

ความคิดแบบอไญยนิยมมีประวัติมายาวนาน เพราะเชื่อมโยงกับประวัติความคิดของวิมัตินิยม (scepticism) โทมัส เฮนรี ฮักซ์เลย์ เป็นผู้ใช้คำ “agnosticism” เป็นคนแรกเพื่ออธิบายทัศนะของเขาเกี่ยวกับศาสนา เขามีทัศนะว่าไม่ว่าความเชื่อหรือความไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเหนือธรรมชาติ ต่างก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือเท็จ เพราะเราไม่มีฐานที่สมเหตุสมผลเพียงพอ อไญยนิยมในฐานะที่เป็นจุดยืนทางปรัชญาหมายถึงทัศนะที่ว่าเหตุผลของมนุษย์ไม่อาจเป็นฐานที่สมเหตุสมผลเพียงพอที่จะตัดสินความเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่หรือพระเจ้าไม่มีอยู่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมนุษย์ไม่อาจรู้ได้ด้วยเหตุผลว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่ ดังนั้น พวกอไญยนิยมจึงจัดไม่ได้ว่าเป็นคนที่เชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เป็นพวกที่สงสัยต่อการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของสิ่งสูงสุดหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การสงสัยมีระดับของความหมายที่แตกต่างกัน 3 ระดับ คือ

1) ระดับอ่อน คือผู้ที่เข้าใจมโนทัศน์พระเจ้าและ/หรือสิ่งสูงสุดเหนือธรรมชาติ แต่เป็นผู้ที่ไม่ได้มีความเชื่อหรือความไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าและ/หรือความเป็นจริงสูงสุดนั้น

2) ระดับกลาง คือผู้ที่ยอมรับระดับอ่อน แต่ยอมรับด้วยว่ามนุษย์ไม่อาจค้นพบเหตุผลเพียงพอเพื่อจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าพระเจ้าหรือความเป็นจริงสูงสุดดำรงอยู่

3) ระดับเข้ม คือผู้ที่ยอมรับระดับกลาง แต่ยอมรับด้วยว่าเป็นเรื่องผิดหรือไม่เหมาะสมที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าหรือความเป็นจริงสูงสุด เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลที่เพียงพอเพื่อยืนยันความเชื่อหรือความไม่เชื่อดังกล่าว

ผู้ที่อยู่ระดับอ่อนไม่จำเป็นต้องยึดถือตามอไญยนิยมในฐานะที่เป็นจุดยืนทางปรัชญา เพราะว่าเขาอาจจะประเมินเพียงเหตุผลของเขาเท่านั้น ในขณะที่อไญยนิยมจะต้องยืนยันด้วยว่ามนุษย์ทั้งมวลไม่มีความรู้เพียงพอที่จะตัดสินว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้า ในทางกลับกัน ผู้ที่เป็นอไญยนิยมในฐานะที่เป็นจุดยืนทางปรัชญา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับใดเลยก็ได้ เช่น โซเร็น เคียร์คีกอร์ด (Soren Kierkegaard) มองว่าเป็นความเหมาะสมที่จะเชื่อในพระเจ้าโดยใช้ศรัทธา แม้ว่าเหตุผลของมนุษย์ไม่เพียงพอที่จะตัดสินเกี่ยวกับการดำรงของพระเจ้าก็ตาม 

ในศตวรรษที่ 20 การเคลื่อนไหวทางความคิดของปรัชญาปฏิฐานนิยมเชิงตรรกวิทยากับธรรมชาตินิยม (naturalism) ได้สนับสนุนอไญยนิยมในทางอ้อม กล่าวคือ ปฏิฐานนิยมเชิงตรรกวิทยามองว่าประโยคจะมีความหมายก็ต่อเมื่อสามารถยืนยันความจริงได้ (verifiable) แต่คำพูดเกี่ยวกับพระเจ้าตามขนบของเทวนิยมไม่อาจยืนยันความจริงได้ ดังนั้นจึงไร้ความหมาย ด้วยเหตุนี้ ปฏิฐานนิยมจึงปฏิเสธฐานคติของอไญยนิยมที่ว่าเทวนิยมและอเทวนิยมเป็นจุดยืนที่เข้าใจได้ แต่ยอมรับบทสรุปของอไญยนิยมว่าความเชื่อหรือความไม่เชื่อในพระเจ้าไม่มีฐานที่สมเหตุสมผลรองรับ ในขณะเดียวกัน ธรรมชาตินิยมมองว่าสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้ได้ มีแต่สิ่งที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ธรรมชาตินิยมจึงสนับสนุนอไญยนิยมไปด้วย เพราะได้กันสิ่งสูงสุดเหนือธรรมชาติออกไปจากขอบเขตความรู้ของมนุษย์ นักปรัชญาที่สนับสนุนเทวนิยมในปัจจุบันพยายามโต้แย้งอไญยนิยมและธรรมชาตินิยม โดยยืนยันว่าเทวนิยมเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ก็ยืนยันว่าความเชื่อในพระเจ้านั้นสมเหตุสมผล โดยมีสามแนวทางด้วยกันคือ แนวทางแรก เป็นการโต้แย้งฮูมและค้านท์ โดยยืนยันว่ามีเหตุผลหรือหลักฐานที่สนับสนุนการเชื่อในพระเจ้า แนวทางที่สอง เป็นการยึดถือตามทัศนะของวิลเลี่ยม เจมส์ ในงานเขียนเรื่อง "The Will to Believe" (1897) ซึ่งเสนอว่าเหตุผลในเชิงปฎิบัติย่อมเพียงพอและสมเหตุสมผลสำหรับความเชื่อในพระเจ้า แนวทางที่สาม นักปรัชญาบางคน เช่น อัลวิน แพลนทิงก้า (Alvin Plantinga) โต้แย้งว่าความเชื่อในพระเจ้าสมเหตุสมผลเพราะมิได้เป็นความเชื่อที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่ออื่นเป็นหลักฐานสนับสนุน หากแต่เป็นความเชื่อพื้นฐานที่มีเหตุผลสนับสนุนในตัวมันเองผ่านการมีประสบการณ์โดยตรงกับพระเจ้าในสถานการณ์เฉพาะ โดยสรุปประเด็นที่พวกอไญยนิยมสนใจจึงเป็นการถกเถียงว่าในการสนับสนุนความเชื่อหรือความไม่เชื่อในพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเหนือธรรมชาตินั้น มนุษย์มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่อเทวนิยมจะเป็นพวกที่ไม่เชื่อในพระเจ้า โดยมุ่งโต้แย้งการอ้างเหตุผลพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า เช่น การอ้างเหตุผลเชิงภววิทยา (ontological argument) การอ้างเหตุผลเชิงจักรวาลวิทยา (cosmological argument) และการอ้างเหตุผลจากการออกแบบ เป็นต้น อีกทั้งมุ่งพิสูจน์ว่าปัญหาความไม่สอดคล้องของมโนทัศน์เรื่องพระเจ้าและปัญหาความชั่วร้ายเป็นข้อยืนยันได้ว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนเทวนิยมได้นำอไญยนิยมมาเป็นข้อโต้แย้งอเทวนิยมว่าแม้การอ้างเหตุผลพิสูจน์พระเจ้าจะมีข้อบกพร่อง แต่การพิสูจน์ว่าพระเจ้าไม่มีอยู่ก็ไม่มีหลักฐานเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรใช้ศรัทธาเป็นหลัก อเทวนิยมสามารถตอบโต้ข้อโต้แย้งนี้ได้ด้วยการแสดงให้เห็นว่าการปฏิเสธพระเจ้ามีฐานทางเหตุผลที่เพียงพอ และ การพิสูจน์ ไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจสอบหรือมีหลักฐานยืนยันเสมอไป   
 

4. เหตุผลสนับสนุนอเทวนิยม: ความไม่เพียงพอของเหตุผลสนับสนุนความมีอยู่ของพระเจ้า

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าหัวข้อสารานุกรมนี้จะนำเสนอเฉพาะอเทวนิยมในความหมายแคบที่ปฏิเสธความมีอยู่ของพระเจ้าในเทวนิยมหลักสามศาสนา หากต้องการแสดงว่าอเทวนิยมในความหมายแคบนี้เป็นทัศนะที่ถูกต้อง จำเป็นต้องให้เหตุผลสองลักษณะด้วยกันคือ (1) ต้องให้เหตุผลยืนยันที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าไม่ควรเชื่อในความมีอยู่ของพระเจ้า เพราะถ้าไม่มีหลักการยืนยันเช่นนั้น อไญยนิยมย่อมเป็นท่าทีที่เหมาะสมกว่าการปฏิเสธพระเจ้า (2) ต้องปฏิเสธหรือแสดงความไม่เพียงพอของเหตุผลที่จะยอมรับความเชื่อในพระเจ้า กล่าวคือ เป็นการปฏิเสธข้อยืนยันความเชื่อในพระเจ้านั่นเอง เพราะมิฉะนั้นเหตุผลในการเชื่อพระเจ้า อาจมีน้ำหนักมากกว่าการไม่เชื่อ

การอ้างเหตุผลของเทวนิยมที่นิยมใช้กันมากเพื่อยืนยันว่าพระเจ้ามีอยู่คือการยกความเป็นสากลของความเชื่อในสิ่งสูงสุด โดยอธิบายว่าเป็นเช่นนั้นเพราะพระเจ้าทรงประทานความสามารถทางปัญญาที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจได้ตรงกัน การโต้แย้งการอ้างเหตุผลนี้ทำได้สองทาง คือ (1) ข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้ยืนยันถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า แต่กลับดูเหมือนจะสนับสนุนพหุเทวนิยม (polytheism) ด้วยซ้ำ เพราะแม้ว่ามนุษย์ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเชื่อพระเจ้าก็จริง แต่ก็เชื่อในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ความเชื่อที่ต่างไปจากเทวนิยมแบบเอกเทวนิยมก็พบได้มาก เช่น ในศาสนาฮินดูที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ (2) เราสามารถให้คำอธิบายว่าเพราะเหตุใดมนุษย์มีความเชื่อในพระเจ้าใกล้เคียงกันโดยอ้างถึงธรรมชาติ แทนที่จะอ้างถึงพระเจ้า ตัวอย่างเช่น อาจอธิบายว่าเป็นเพราะมนุษย์ไม่เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ จึงสร้างภาพให้ธรรมชาติอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจที่มีลักษณะเหมือนบุคคล เป็นต้น นอกจากการอ้างเหตุผลนี้แล้ว นักปรัชญาและนักเทววิทยาได้เสนอการอ้างเหตุผลที่สำคัญและมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งรวบรวมไว้พอสังเขปดังนี้

1) การอ้างเหตุผลจากมโนทัศน์เกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะสิ่งที่สมูบรณ์ที่สุด (หรือการอ้างเหตุผลเชิงภววิทยา) ในรูปแบบปัจจุบันอาศัยแนวคิดเรื่องโลกที่เป็นไปได้ โดยอาศัยเหตุผลว่าเป็นไปได้ทางตรรกะที่จะมีสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดในทุกๆ โลกที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีความเป็นไปได้ทางตรรกะว่ามีโลกที่เป็นไปได้อย่างน้อยหนึ่งโลกที่ทุกสิ่งมีบางอย่างบกพร่อง หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดแม้เพียงสิ่งเดียวในโลกนั้นที่มีความสมบูรณ์ เหตุผลดังกล่าวก็จะผิดไป

2) การอ้างเหตุผลจากความมีอยู่ของโลก (หรือการอ้างเหตุผลเชิงจักรวาลวิทยา) การอ้างเหตุผลนี้เห็นว่าโลกเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างง่อนแง่นหรือมีเงื่อนไข (contingent) เพราะอาจมีอยู่หรือไม่มีอยู่ก็ได้ แต่เนื่องจากสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างมีเงื่อนไขย่อมมีสาเหตุ ดังนั้น โลกจึงเกิดขึ้นเพราะสิ่งอื่น แต่หากสิ่งที่สร้างโลกเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างมีเงื่อนไข สิ่งนั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งหมายความว่าสิ่งนั้นจะสร้างโลกไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่สร้างโลกจะต้องมิได้มีอยู่อย่างมีเงื่อนไข หากแต่ต้องดำรงอยู่อย่างจำเป็น ซึ่งสิ่งนั้นก็คือพระเจ้านั่นเอง การอ้างเหตุผลเช่นนี้มีข้อบกพร่องอยู่สองประการด้วยกัน คือ (1) หากการอ้างเหตุผลนี้ถูกต้อง จะยืนยันได้เพียงว่าโลกจำเป็นต้องมีสาเหตุอย่างจำเป็น แต่ไม่ได้ยืนยันว่าสาเหตุที่จำเป็นนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนพระเจ้าแบบที่เสนอโดยเทวนิยมหลักทั้งสามศาสนา (2) การอ้างเหตุผลนี้อาศัยความคิดที่ว่าสิ่งที่ง่อนแง่นหรือดำรงอยู่อย่างมีเงื่อนไขจะต้องมีสาเหตุ แต่มิได้อธิบายให้เหตุผลรองรับความคิดดังกล่าว 

3) การอ้างเหตุผลจากสิ่งมีชีวิตอย่างพืชและสัตว์ว่าเป็นการออกแบบของพระเจ้า แม้ว่าการอ้างเหตุผลนี้จะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงโดยทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน แต่ภายหลังได้มีการเสนอการอ้างเหตุผลขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยข้อมูลว่าการที่จักรวาลของเราเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้เป็นเพียงหนึ่งในความเป็นไปได้ที่หลากหลายที่จักรวาลของเราจะเป็นได้ ถ้าหากมีเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่คลาดเคลื่อนแตกต่างไปแม้เพียงเล็กน้อย จักรวาลของเราก็จะไม่มีลักษณะอย่างที่เป็นอยู่นี้ เช่น มีความเชื่อว่าจุดกำเนิดของเอกภพ หรือ Big Bang เริ่มต้น ณ เวลาเศษเสี้ยวของวินาทีที่ 10-43 นาที จากนั้นในช่วงเวลา 10-37 ถึง 10-32 วินาที เอกภพได้เกิดการพองตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาอันแสนสั้นที่น่ามหัศจรรย์นี้ บางตำแหน่งอาจมีการกระจายความหนาแน่นของพลังงานสูงกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย บริเวณเหล่านี้มีมวลสารที่ทำปฏิกิริยากันกลายเป็นดวงดาวและกาแลกซีในเวลาต่อมา หากการขยายตัวของจักรวาลเป็นไปอย่างช้าหรือเร็วกว่านี้ หรือหากมีสิ่งใดไม่เป็นอย่างที่เกิดแม้เพียงนิดเดียว ชีวิตต่างๆ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้ของจักรวาลของเราจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ จึงน่าที่จะสรุปว่าการที่จักรวาลเป็นเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ความบังเอิญ หากแต่ต้องมีผู้ออกแบบคือพระเจ้า อเทวนิยมโต้แย้งว่าการอ้างเหตุผลนี้มีฐานคติว่าจักรวาลของเรามีเพียงหนึ่งเดียวและเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ถ้าจักรวาลที่เราอยู่นี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ จักรวาลที่ได้เกิดขึ้นและดับสูญไป ก็มิใช่จะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีจักรวาลอย่างน้อยหนึ่งจักรวาลที่มีเงื่อนไขและกฎธรรมชาติที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น แน่นอนว่าจักรวาลที่เราอยู่คือจักรวาลที่มีเงื่อนไขเหล่านั้น ดังนั้น การเกิดจักรวาลที่มีเงื่อนไขและกฎธรรมชาติที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต จึงมิใช่เรื่องที่ไม่มีความเป็นไปได้ดังที่ว่า  

4) การอ้างเหตุผลเชิงจริยธรรม โดยทั่วไปมีอยู่สามขั้นตอน คือ (1) ยืนยันว่ามีความจริงทางจริยธรรมที่เป็นภววิสัย (objective) นั่นคือ สิ่งที่ถูกย่อมถูกและสิ่งที่ผิดย่อมผิด โดยไม่ขึ้นกับความคิดความรู้สึกของมนุษย์ผู้ใด (2) ยืนยันว่าความจริงทางจริยธรรมที่เป็นภววิสัยนี้ ได้มาจากสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดความจริงนั้น (3) ยืนยันว่าถ้าไม่มีผู้คอยยังให้เกิดความสุขทุกข์แก่มนุษย์ที่เชื่อฟังหรือละเมิดจริยธรรม มนุษย์ก็จะขาดแรงจูงใจในการทำตามจริยธรรม การอ้างเหตุผลนี้ถูกวิจารณ์ว่าต่อให้มีพระเจ้าอยู่จริง เราก็กล่าวไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งถูกจริยธรรมเพราะว่าพระเจ้าทรงกำหนด จริงๆ แล้วควรจะเป็นในทางตรงข้าม คือ ที่พระเจ้าทรงกำหนดให้กระทำสิ่งนั้น ก็เป็นเพราะว่าสิ่งนั้นถูกจริยธรรม นอกจากนี้ หากการปฏิบัติทางจริยธรรมไม่สัมพันธ์กับความสุขทุกข์ (เช่น ผู้ที่ทำดีก็อาจเป็นทุกข์ได้) ก็ไม่นับเป็นเรื่องไร้เหตุผลแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนเห็นว่าการทำตามจริยธรรมในตัวมันเองก็คือรางวัลแล้ว ไม่จำเป็นต้องคาดหวังผลอื่นใดจากการทำดีนั้น

5) การอ้างเหตุผลจากประสบการณ์ทางศาสนา การที่เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับบางสิ่ง ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะให้เราสรุปว่าสิ่งนั้นมีอยู่ เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้คิดเป็นอื่นได้ เช่นเดียวกัน การที่มีคนมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้สรุปได้ว่ามีพระเจ้า อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าการอ้างเหตุนี้มีจุดอ่อนสำคัญสามประการด้วยกันคือ (1) โดยทั่วไป เรามีความเข้าใจอยู่ก่อนมีประสบการณ์จริงว่าถ้าเกิดมีประสบการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะรับรู้อะไร เช่น เรารู้ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดได้พบเจอสุนัขหรือแมว แต่ในกรณีของพระเจ้า เราคิดไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรหากได้พบกับพระเจ้าจริงๆ (2) ในกรณีของการรับรู้สิ่งทางกายภาพ เรารู้เงื่อนไขว่าในกรณีใดเราสรุปได้ว่าการรับรู้ของเราผิดพลาด เช่น กรณีที่เราเห็นอยู่คนเดียวแต่คนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกันกลับไม่เห็น แต่ในกรณีของพระเจ้า เราไม่อาจคิดถึงเงื่อนไขเช่นเดียวกันนี้ได้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่นับเป็นข้อดี เพราะการที่เราระบุเงื่อนไขไม่ได้ว่าการรับรู้พระเจ้าของเราเป็นการรับรู้ที่ผิดพลาดหรือไม่ ไม่ได้เป็นข้อสนับสนุนว่าการรับรู้ของเราถูกต้อง (3) สมมุติว่าเรามีประสบการณ์ทางศาสนาจริง ประสบการณ์ก็คงไม่ละเอียดพอที่จะบอกได้ว่าพระเจ้าทรงมีลักษณะอย่างที่เทวนิยมของสามศาสนาหลักบรรยายกัน เช่น ทรงเป็นพระผู้สร้าง มีพลังอำนาจที่สมบูรณ์ หรือทรงเป็นนิรันดร์ เป็นต้น         
 

5. เหตุผลสนับสนุนอเทวนิยม: ข้อโต้แย้งหักล้างความมีอยู่ของพระเจ้า
 

ผู้ที่สนับสนุนอเทวนิยมเสนอเหตุผลสนับสนุนการไม่มีอยู่ของพระเจ้าสองแนวทางด้วยกันคือ 1) แสดงให้เห็นความไม่สอดคล้องกันในมโนทัศน์เรื่องพระเจ้า หรือทำให้เห็นว่ามโนทัศน์เรื่องพระเจ้าไม่อาจเข้าใจได้ (unintelligible) ตัวอย่างเช่น คุณลักษณะความเป็นสัพพัญญูของพระเจ้า (omniscience) ไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของความไม่แปรเปลี่ยน (immutability) ซึ่งครอบคลุมถึงตัวพระองค์เอง พระประสงค์ หรือความรู้ของพระองค์ นักเทวนิยมเห็นว่าพระเจ้าทรงไม่แปรเปลี่ยน มิฉะนั้นก็จะหมายความว่าพระองค์ไม่ทรงสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่คุณลักษณะนี้ก็ขัดกับความเป็นสัพพัญญู นั่นคือ ถ้าพระเจ้าทรงรู้ทุกอย่าง เมื่อมีสิ่งใดเปลี่ยนไป พระองค์ย่อมต้องทรงรู้ด้วย แต่สิ่งนี้จะหมายความว่าพระองค์มีบางอย่างที่แปรเปลี่ยนไป ได้แก่ ความรู้ อีกตัวอย่างคือคุณลักษณะความสมบูรณ์แบบทางจริยธรรม (moral perfection) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นอิสระของพระเจ้า (freedom of the divine) ถ้าพระเจ้าทรงสมบูรณ์แบบทางจริยธรรม พระองค์ย่อมทรงกระทำแต่สิ่งที่ดี ในขณะเดียวกัน ถ้าพระองค์ทรงมีอิสระ ก็แปลว่าสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้นเป็นไปด้วยการเลือกของพระองค์เอง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความมีจริยธรรมของพระเจ้าอาจเป็นข้อจำกัดอิสรภาพของพระองค์เอง มีสองทัศนะที่เสนอมาสำหรับทำความเข้าใจว่าอะไรคือความเป็นอิสระ ทัศนะแรกมองว่าพระเจ้าทรงมีความเป็นอิสระ เพราะไม่มีสิ่งภายนอกพระองค์ที่จะกำหนดพระองค์ได้ ทัศนะที่สองมองว่าพระเจ้าทรงเป็นอิสระ เพราะพระองค์ทรงสามารถกระทำหรือระงับการกระทำของพระองค์ได้ ทั้งสองทัศนะแตกต่างกันตรงที่ทัศนะแรกมองความเป็นอิสระคือการไม่ถูกบังคับควบคุมด้วยปัจจัยภายนอกของผู้กระทำ ส่วนทัศนะที่สองมองความเป็นอิสระคือการมีทางเลือกที่หลากหลายและสามารถเลือกที่จะไม่เลือกได้ ทัศนะแรกมีปัญหาเพราะแม้พระเจ้าจะอิสระจากสิ่งภายนอก แต่สิ่งที่อยู่ภายในพระองค์อาจทำให้พระองค์ไม่อิสระได้ เช่น ความสมบูรณ์แบบทางจริยธรรมของพระองค์ย่อมกำหนดว่าพระองค์ต้องทรงเลือกกระทำแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น ส่วนทัศนะที่สองก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะการที่พระเจ้าทรงดีอย่างสมบูรณ์จะทำให้พระองค์ทรงไม่สามารถเลือกที่จะไม่การกระทำสิ่งที่ดีได้

นอกจากนี้ มโนทัศน์เกี่ยวกับการสร้างของพระเจ้าก็ขัดกับสิ่งที่พระองค์สร้าง กล่าวคือ ฟิสิกส์ได้พิสูจน์แล้วว่ามวลสารแตกตัวได้ แต่สูญสลายไม่ได้ (eternity of matter) นอกจากนี้ จำนวนของมวลสารมีอยู่เท่าเดิมตลอดเวลา ข้อยืนยันนี้ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าออกทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เพราะหากเป็นเช่นที่ฟิสิกส์พิสูจน์ จะเป็นไปไม่ได้ว่ามีช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีมวลสารหรือมีมวลสารจำนวนน้อยกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อโต้แย้งนี้จะมีน้ำหนักเมื่อเข้าใจด้วยว่า การสร้าง ของพระเจ้าคือการสร้างจากจุดที่ไม่มีอะไรเลย แต่อไควนัสได้ชี้ให้เห็นว่า การสร้าง ของพระเจ้ามีอีกความหมายหนึ่งคือสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างจะไม่มีอยู่ หากไม่มีพระองค์ทรงคอยจัดการ พระเจ้าจึงทรงเป็นผู้สร้างในแง่ผู้จัดการสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว ซึ่ง การสร้าง ในความหมายนี้ไม่ได้ขัดกับทัศนะของพวกสสารนิยม (materialism)

ส่วนการพิสูจน์ว่ามโนทัศน์พระเจ้าไม่อาจเข้าใจได้ อเทวนิยมโต้แย้งการมองพระเจ้าในเชิงมานุษยรูปว่าหากพระเจ้าคือพระจิต ซึ่งมิต้องใช้สมองเพื่อควบคุมการกระทำ เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรง ยุติธรรม” “รักมนุษย์” “มีอำนาจเป็นต้น ในเมื่อเราเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ในกรอบของผู้กระทำที่มีร่างกาย ปัญหาดังกล่าวทำให้ทิลลิคปฏิเสธการมองพระเจ้าในเชิงมานุษยรูป และยืนยันพระเจ้าทางอภิปรัชญาเท่านั้น ทิลลิคมองว่าพระเจ้าทรงอยู่เหนือสิ่งจำกัดใดๆ ในโลก ดังนั้น คำต่างๆ ที่มีความหมายในกรอบประสบการณ์มนุษย์ จึงมิได้บรรยายลักษณะของพระเจ้าโดยตรง มีเพียงคำพูดเดียวที่ใช้เอ่ยถึงพระเจ้าได้โดยตรงและเหมาะสม คือ พระเจ้าในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่ในตนเอง” (God as Being-Itself) ซึ่งหมายความว่าพระเจ้าดำรงอยู่อย่างจำเป็น และไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์สำหรับความมีอยู่ของพระองค์ ส่วนคำอื่นๆ เช่น ยุติธรรม” “ดี” “รักเป็นต้น ล้วนใช้ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเราจะใช้คำใดก็ได้เป็นสัญลักษณ์เพื่อกล่าวถึงพระเจ้า บางสัญลักษณ์ก็ไม่เหมาะสมหรือไม่มีเหตุผล ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพิจารณาเลือกว่าควรใช้คำใด เช่น สัญลักษณ์ พ่อ” “การเยียวยา” “พระราชา สามารถบ่งชี้สิ่งสูงสุดได้ เป็นต้น

2) ยกปัญหาความชั่วร้าย (problem of evils) ปัญหานี้ทำให้เห็นชัดเจนว่ามโนทัศน์เรื่องพระเจ้ามีความไม่สอดคล้องภายใน และเป็นการอ้างเหตุผลของอเทวนิยมที่มีน้ำหนักมากจนกระทั่งทุกวันนี้ กล่าวคือ การที่จักรวาลมีบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์นั้น ไม่สอดคล้องกับความสมบูรณ์สูงสุดของพระเจ้า ถ้าหากพระเจ้าทรงรักมนุษย์ ทรงมีความรู้อย่างสมบูรณ์ ทรงมีอำนาจ และทรงไว้ซึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ ทำไมโลกที่เราอยู่จึงมีความชั่วร้ายเกิดขึ้นมากมาย อะไรคือเหตุผลที่จะอธิบายได้ว่าความชั่วร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ขัดกับลักษณะต่างๆของพระเจ้า คำว่า ความชั่วร้ายในที่นี้รวมถึงความไม่รู้ หรือความสงสัยของมนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดคำถามได้ว่า หากพระเจ้ามีอยู่จริง เพราะเหตุใดพระองค์จึงไม่ทำให้มนุษย์รู้แน่ชัดว่าพระองค์มีอยู่จริง นิตเช่กล่าวว่า ถ้ามีพระเจ้าที่ไม่ใส่ใจว่าความต้องการของพระองค์จะเป็นที่รับรู้หรือไม่ เราจะเรียกพระเจ้าเช่นนี้ว่าทรงเปี่ยมด้วยความดีอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร นักเทวนิยมบางคนอธิบายว่าความชั่วร้ายมีอยู่ก็เพื่อให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของความดี บางคนก็อธิบายว่ามนุษย์ไม่อาจเข้าใจจิตใจหรือแผนการของพระเจ้าซึ่งไร้ข้อจำกัดได้ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่อาจเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกได้ บางท่านก็ว่าความชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง หากแต่คือการขาดหายไปของความดี หรือไม่ก็อธิบายว่าความชั่วร้ายเกิดขึ้นก็เพราะมนุษย์ใช้เจตจำนงเสรีที่พระเจ้าประทานให้ในทางที่ชั่วร้ายเอง หรือไม่ก็อธิบายว่าโลกที่ไม่มีความชั่วร้าย เป็นโลกที่ไม่มีเจตจำนงเสรี ดังนั้น จึงเป็นโลกที่ดีน้อยกว่าที่เป็นอยู่ เป็นต้น แต่การอธิบายดังกล่าวก็ก่อให้เกิดคำถามได้เช่น หากแม่ที่สูญเสียลูกไป เพราะถูกฆ่าข่มขืน พระเจ้าต้องการให้ตระหนักถึงความดีอะไร จึงให้เผชิญกับความชั่วร้ายที่หนักขนาดนี้ ในเมื่อพระองค์ทรงสรรพัญญูและทรงมีอำนาจเต็มเปี่ยม พระองค์ทรงกระทำอย่างอื่นแทนได้หรือไม่ เป็นต้น
 

6. ข้อโต้แย้งต่ออเทวนิยม

สำหรับข้อโต้แย้งต่ออเทวนิยมที่เรียบเรียงไว้ในที่นี้ เป็นข้อโต้แย้งที่นอกเหนือจากการอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีอยู่ของพระเจ้า ผู้เสนอบางท่านมีจุดยืนว่าแม้การอ้างเหตุผลพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าจะยังมีข้อบกพร่อง แต่อเทวนิยมเองก็ยังคงประสบปัญหาบางประการเช่นกัน

1) ความน่าพิศวงของจักรวาล ไม่ว่าอเทวนิยมจะวิพากษ์วิจารณ์เทวนิยมอย่างไร แต่อเทวนิยมก็เป็นทัศนะที่ยอมรับไม่ได้ เพราะไม่ได้เสนอคำตอบต่อปัญหาต้นกำเนิดจักรวาล จอห์น ไทน์ดอล (John Tyndall) นักฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 19 ได้ปฏิเสธอเทวนิยม โดยยกเหตุการณ์ที่นโปเลียนชี้ไปที่ดวงดาวแล้วถามนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าว่า ใครเป็นผู้สร้างดาวทั้งหมดนั้น?” คำถามนี้แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่อาจหาคำตอบได้อย่างแน่ชัด หากจะอธิบายว่าจักรวาลมีอยู่เช่นนี้อยู่แล้ว ข้อน่าพิศวงเรื่องต้นกำเนิดก็ยังมิได้หายไปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อเทวนิยมอาจตอบโต้ข้อวิจารณ์นี้ได้สองแนวทางด้วยกัน คือ (1) คำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดจักรวาลเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสม เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่ามีสิ่งที่เรียกว่า จักรวาล”  คนมักเข้าใจว่าจักรวาลเป็นที่รวมของสิ่งต่างๆ และอาจเป็นเพราะตัวภาษาเองที่ทำให้เข้าใจว่า จักรวาลบ่งถึงบางสิ่งเหมือนกับเวลาที่เราใช้คำว่า แมวตัวนี้หรือ "อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ซึ่งต่างก็ชัดเจนว่าบ่งถึงสิ่งใด คำถามเรื่องต้นกำเนิดจะมีความหมายกับสิ่งเฉพาะเหล่านี้เท่านั้น เมื่อเข้าใจผิดไปว่า จักรวาลเป็นเหมือนสิ่งเหล่านี้ จึงคิดว่าสามารถตั้งคำถามถึงต้นกำเนิดของจักรวาลได้ (2) สมมติว่าคำถามเรื่องต้นกำเนิดจักรวาลเป็นคำถามที่เหมาะสมและเป็นคำถามที่ไม่อาจหาคำตอบได้ แต่ข้อวิจารณ์นี้ก็ไม่ได้หักล้างอเทวนิยมอยู่ดี เพราะแม้อเทวนิยมจะอธิบายเรื่องต้นกำเนิดไม่ได้ แต่อเทวนิยมก็ยังอ้างได้ว่าจุดยืนของเทวนิยมเองก็ยังตอบปัญหาเรื่องความชั่วร้ายไม่ได้เช่นกัน

2) อเทวนิยมแฝงท่าทีว่าตนรู้ทุกอย่างเหมือนพระเจ้า นักเทววิทยานิกายโปรแตสแตนท์ในศตวรรษที่ 19 หลายคนยกการอ้างเหตุผลแบบลดทอนไปสู่ความไร้สาระ (reductio ad absurdum) ว่า อเทวนิยมจะรู้ว่าตนถูกต้องหรือไม่ก็ต่อเมื่อต้องรู้ทุกสิ่ง เพราะการจะรู้ได้ว่าไม่มีพระเจ้า แสดงว่าต้องสำรวจจักรวาลทั้งหมดในทุกช่วงเวลาว่าไม่มีร่องรอยของพระเจ้าอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน โรเบิร์ต ฟลินท์ (Robert Flint) อธิบายให้ชัดขึ้นว่าเป็นเรื่องยากที่อเทวนิยมจะพิสูจน์ว่าไม่มีพระเจ้า การพิสูจน์ดังกล่าวยากกว่าการสำรวจเกาะที่ไม่รู้จักทุกตารางนิ้วเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าเกาะนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิต เพราะจักรวาลนั้นกว้างใหญ่ บุคคลที่สามารถรู้ได้ว่าไม่มีพระเจ้าต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ทุกอย่างและสถิตอยู่ทุกที่ (omnipresence) เหมือนพระเจ้า ดังนั้น ผู้ที่ยืนยันว่าไม่มีพระเจ้าก็กำลังทำทำตนไม่ต่างจากพระเจ้านั่นเอง อย่างไรก็ตาม การอ้างเหตุผลนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะหากพิจารณาวิธีการของอเทวนิยม ไม่ว่าจะในเรื่องการโต้แย้งการอ้างเหตุผลสนับสนุนความมีอยู่ของพระเจ้าหรือการวิจารณ์ว่าปัญหาความชั่วร้ายมีความขัดแย้งกับมโนทัศน์เรื่องพระเจ้านั้น ก็จะเห็นได้ว่าอเทวนิยมปฏิเสธพระเจ้าได้โดยไม่ต้องรู้ทุกอย่างเหมือนพระเจ้าก่อน นอกจากนี้ การบอกว่า พระเจ้าทรงมีอยู่ไม่เหมือนกับการบอกว่า ม้านิลมังกรมีอยู่กล่าวคือ เป็นไปได้ที่ถ้าหากเราสำรวจไปทุกที่บนโลก ไม่เจอม้านิลมังกร ก็ไม่ได้ยืนยันว่ามันไม่มีอยู่จริง เพราะมันอาจอยู่ในส่วนอื่นของจักรวาล แต่พระเจ้าไม่เหมือนกัน เพราะพระองค์ทรงเป็นพระจิต ความมีอยู่ ของพระองค์ จึงไม่เหมือนวัตถุ  การสำรวจไปทั่วจักรวาลแล้วไม่พบพระองค์ ก็มิอาจสรุปได้ว่าพระองค์มีอยู่หรือไม่มีอยู่ อเทวนิยมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าตนต้องรู้ทุกอย่างและสถิตทุกแห่งจึงจะยืนยันได้ว่าไม่มีพระเจ้าอยู่

3) อเทวนิยมทำให้ชีวิตมืดมนหม่นหมองและไร้พลัง อเทวนิยมมักถูกมองในแง่ร้ายว่าเป็นพวกไร้จริยธรรม เป็นพวกทำลายชาติ หรือเป็นเชื้อร้าย ดังนั้น จึงมีข้อโต้แย้งว่าหากอเทวนิยมถูกต้อง ชีวิตย่อมไร้ความหมายและทำให้ไม่มีเป้าหมายของชีวิต ชีวิตจะโดดเดี่ยวและเต็มไปด้วยความหม่นหมอง โศกเศร้า หากจักรวาลนี้ไม่มีความรักของพระเจ้า โลกนี้ย่อมมีความรักน้อยลงมาก นอกจากนี้ วิลเลี่ยม เจมส์ มองว่าอเทวนิยมเป็นอันตรายต่อความกระตือรือร้น เพราะศรัทธาในศาสนาเป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้เรามีอิสระ มีพลัง มีความอดทน และความกล้าหาญในสมรภูมิประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตต่อข้อโต้แย้งดังกล่าวสี่ประการ (1) การบอกว่าอเทวนิยมทำให้ชีวิตไร้ความหมาย คำว่า ไร้ความหมายในที่นี้หมายถึงอะไร หากหมายความว่าพวกอเทวนิยมดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย ก็คงจะไม่ใช่ หรือหมายความว่าพวกอเทวนิยมมีจุดหมายของชีวิตก็จริง แต่มิอาจให้เหตุผลกับการกระทำของตนได้เนื่องจากไม่มีพระเจ้าเป็นเครื่องอธิบาย ในความเป็นจริงมีคนที่เชื่อในพระเจ้ามากมาย แต่ก็มิได้ให้เหตุผลกับการกระทำของตนโดยอ้างถึงเจตจำนงของพระเจ้า ดังนั้น การที่อเทวนิยมไม่ได้อธิบายชีวิตของตนด้วยพระเจ้า ก็มิได้นำไปสู่ชีวิตที่ไร้ความหมายเสมอไป อเทวนิยมอาจใช้เกณฑ์อื่นอธิบายก็ได้ เช่น ความสุข” “ปัญญาความรู้ เป็นต้น (2) เจมส์ไม่ได้ให้หลักฐานยืนยันชัดเจนว่าคนที่ไม่เชื่อพระเจ้าจะมีชีวิตที่กระตือรือร้นน้อยกว่าผู้ที่เชื่อพระเจ้า การปฏิเสธหรือยอมรับอะไรก็ตามเกี่ยวกับอภิปรัชญา อาจมีผลกระทบไม่มากต่อการมีชีวิตที่กระตือรือร้น นักบินอวกาศชาวรัสเซียซึ่งไม่เชื่อพระเจ้า ก็มีพลัง ความกล้าหาญ ความอดทน เหมือนกับนักบินอวกาศชาวอเมริกันที่เชื่อในพระเจ้า (3) ความเชื่อมโยงระหว่างความรักของพระเจ้ากับความรักบนโลก มีข้อที่น่าสงสัยว่ามนุษย์จะสามารถรักสิ่งที่มีพลังอำนาจที่มองไม่เห็นอย่างพระเจ้าได้อย่างมากมายและลึกซึ้งหรือไม่ อีกทั้งจะเป็นไปได้หรือที่มนุษย์จะหยุดรักสัตว์และมนุษย์ด้วยกันเนื่องจากพวกเขาไม่ได้เชื่อในพระเจ้า สมมติว่ามนุษย์เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีศาสนา ก็ยังเป็นไปได้ที่มนุษย์ยังมอบความรักให้กัน (4) การที่คนมองอเทวนิยมว่าเป็นปรัชญาแห่งความหม่นหมองโศกเศร้า อาจไม่ใช่เพราะอเทวนิยมปฏิเสธพระเจ้าโดยตรง แต่อาจเป็นเพราะการปฏิเสธพระเจ้านำไปสู่การปฏิเสธชีวิตหลังความตาย แต่พวกอเทวนิยมอย่าง เจ. อี. แมคแท็กการ์ต (J. E. McTaggart) มองว่าการที่เขาไม่เชื่อในชีวิตอมตะหลังความตาย ก็ไม่ได้ทำให้เขาต้องดำเนินชีวิตอย่างหม่นหมองแต่อย่างใด หรืออย่างรัสเซลและฟรอยด์ที่มองว่าการเชื่อในพระเจ้าและชีวิตอมตะหลังความตายเป็นมายา (illusion) เป็นต้น

ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ (ผู้เรียบเรียง)

เรียบเรียงจาก
 

·

Edwards, Paul. 2006. Atheism. In Donald M. Bochert (ed.). The Encyclopedia of Philosophy. Second Edition. New York: Macmillan, Vol. 1: 356-377.

·

James, George Alfred. 1987. Atheism. In Mircea Eliade (ed.). The Encyclopedia of Religion. New York: Macmillan, Vol. 1: 479-490.

·

Rowe, William L. 1998. Agnosticism. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. [CD-Rom Version 1.0].

·

Rowe, William L. 1998. Atheism. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. [CD-Rom Version 1.0].

·

Smart, J. J. C. 2004. Atheism and Agnosticism. In Edward N. Zalta (ed.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy. <URL=http://plato.stanford.edu/entries/atheism-agnosticism>.


เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
 

·

Gale, R. 1991. On the Nature and Existence of God. Cambridge: Cambridge University Press. (เน้นข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความสอดคล้องกันของมโนทัศน์พระเจ้า และการอ้างเหตุผลหลักๆ เพื่อพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า)

·

Hume, D. 1981. Dialogues Concerning Natural Religion. Edited with introduction by N. Kemp Smith. Indianapolis, IN: Bobbs-Merrill. (ข้อโต้แย้งของฮูมต่อการอ้างเหตุผลเชิงการออกแบบ และเชิงจักรวาลวิทยา)

·

Huxley, T. 1893-95. Collected Essays Vol. 5. London: Macmillan.  (อธิบายแนวคิด “อไญยนิยม” และทัศนะของฮักซ์เลย์เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์)

·

Kant, I. 1787. Critique of Pure Reason. Translated by N. Kemp Smith. London: Macmillan (Second edition, 1933). (งานหลักของค้านท์เกี่ยวกับความสามารถและข้อจำกัดในเหตุผลของมนุษย์  เป็นงานที่อ่านยาก)

·

Mackie, J. L. 1982. The Miracle of Theism. Oxford: Oxford University Press. (ศึกษาการอ้างเหตุผลพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้าอย่างละเอียด และวิพากษ์วิจารณ์เทวนิยม

·

Martin, M. 1990.  Atheism: A Philosophical Justification. Philadelphia, PA: Temple University Press.      (ให้ความเข้าใจต่อการอ้างเหตุผลพิสูจน์ความมีอยู่พระเจ้าแบบต่างๆ  และให้เหตุผลสนับสนุนอเทวนิยมที่หลากหลาย)

·

Mill, J. S. 1874. Three Essays on Religion. London: Longmans, Green & Co. (บทความหลักๆ ของมิลล์เกี่ยวกับศาสนา ทั้งเรื่องธรรมชาติของศาสนา ประโยชน์ของศาสนา และเทวนิยม)
· Plantinga, A. 1981. Is Belief in God Properly Basic? Nous 15 (1): 41-51. (โต้แย้งว่าบางความเชื่อก็สมเหตุสมผลแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยัน โดยความเชื่อในพระเจ้าเป็นหนึ่งในความเชื่อประเภทนั้น)
· Quinn, P. 1985. On Finding the Foundations of Theism. Faith and Philosophy 2 (4): 469-86. (วิพากษ์วิจารณ์ทัศนะที่ว่าความเชื่อในพระเจ้าสมเหตุสมผล เพราะเป็นความเชื่อพื้นฐานที่เหมาะสม)
· Rowe, W. L. 1979. The Problem of Evil and Some Varieties of Atheism. American Philosophical Quarterly 16 (3): 335-41. (การอ้างเหตุผลที่ให้หลักฐานสนับสนุนอเทวนิยมจากปัญหาความชั่วร้าย).
· Swinburne, R. 1979. The Existence of God. Oxford: Oxford University Press. (เน้นพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า และแก้ปัญหาความชั่วร้าย)
· Thrower, J. 1971. A Short History of Western Atheism. London: Pemberton Publishing Co. (ประวัติพัฒนาการของเทวนิยมตะวันตกอย่างย่อ  ซึ่งอ่านเข้าใจง่าย)


คำที่เกี่ยวข้อง

ญาณวิทยาศาสนา / การอ้างเหตุผลสนับสนุนการมีอยู่ของพระเจ้า / ปัญหาความชั่วร้าย
Epistemology of Religion / Arguments for the Existence of God / Problem of Evil

 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | เชื่อมโยง | ติดต่อเรา


 


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ