ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด: 16/04/54

 

เหตุผลนิยม ประสบการณ์นิยม
Rationalism – Empiricism

 

1. บทนำ
  
1.1 เหตุผลนิยม
  
1.2 ประสบการณ์นิยม
2. ข้อถกเถียงระหว่างเหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยม
  
2.1 ข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย
   2.2 ข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
เรียบเรียงจาก
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

คำที่เกี่ยวข้อง

 

 

1. บทนำ

เหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยมมีบทบาทสำคัญในปรัชญาสาขาทฤษฎีความรู้ (theory of knowledge) หรือญาณวิทยา (epistemology) ซึ่งสนใจปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรู้ของมนุษย์ ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความรู้ของมนุษย์คือลักษณะหรือธรรมชาติของความรู้ ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่ใช้ในการตอบปัญหาดังกล่าวก็คือเรื่องแหล่งที่มาของความรู้ (source of knowledge) ของมนุษย์ กล่าวอีกอย่างก็คือเกณฑ์สำหรับพิจารณาสิ่งที่เราสามารถเรียกได้ว่าความรู้นั้นก็คือแหล่งที่มา ประเด็นเรื่องแหล่งที่มานี้ก็คือข้อถกเถียงเหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยมนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งสองแนวคิดนี้ดูเหมือนจะเป็นที่เข้าใจและรับรู้ในหลากหลายรูปแบบ ในบทความนี้จะกล่าวถึงเหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยมในรูปแบบที่กว้างที่สุด หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นความคิดพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของแนวคิดทั้งสอง

โดยทั่วไป เหตุผลนิยมจะมีทัศนะว่ามนุษย์สามารถมีความรู้ต่างๆ ได้โดยอาศัยเหตุผล ประสบการณ์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถให้ความรู้แก่เราได้ มนุษย์จำต้องใช้เหตุผลในการที่จะได้มาซึ่งความรู้ต่างๆ ด้วย สำหรับประสบการณ์นิยมนั้นก็จะเห็นตรงกันข้าม กล่าวคือ มนุษย์จะสามารถมีความรู้ต่างๆ ได้นั้นจะต้องอาศัยประสบการณ์โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสองแนวคิดมีพื้นฐานที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับข้อถกเถียงต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาระหว่างทั้งสองทฤษฎีที่ว่านี้ และแม้ว่าทัศนะแบบเหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยมจะมีมาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่ามีนักปรัชญาบางคนในสมัยกรีกก็มีความคิดในลักษณะทำนองนี้อยู่เช่นกัน แต่อิทธิพลและความเข้มข้นของการถกเถียงระหว่างสองแนวคิดที่ว่านี้ที่ส่งผลต่อวงการปรัชญานั้นได้เริ่มขึ้นในยุคที่เรียกว่าปรัชญาสมัยใหม่ คือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ดังเราจะได้เห็นในรายละเอียดตามหัวข้อต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ หากผู้อ่านสังเกตคำนี้จะเป็นคำคู่ มิได้แยกเป็นเหตุผลนิยมหรือประสบการณ์นิยม ก็เนื่องจากงานเขียนชิ้นนี้มุ่งให้ความสำคัญในประเด็นข้อถกเถียงระหว่างสองแนวคิดนี้นั่นเอง จึงทำให้อาจต้องละเลยรายละเอียดบางอย่างของแต่ละแนวคิดไป

1.1 เหตุผลนิยม

คำว่า “rationalism” มีรากศัพท์จากภาษาละตินคำว่า “ratio” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “reason” และหมายความถึง เหตุผล ในภาษาไทย เหตุผลนิยมเป็นทัศนะทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะทางความคิดของมนุษย์ในการได้มาซึ่งความรู้ ได้แก่ การใช้เหตุผลแบบก่อนประสบการณ์ (a priori reason) ซึ่งเนื้อหาของความรู้จากเหตุผลจะแสดงออกมาในรูปประโยควิเคราะห์ (analytic statement) และวิธีการเข้าถึงพื้นฐานแห่งความรู้ของนักคิดกลุ่มนี้ก็จะยึดถือวิธีการนิรนัย (deduction) เป็นสำคัญ ภาพความเข้าใจกว้างๆก็คือ เป็นทัศนะที่เน้นบทบาทหรือความสำคัญของเหตุผล รวมไปถึงอัชฌัตติกญาณ (intuition) ในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของความรู้

นักปรัชญาในอดีตที่มีทัศนะในทำนองนี้มีอยู่มากพอควร คนเด่นๆเช่น พาร์มินิเดส (Parmenides) เซโนแห่งเอเลีย (Zeno of Elea) เพลโต (Plato) เซนต์ออกัสติน (St. Augustine) แต่เมื่อกล่าวถึงนักเหตุผลนิยมแล้ว จะละเลยไม่พูดถึงนักปรัชญากลุ่มนี้ไม่ได้เด็ดขาด นั่นก็คือ นักเหตุผลนิยมภาคพื้นทวีปยุโรป (continental rationalists) ประกอบไปด้วย เรอเน เดส์การ์ต (Rene Descartes: 1596-1650) เบนเนดิค เดอ สปิโนซา (Benedict de Spinoza: 1632-1677) และก็อตฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz: 1646-1716) ซึ่งมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานสำคัญให้กับแนวคิดแบบเหตุผลนิยม

เดส์การ์ตส์ได้แบ่งความคิด (ideas) หรือมโนทัศน์ (concepts) ของมนุษย์ออกเป็นสามประเภท คือความคิดจากภายนอก (adventitious ideas) ความคิดจากการสร้าง (factitious ideas) และความคิดแบบที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด (innate ideas) เดส์การ์ตส์อธิบายว่าความคิดแบบแรกได้จากประสบการณ์กับโลกภายนอก ความคิดแบบที่สองสร้างขึ้นด้วยจินตนาการ และความคิดแบบที่สามมีอยู่กับตัวเรามาแต่ดั้งเดิม โดยได้รับมาจากพระเจ้า ความคิดสองประเภทแรกอาจขาดความแจ่มแจ้งและชัดเจน (clear and distinct) หรือขาดความเที่ยงตรงในการแสดงถึงความเป็นจริง ต่างจากความคิดแบบติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งมีความบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นกับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสและไม่อาจคิดจินตนาการขึ้นเองได้ ความคิดที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจะมีปรากฏอย่างแยกไม่ออกอยู่ในการคิดใช้เหตุผลของจิต และความจริงในตนเอง (self-evident truth) ของความคิดแบบนี้รู้ได้ก็ด้วยเหตุผล ตัวอย่างที่สำคัญของความคิดที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น รูปทรงเรขาคณิตที่สมบูรณ์แบบ หรือความคิดเรื่องพระเจ้าที่ทรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์แบบ เนื่องจากความสมบูรณ์แบบไม่อาจหาได้ในโลก จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าความคิดเกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิต หรือความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าได้มาจากประสบการณ์หรือการคิดจินตนาการบนพื้นฐานประสบการณ์อันจำกัดของมนุษย์

ไลบ์นิซก็มีความคิดเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเช่นกัน ไลบ์นิซโต้แย้งฝ่ายประสบการณ์นิยมที่เห็นว่าพื้นฐานความรู้ทั้งมวลคือประสบการณ์ เนื่องจากเห็นว่าความรูปแบบก่อนประสบการณ์ (a priori) ไม่อาจอธิบายได้อย่างเพียงพอ ถ้าถือว่าการให้เหตุผลสนับสนุน (justification) ว่าสิ่งหนึ่งๆ เป็นความรู้นั้น จะต้องอาศัยข้อมูลจากประสาทสัมผัสเท่านั้น ไลบ์นิซเห็นว่าในอันที่จะเข้าใจความรู้ประเภทนี้ได้ ควรยอมรับว่ามีมโนทัศน์และประพจน์บางอย่างที่มีอยู่ภายในจิตของมนุษย์อยู่แล้ว นอกจากนี้ไลบ์นิซยังแบ่งความจริงออกเป็นสองประเภทคือ ความจริงจากเหตุผล (truth of reason) และความจริงจากข้อเท็จจริง (truth of fact) ไลบ์นิซเห็นว่าความจริงจากเหตุผลเป็นความจริงที่แน่นอนตายตัวเกี่ยวกับความเป็นจริงในโลกภายนอก การปฏิเสธความจริงแห่งเหตุผลจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในตัวเอง (contradiction) ตัวอย่างของความจริงประเภทนี้ที่ยกกันบ่อยคือกฎทางตรรกวิทยา เช่น กฎแห่งเอกลักษณ์ (law of identity) ส่วนความจริงจากข้อเท็จจริงเป็นความจริงที่ได้จากประสบการณ์ สามารถปฏิเสธได้โดยไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งในตัวเอง ความจริงเช่นนี้ไม่เป็นสากล เป็นจริงได้ด้วยความบังเอิญ และเป็นจริงกับบางสิ่งในควาเป็นจริงของโลกภายนอกเท่านั้น

สำหรับสปิโนซ่า เขาได้แบ่งความรู้ของมนุษย์ออกเป็นสามระดับคือ ความเห็น (opinion) เหตุผล (reason) และอัชฌัตติกญาณ (intuition) ความรู้ระดับความเห็นนั้นได้มาจากการสังเกตข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ซึ่งสปิโนซ่าเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือและมีโอกาสผิดพลาดได้มาก ความรู้ระดับเหตุผลได้มาจากการพิสูจน์ประพจน์ด้วยวิธีการแบบเรขาคณิต หรือได้มาจากข้อสรุปที่อนุมานเชิงนิรนัยมาจากข้ออ้างในการอ้างเหตุผลแบบจัดประเภท (syllogism) ความรู้ระดับที่สามคืออัชฌัตติกญาณ ได้มาจากการเข้าถึงสารัตถะของสิ่งต่างๆ โดยความรู้เกี่ยวกับสารัตถะของสิ่งต่างๆ นั้นเริ่มต้นจากความรู้เกี่ยวกับสารัตถะของพระเจ้า สปิโนซ่าเห็นว่าความรู้จากเหตุผลและความรู้จากอัชฌัตติกญาณต่างก็น่าเชื่อถือ แต่ความรู้จากอัชฌัตติกญาณจะสูงส่งกว่าเนื่องจากมิได้จำกัดอยู่กับเรื่องเฉพาะอันเป็นผลการพิสูจน์หรือนิรนัยเป็นเรื่องๆ ไปแบบความรู้จากเหตุผล แต่เป็นความรู้ในระดับสารัตถะอันเป็นสากล อีกทั้งยังเชื่อมโยงสู่พระเจ้าอีกด้วย ทำให้รู้ถึงสาเหตุของสิ่งต่างๆ อีกด้วย

1.2 ประสบการณ์นิยม

คำว่า “empiricism” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกคำว่า “empeiria” ซึ่งแปลเป็นภาษาละตินได้ว่า “experientia” และได้กลายมาเป็นภาษาอังกฤษคำว่า “experience” ซึ่งหมายความว่า ประสบการณ์ นั่นเอง ความเข้าใจที่กว้างที่สุดสำหรับประสบการณ์นิยมก็คือ ความคิดที่ว่าความรู้ทั้งมวลในที่สุดแล้วมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัส หรือผัสสะทั้งห้า อันหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยความรู้แบบอาศัยประสบการณ์ (a posteriori knowledge) จะแสดงออกมาในรูปประโยคแบบสังเคราะห์ (synthetic statement) นอกจากนี้ นักประสบการณ์นิยมบางส่วนยังเห็นว่าวิธีการได้มาซึ่งความรู้อันสำคัญอย่างยิ่งก็คือ วิธีการอุปนัย (induction)  นักปรัชญาในอดีตที่มีฐานคิดบางส่วนในลักษณะเช่นนี้ก็มีอยู่บ้าง เช่น อริสโตเติล (Aristotle) เอพิคิวรัส (Epicurus) ทอมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความคิดของนักปรัชญาดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกันออกไปและมิได้เป็นแบบประสบการณ์นิยมอย่างจริงจังนัก ประสบการณ์นิยมมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มีอิทธิพลมากนัก จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่17 มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการอื่นๆเกิดขึ้น ส่งผลให้ทฤษฎีแบบประสบการณ์นิยมก่อตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อกล่าวถึงประสบการณ์นิยมแล้ว นักปรัชญาที่มักจะถูกกล่าวถึงเสมอก็คือนักปรัชญากลุ่ม นักประสบการณ์นิยมชาวอังกฤษ (British empiricists) ซึ่งประกอบด้วย จอห์น ล็อค (John Locke: 1632-1704) จอร์จ เบิร์คเลย์ (George Berkeley: 1685-1753) และเดวิด ฮูม (David Hume: 1711-1776)

เป้าหมายหลักอันหนึ่งของล็อคคือการโจมตีข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (innate ideas) ซึ่งเป็นความคิดพื้นฐานของแนวคิดเหตุผลนิยมที่ว่ามนุษย์สามารถมีความรู้บางอย่างที่ไม่ต้องได้มาจากประสบการณ์ทางผัสสะ ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า An Essay Concerning Human Understanding เล่มแรกจึงมีเนื้อหาส่วนใหญ่โต้แย้งเรื่องความคิดที่มีมาตั้งแต่เกิดในหนังสือฉบับเดียวกันนี้เล่มที่สี่ ล็อคได้แบ่งความรู้ออกเป็นสามระดับคือ ความรู้เชิงอัชฌัตติกญาณ (intuitive knowledge) ความรู้เชิงสาธิต (demonstrative knowledge) และความรู้เชิงผัสสะ (sensitive knowledge) ความรู้เชิงอัชฌัตติกญาณนั้นเป็นความรู้เกี่ยวกับความสอดคล้อง (agreement) หรือขัดแย้ง (disagreement) ระหว่างความคิด (ideas) ความรู้แบบนี้มีความแน่นอนเนื่องจากสามารถรู้ได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยความคิดอื่นๆ มาเป็นตัวช่วยในการอนุมาน ตัวอย่างความรู้แบบนี้ เช่น สีเขียวไม่ใช่สีขาว อย่างไรก็ตาม บางครั้งล็อคก็อธิบายว่าความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับความสอดคล้องหรือขัดแย้งระหว่างความคิดก็เป็นความรู้เชิงอัชฌัตติกญาณได้ เช่น ความรู้ตัวเอง ความรู้เชิงสาธิตเป็นความรู้เกี่ยวกับความสอดคล้องหรือขัดแย้งระหว่างความคิดเช่นเดียวกัน แต่เป็นการรู้โดยอ้อม ต้องอาศัยการอนุมานเป็นขั้นเป็นตอน ความน่าเชื่อถือของความรู้แบบนี้จึงไม่แน่นอนเท่าความรู้แบบแรก เนื่องจากขึ้นกับความถูกต้องของการอนุมานในแต่ละขั้น ความรู้เชิงผัสสะมีความแน่นอนไม่เท่ากับความรู้สองประเภทแรก เป็นความรู้เกี่ยวกับวัตถุทางกายภายในโลกภายนอก ล็อคเห็นว่าเป็นความรู้ที่ต้องอาศัยการอนุมานเช่นกัน แต่เป็นการอนุมานจากความคิดอันเป็นผลจากประสบการณ์ทางผัสสะไปสู่ข้อสรุปว่ามีวัตถุทางกายภาพบางอย่างในโลก แม้ล็อคไม่กังวลว่าช่องว่างระหว่างความคิดและโลกกายภาพเช่นนี้จะนำสู่ปัญหาวิมัตินิยม (skepticism) แต่อย่างใด แต่ตอนหลังก็มีนักปรัชญา เช่น เบิร์คเลย์ ที่เห็นว่ามีปัญหา

ล็อคแบ่งความคิดเป็นหลายประเภท ความคิดที่พื้นฐานที่สุดคือความคิดเชิงเดี่ยว (simple ideas) ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ทางผัสสะโดยตรง ความคิดที่ซับซ้อนอื่นๆ สร้างขึ้นจากความคิดเชิงเดี่ยวเหล่านี้ ประเด็นที่สำคัญของล็อคเกี่ยวกับความคิดเชิงเดี่ยวประการหนึ่ง เป็นเรื่องของการแบ่งแยกระหว่างคุณสมบัติปฐมภูมิ (primary qualities) และคุณสมบัติทุติยภูมิ (secondary qualities) ตัวอย่างคุณสมบัติปฐมภูมิ เช่น ขนาด รูปร่าง การเคลื่อนที่ ฯลฯ และตัวอย่างคุณสมบัติทุติยภูมิ เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ ล็อคเห็นว่าในการรับรู้คุณสมบัติปฐมภูมินั้น คุณสมบัติที่เป็นสาเหตุแห่งการรับรู้มีลักษณะตรงกับความคิดเกี่ยวกับคุณสมบัตินั้น แต่ในกรณีของคุณสมบัติทุติยภูมินั้น สิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งประสบการณ์การรับรู้อาจมีลักษณะไม่ตรงกับความคิดที่เกิดตามมาจากการรับรู้นั้น เนื่องจากสิ่งที่รับรู้ไม่ใช่คุณสมบัติของวัตถุภายนอก แต่เป็นผลของการที่คุณสมบัติเหล่านั้นกระทำต่อตัวเรา ทำให้เกิดความรู้สึกอันนำไปสู่ความคิดบางอย่าง

เบิร์คเลย์เป็นนักประสบการณ์นิยมอีกคนในกลุ่มนี้ และหนึ่งในสิ่งที่เขาทำก็คือขจัดความคิดของล็อคที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดประสบการณ์นิยม เบิร์คเลย์เห็นว่าความคิดของล็อคมีปัญหาเนื่องจากล็อคมีสมมติฐานล่วงหน้า (presupposed) ว่ามีความเป็นจริงเชิงกายภาพที่อยู่ภายนอกตัวเรา เบิร์คเลย์โจมตีมโนทัศน์เรื่อง “สิ่ง” (substance) ซึ่งมีไว้รองรับคุณสมบัติ ในเมื่อจริงๆ แล้วมีแต่คุณสมบัติเท่านั้น ไม่มี “สิ่ง” ในโลกภายนอกอย่างที่คนมักคิด ความแตกต่างระหว่างคุณสมบัติปฐมภูมิและทุติยภูมิที่ล็อคแบ่งไว้จึงไม่มีด้วยเช่นกัน สาเหตุที่เบิร์คเลย์เห็นว่าไม่มี “สิ่ง” ก็เนื่องจากเขาเห็นว่าเราสามารถยืนยันเฉพาะสิ่งที่เรารับรู้ได้เท่านั้น และเมื่อพิจารณาภายในขอบเขตการรับรู้ของเราแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มี “สิ่ง” ปรากฏแก่เรา มีแต่คุณสมบัติต่างๆ เช่น แข็ง เย็น ขาว หอม และด้วยหลักการเดียวกันนี้ เบิร์คเลย์จึงยืนยันว่าโลกภายภาพภายนอกนั้นไม่มีอยู่ คำกล่าวอันเป็นที่รู้จักกันดีของเขาก็คือ “สิ่งที่ดำรงอยู่มีแต่สิ่งที่เรารับรู” เบิร์คเลย์ชี้ว่าความคิดของเขาไปได้ดีกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่พูดถึงแต่สิ่งที่รับรู้ได้ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับสมมติฐานเรื่องความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังแก้ปัญหาวิมัตินิยมได้ เนื่องจากในเมื่อการรับรู้กับโลกเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ก็ไม่อาจสงสัยได้อีกว่าการรับรู้นั้นตรงกับโลกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระบบความคิดของเบิร์คเลย์ยังคงต้องอาศัยความคิดเกี่ยวกับพระเจ้า

ในทำนองเดียวกับเบิร์คเลย์ เดวิด ฮูม ก็เป็นนักประสบการณ์นิยมที่ดำเนินความคิดไปกระทั่งสุดโต่ง ฮูมแบ่งระหว่าง “ภาพประทับ” (impression) และ ความคิด (idea) ภาพประทับเป็นเนื้องหาของประสบการณ์ ขณะที่ความคิดเป็นเนื้อหาของการคิด ความคิดใดที่ไม่มีภาพประทับรองรับจะถือว่า “ผิด” หรือ “นึกฝันไปเอง” เพียงหลักการข้อนี้ก็ทำให้ต้องสรุปว่าความคิดหลายอย่างที่คนทั่วไปยอมรับนั้นผิด เช่น ความคิดที่ว่าวัตถุมีการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องข้ามเวลา (continuous existence) หรือความคิดที่ว่ามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผล (causality)


2. ข้อถกเถียงระหว่างเหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยม

2.1 ข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย

ข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย (intuition/deduction thesis) ของนักเหตุผลนิยมนั้น อ้างว่าเราสามารถมีความรู้บางอย่างได้โดยอัชฌัตติกญาณและมีมากขึ้นโดยใช้นิรนัย อัชฌัตติกญาณเป็นการหยั่งรู้โดยไม่ต้องอาศัยการอนุมาน ส่วนนิรนัยเป็นกระบวนการอนุมานข้อสรุปจากข้ออ้าง ถ้าการอนุมานสมเหตุสมผล (valid) ข้อสรุปจะต้องจริงเมื่อข้ออ้างทั้งหมดจริง ถ้าประพจน์ที่ได้จากอัชฌัตติกญาณจริง การอนุมานที่สมเหตุสมผลจะช่วยให้สามารถยืนยืนข้อสรุปอื่นที่จริงบนพื้นฐานประพจน์ต่างๆ เหล่านี้ได้ ทั้งอัชฌัตติกญาณและนิรนัยทำให้เรามีความรู้ที่เรียกว่า ไม่อาศัยประสบการณ์ (a priori) ซึ่งก็คือ ความรู้ที่ได้มานั้นเป็นอิสระหรือไม่ขึ้นอยู่กับประสาทสัมผัส มีนักเหตุผลนิยมบางคนใช้ คณิตศาสตร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรู้ที่สามารถรู้ได้โดยการอัชฌัตติกกญาณและนิรนัย บางคนใช้ความจริงทางจริยศาสตร์เป็นตัวอย่าง บางคนใช้ข้ออ้างทางอภิปรัชญา เช่น พระเจ้ามีอยู่ เรามีเจตจำนงเสรี จิตและกายของเราเป็นสิ่งรองรับคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ฯลฯ เป็นตัวอย่าง

ตัวอย่างของผู้ที่ใช้วิธีการนี้คือ เดส์การ์ต (Descartes) ซึ่งเห็นว่าความรู้จะต้องเป็นสิ่งที่แน่นอน (certainty) และความแน่นอนที่ว่านั้นไม่อาจอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ เนื่องจากเราไม่สามารถแน่ใจเกี่ยวกับประสาทสัมผัสของเราได้ว่าสิ่งที่รับรู้ไม่ใช่ความฝันหรือมีปีศาจกำลังหลอกเราอยู่ อัชฌัตติกญาณและนิรนัยเท่านั้นที่สามารถให้ความรู้ที่แน่นอนแก่เราได้ ดังที่ เดส์การ์ต กล่าวไว้ว่า

ความรู้ทั้งหมดเป็นการรู้ที่แน่นอนและชัดแจ้ง (Rule II, p.1) และ เมื่อเราทบทวนถึงการกระทำทางปัญญาทั้งหมดโดยวิธีซึ่งเราสามารถได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิดพลาด เราจะต้องตระหนักรู้ด้วยสองวิธีเท่านั้นคือ อัชฌัตติกญาณและนิรนัย   (Descartes, Rules for the Direction of Our Native Intelligence, 1628, p.3)

ข้อวิจารณ์ต่อข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย

  1. สมมติฐานที่ว่าความรู้จะต้องเป็นสิ่งที่แน่นอนนั้นจำกัดอย่างยิ่ง เพราะสมมติฐานที่ว่านี้จะกำจัดสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความรู้ออกไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นักเหตุผลนิยมอาจตอบว่าความรู้ที่ว่านี้หมายถึงความรู้ที่ใช้เป็นฐานให้แก่ความรู้อื่นเท่านั้น

  2. อัชฌัตติกญาณอาจจะไม่ใช่แหล่งที่มาของความรู้ที่แน่นอนก็ได้ เพราะปีศาจอาจจะมาหลอกเราว่าเรามีอัชฌัตติกญาณอย่างผิดๆก็ได้ ซึ่งคำโต้แย้งนี้ เดส์การ์ตส์ก็จะตอบว่า เราสามารถรู้อย่างแน่นอนว่าไม่มีปีศาจที่คอยหลอกหลอนมาแทรกแซงอัชฌัตติกญาณและนิรนัยของเราได้ เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ประกันความจริงของทั้งสองอย่างนี้ไว้ ทั้งสองอย่างนี้จึ่งไม่สามารถผิดได้ (แต่การตอบเช่นนี้ของเดส์การ์ตส์มีปัญหา ซึ่งปัญหานี้รู้จักในชื่อของ วงจรแบบเดส์การ์ตส์ (Cartesian Circle) กล่าวคือ คำอธิบายของเดส์การ์ตส์นั้นเป็นการทวนคำถาม (begging the question) เพราะว่าการพยายามจะอนุมาน (นิรนัย) เพื่อที่จะให้ได้ข้อสรุปที่ว่าอัชฌัตติกญาณของเรานั้นจริงเพราะมาจากข้ออ้างที่ได้จากการอัชฌัตติกญาณ

การอ้างเหตุผลสนับสนุนข้อเสนอเรื่องเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย อีกอย่างคือความรู้ผ่านประสาทสัมผัสนั้นเป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะ เราไม่อาจหาสิ่งสากลได้จากประสบการณ์ ดังนั้นนักเหตุผลนิยมจึงเสนอว่าความรู้ของเราจะต้องเป็นผลมาจากการอัชฌัตติกญาณและการนิรนัย ดังความเห็นของไลบ์นิซ (Leibniz) ที่ว่า

แม้ว่าผัสสะต่างๆจะจำเป็นสำหรับความรู้ที่แท้จริงของเราทั้งมวล แต่ผัสสะต่างๆก็ไม่เพียงพอที่จะให้ความรู้ที่เป็นภาพรวมทั้งหมดแก่เราได้ เพราะว่าผัสสะต่างๆเหล่านั้นไม่เคยให้อะไรแก่เราเลย นอกเสียจากตัวอย่างเฉพาะเท่านั้น ซึ่งก็คือความจริงเฉพาะหรือความจริงของแต่ละอย่างนั่นเอง ต่อให้สิ่งเฉพาะมากมายแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างความจำเป็นแบบสากลขึ้นมาได้ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นก่อน แล้วสิ่งที่ตามมาจะเกิดขึ้นเหมือนเดิม ฉะนั้นเราต้องมีหลักการที่ใช้พิสูจน์ได้โดยไม่ขึ้นกับตัวอย่างเฉพาะ ไม่ได้เป็นผลตามมาจากการทดสอบของผัสสะ แม้ว่าจะปราศจากผัสสะ เราก็จะสามารถรู้ได้ (Leibniz, New Essays On Human Understanding)

นักประสบการณ์นิยมส่วนใหญ่มิได้ปฏิเสธอัชฌัตติกญาณหรือการนิรนัย โดยเห็นว่าสามารถให้ความรู้ที่เป็นความจริงแบบจำเป็น (necessary truths) แก่เราได้ เช่น ความรู้ที่พบในคณิตศาสตร์ แต่ความรู้ที่ว่านี้มิได้เป็นความรู้ที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับโลกภายนอก นั้นเป็นแต่เพียงความรู้ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความคิดต่างๆของเราเท่านั้น ความผิดพลาดของนักเหตุผลนิยมอยู่ที่ไปสมมติว่าเราสามารถมีความรู้อันสำคัญเกี่ยวกับโลกภายนอกซึ่งเหนือกว่าที่ประสบการณ์สามารถรองรับได้ ทั้งที่จริงๆแล้วเราไม่สามารถมีความรู้เช่นนั้นได้

ข้อโต้แย้งของประสบการณ์นิยมที่ว่าความจริงแบบจำเป็นไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกนั้นก็มีปัญหา ความรู้ของเราเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ดูเหมือนจะมีอะไรที่มากกว่าตัวมโนทัศน์ ความคิดและหลักการ ความรู้ของเราเกี่ยวกับการตัดสินทางจริยธรรม ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะว่าเรารู้สึกหรือกระทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ แต่เกี่ยวข้องกับว่าเราควรทำอย่างไรมากกว่า ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อโต้แย้งสำคัญของนักเหตุผลนิยมคือ ความคิดเรื่อง ความรู้เชิงสังเคราะห์ที่ไม่อาศัยประสบการณ์ (synthetic a priori) ซึ่งเห็นว่ามีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกบางอย่างที่รู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ประเภทนี้ที่นักเหตุผลนิยมถือเอาเป็นตัวอย่างก็คือคณิตศาสตร์นั่นเอง นอกจากนี้ ประสบการณ์นิยมยังประสบอีกปัญหา กล่าวคือ ประสบการณ์นิยมเองก็ใช้วิธีการเสนอความคิดโดยอาศัยหลักการที่แสดงความน่าเชื่อถือด้วยเหตุผล มากกว่าที่จะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น คำอธิบายทั้งหมดของฮูมเกี่ยวกับมโนคติ (idea) หรือหลักการพิสูจน์ความหมาย (verification principle of meaning) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประสบการณ์นิยมร่วมสมัย

2.2 ข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
 

นักเหตุผลนิยมส่วนใหญ่ถือว่า ข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (innate idea thesis)นั้นเป็นสิ่งยืนยันถึงการมีอยู่ของความรู้ที่ได้มาโดยไม่อาศัยประสบการณ์ (a priori) เช่นเดียวกันกับข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัย ความแตกต่างระหว่างข้อเสนอทั้งสองอยู่ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับการได้มาซึ่งความรู้โดยไม่อาศัยประสบการณ์ กล่าวคือ ข้อเสนอเรื่องอัชฌัตติกญาณ/นิรนัยนั้นอ้างถึงวิธีการอัชฌัตติกญาณและการใช้เหตุผลแบบนิรนัยที่ตามมา ส่วนข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้นอ้างถึงธรรมชาติความเป็นเหตุผล (rational nature) ความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดไม่ได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส หรือการอัชฌัตติกญาณและนิรนัย แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของเรา

 

ตัวอย่างความคิดเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่เห็นได้ชัดในยุคแรกก็คือความคิดเรื่องความรู้คือการระลึกได้ (recollection) ของเพลโต (Plato) ที่ปรากฏในบทสนทนาเรื่อง เมโน (Meno) ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างโสเครติส (Socrates) กับทาสหนุ่มในเรื่องความรู้ทางเรขาคณิต โดยที่ทาสนั้นไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับเรขาคณิตเลย แต่ด้วยการซักไซร์ของโสเครติสทาสก็จะสามารถเข้าใจและตอบปัญหาทางเรขาคณิตได้ ข้อนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าทาสระลึก (recollect) ถึงความคิดหรือความรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

 

การให้เหตุผลของเพลโตก็เป็นคำอธิบายที่นักปรัชญาจำนวนมากนำมาปรับใช้กับความคิดเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เราค่อนข้างมั่นใจว่าเรามีความรู้บางอย่างเกี่ยวกับโลกภายนอก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีคำอธิบายที่เพียงพอว่าเราได้ความรู้นี้มาอย่างไร หากไม่บอกว่าเป็นความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพราะสิ่งที่เรารู้นั้นมันอยู่พ้นไปจากขอบเขตของประสบการณ์ และความรู้ที่เราได้มาจากกระบวนการทำงานของจิตนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้อยู่บนฐานของอัชฌัตติกญาณหรือนิรนัยแต่อย่างใด นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าความคิดเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้นน่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุด

 

อีกความคิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นความคิดที่สนับสนุนความคิดเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ก็คือทัศนะของ นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักปรัชญาและนักภาษาศาสตร์ร่วมสมัย ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “Rationalist Conception of The Nature of Language” ชอมสกีใช้มโนทัศน์เรื่อง การเรียนรู้ภาษา (language acquisition) มาสนับสนุนความคิดเรื่อง ความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เขาเห็นว่าผู้เรียนรู้ภาษามีสมรรถนะ (capacities) ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดที่จะทำให้เรียนรู้ทางภาษาได้ กล่าวคือ ชอมสกีเห็นว่าการที่เราจะอธิบายเรื่องการเรียนรู้ภาษานั้น เราจะต้องสมมติว่าผู้เรียนรู้ภาษานั้นมีความคิดเกี่ยวกับไวยากรณ์สากล (universal grammar)ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ความรู้นี้ทำให้เข้าใจโครงสร้างระดับลึกทั่วไปของภาษาธรรมชาติ แม้ว่าตัวผู้เรียนรู้ภาษาจะไม่ได้รู้ถึงรายละเอียดเฉพาะของไวยากรณ์สากลก็ตาม

 

แน่นอนว่าทัศนะของชอมสกีในนเรื่องของการรับภาษาเช่นนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของนักประสบการณ์นิยม โดยเฉพาะกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ซึ่งข้อโต้แย้งลักษณะนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า ข้อโต้แย้งระหว่างสกินเนอร์กับชอมสกี (Skinner-Chomsky debate) กล่าวคือ สกินเนอร์เห็นว่าการรับภาษานั้นจะต้องเกิดจากการกำหนดเงื่อนไขในรูปของสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมเชิงประจักษ์ แล้วผู้รับภาษาก็ค่อยๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบ และการได้รับการส่งเสริมจากคนอื่นๆในสังคม ไวยากรณ์ก็เรียนรู้ได้จากการเชื่อโยงคำต่างๆที่อยู่ติดกันในการใช้ภาษา แต่ชอมสกีไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ความคิดของสกินเนอร์ โดยชี้ว่ากฎต่างๆของภาษานั้นซับซ้อนเกินกว่าจะสามารถเรียนรู้ได้โดยตรงจากประสบการณ์ อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องความคิดติดตัวมาตั้งแต่เกิด ชอมสกีถูกวิจารณ์ว่าเขากำลังเสนอทฤษฎีของสมรรถนะการเรียนรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มากกว่าที่จะเสนอความคิดสนับสนุนทฤษฎีเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทัศนะของเขาจึงมิได้สนับสนุนข้อเสนอเรื่องความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่อย่างใด

พิพัฒน์ สุยะ (ผู้เรียบเรียง)

เรียบเรียงจาก

·

Alston, William P. 1998. Empiricism. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. [CD-Rom Version 1.0].

·

Curley, Edwin. 2001. Rationalism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 411-415.

·

Hamlyn, D. W. 2006. Empiricism. In Donald M. Borchert (ed.). Encyclopedia of Philosophy. Second edition. New York: Macmillan, Vol. 3: 213-221.

·

Honderich, Ted. (Ed). 2005. Empiricism. In The Oxford Companion to Philosophy. New York: Oxford University Press, pp. 242-245.

·

---------. (Ed). 2005. Rationalism. In The Oxford Companion to Philosophy. New York: Oxford University Press, pp. 783-785.

·

Hunter, Bruce. 2001. Empiricism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 110-115.

·

Iannone, A. Pablo. 2001. Empiricism. In Dictionary of World Philosophy. London: Routledge, pp. 168-171.

·

---------. 2001. Rationalism. In Dictionary of World Philosophy. London: Routledge, pp. 475-477.
· Markie, Peter J. 1998. Rationalism. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. [CD-Rom Version 1.0].
· ---------. 2004. Rationalism vs. Empiricism. In Edward N. Zalta (ed.). Stanford Encyclopedia of Philosophy. [Online]. Available: http://plato.stanford.edu/entries/rationalism-empiricism/. (Accessed date: 22/6/2006).
· Ree, Jonathan, and J. O. Urmson. 2005. Empiricism. In The Concise Encyclopedia of Western Philosophy. Third edition. Oxon: Routledge, pp. 106-109.
· ---------. Urmson. 2005. Rationalsim. In The Concise Encyclopedia of Western Philosophy Third edition. Oxon: Routledge, p. 326.
· Williams, Bernard. 2006. Rationalism. In Donald M. Borchert (ed.). Encyclopedia of Philosophy. Second edition. New York: Macmillan, Vol. 8: 239-247.


เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

·

Copleston, Frederick. 2003. A History of Philosophy Volume4: The Rationalist – Descartes to Leibniz. New York: Continuum. (บรรยายและอธิบายถึงประวัติและพัฒนาการของปรัชญาเหตุผลนิยมสมัยใหม่ได้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งชีวิต ความคิดของนักปรัชญาตลอดจนข้อถกเถียงต่างๆ)

·

Copleston, Frederick. 2003. A History of Philosophy Volume5: British Philosophy – Hobbes to Hume. New York: Continuum. (บรรยายและอธิบายถึงประวัติและพัฒนาการของปรัชญาประสบการณ์นิยมสมัยใหม่ได้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งชีวิต ความคิดของนักปรัชญาตลอดจนข้อถกเถียงต่างๆ)

·

Morick, Harold (ed.). 1980. Challenges to Empiricism. London: Methuen. (บรรยายถึงพัฒนาการทางความคิดของปรัชญาประสบการณ์นิยมร่วมสมัยและรวบรวมข้อโต้แย้งที่มีต่อปรัชญาประสบการณ์นิยมร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอิทธิพลของประสบการณ์นิยมที่มีต่อศาสตร์สาขาอื่น เช่น ภววิทยา วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์และจิตวิทยา)

·

Radcliff, Elizabeth S., Richard McCarthy, Fritz Allhoff and Anand Jayprakash Vaidya. 2007. Late Modern Philosophy: Essential Readings with Commentary. USA: Blackwell. (รวบรวมงานเขียนชิ้นสำคัญของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ทั้งเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยม พร้อมบทแนะนำเบื้อต้นและวิจารณ์ที่ช่วยให้เราเข้าใจข้อถกเถียงระหว่างสองแนวคิดได้ดียิ่งขึ้น)

·

Schacht, Richard. 1984. Classical Modern Philosophers: Descartes to Kant. London: Routledge & Kegan Paul. (อธิบายถึงพื้นฐานความคิด โครงการและวิธีการทางปรัชญาของนักปรัชญาสมัยใหม่อย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกับประเด็นทางปรัชญาร่วมสมัยไว้อย่างน่าสนใจ)


คำที่เกี่ยวข้อง

การให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อ / ก่อนประสบการณ์-หลังประสบการณ์ / ความรู้
Epistemic Justification / A Priori-A Posteriori / Knowledge


 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | เชื่อมโยง | ติดต่อเรา


 


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ