ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด: 16/04/54

 

การให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อ
Epistemic Justification

 

1. บทนำ
2. การให้เหตุผลสนับสนุนเชิงญาณวิทยา-การให้เหตุผลสนับสนุนที่ไม่ใช่เชิงญาณวิทยา
3. มูลฐานนิยมและสหนัยนิยม
4. ทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในและทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอก
5. ทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น
6. ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ
เรียบเรียงจาก
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำที่เกี่ยวข้อง

 

1. บทนำ
 

คำว่า การให้เหตุผลสนับสนุน (justification) หรือ “มีเหตุผลสนับสนุน” (justified) มีการใช้กันทั่วไปในญาณวิทยา คำดังกล่าวเป็นคำที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับคำเชิงบรรทัดฐานต่างๆ เช่น ได้รับการยืนยัน (confirmed) มีเหตุมีผล (rational) แต่ก็มิได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าคำเหล่านั้นมีความหมายเหมือนกัน แม้นักญาณวิทยาบางคนก็ใช้คำนี้แทนที่กันได้ แต่บางคนก็เห็นว่าแต่ละคำมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเชื่อ คือสิ่งที่คำเหล่านี้บ่งถึง ซึ่งนักญาณวิทยาสนใจว่าอะไรทำให้ความเชื่อมีเหตุผลสนับสนุน ประพจน์ ข้อความ ข้ออ้าง สมมติฐาน และทฤษฎี สามารถกล่าวได้ว่ามีเหตุผลสนับสนุน

ในประวัติปรัชญา มีการให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อที่สำคัญอยู่ 2 แนวทางคือ มูลฐานนิยม (foundationalism) และสหนัยนิยม (coherentism) มูลฐานนิยมอธิบายว่า การให้เหตุผลสนับสนุนมีโครงสร้างเป็นช่วงชั้น กล่าวคือ ความเชื่อบางความเชื่อเป็นความเชื่อพื้นฐาน (basic belief) ที่มีเหตุผลสนับสนุนในตัวเอง และความเชื่อพื้นฐานเหล่านี้ก็ให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่ออื่นๆ อีกทอดหนึ่ง นักสหนัยนิยมปฏิเสธว่ามีความเชื่อใดๆ ที่มีเหตุผลสนับสนุนตนเอง และเสนอว่าความเชื่อต่างๆ ให้เหตุผลสนับสนุนซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อเดียวกัน นักมูลฐานนิยมและนักสหนัยนิยมส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายใน (internalism) ที่เห็นว่าเงื่อนไขใดๆ ที่ตัดสินว่าความเชื่อมีเหตุผลสนับสนุนนั้น เป็นเงื่อนไขที่อยู่ภายในตัวผู้เชื่อ เช่น ความเชื่อและประสบการณ์ที่คนมี ส่วนทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอก (externalism) โต้แย้งว่าเราไม่สามารถตัดสินว่าความเชื่อได้เหตุผลสนับสนุนหากไม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายนอกของผู้เชื่อ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอกเกิดขึ้นในฐานะทางเลือกที่ใช้โต้แย้งทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในรูปแบบที่มีอิทธิพลของทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอกคือทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ (reliabilism)

แนวทางอื่นๆ ที่ท้าทายมูลฐานนิยมแบบดั้งเดิมและสหนัยนิยมคือทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น (probabilism) ซึ่งอธิบายว่าความรู้มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเป็นระดับ กล่าวคือ เราไม่สามารถยืนยันได้เพียงว่าน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แต่เราสามารถยืนยันในลักษณะเช่น มีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง มีความเป็นไปได้มากที่จะเชื่อ และอีกแนวทางหนึ่งก็คือกลุ่มนักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ (naturalized epistemology) กลุ่มนี้จะเห็นว่าทั้งมูลฐานนิยม สหนัยนิยม และ ทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น นั้นให้ความสำคัญกับการคิดเชิงทฤษฎีในระดับก่อนประสบการณ์ (a priori theorizing) มากจนเกินไป นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเห็นว่าเราสามารถหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อได้โดยอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วย กลุ่มนักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติแบบสุดโต่งนั้นเห็นว่าคำถามเดิมของญาณวิทยาทั้งหมดสามารถตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์


2. การให้เหตุผลสนับสนุนเชิงญาณวิทยา-การให้เหตุผลสนับสนุนที่ไม่ใช่เชิงญาณวิทยา

การตัดสินใจ การกระทำ กระบวนการ การลงโทษ กฎหมาย และนโยบายนั้นล้วนแล้วแต่สามารถมีเหตุผลสนับสนุนและไม่มีเหตุผลสนับสนุนได้ กล่าวคือ สิ่งเหล่านี้จะมีเหตุผลสนับสนุนเมื่อมีเหตุผลที่เพียงพอ (adequate reasons) และไม่มีเหตุผลสนับสนุนเมื่อไม่มีการให้เหตุผลที่เพียงพอ การเสนอเหตุผลเพื่อให้สนับสนุนว่าสิ่งหนึ่งเป็นความรู้ ก็อาจไม่ได้หมายความเพียงว่ามีเหตุผลเพียงพอสำหรับการเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้ เนื่องจากอาจมีการเสนอเหตุผลที่มิได้เกี่ยวข้องกับความรู้ ตัวอย่างเช่น คนอาจเสนอเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเพื่อให้เชื่อว่า “โลกแบน” จริง แม้เป็นการเสนอที่ทำให้คนมีเหตุผลที่จะเชื่อข้อความนี้ แต่สิ่งที่เสนอไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา จึงไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่าเนื้อหาของข้อความนี้เป็นความรู้

แนวทางที่จะเข้าใจความแตกต่างระหว่างการให้เหตุผลสนับสนุนเชิงญาณวิทยาและแบบที่ไม่ใช่เชิงญาณวิทยาคือการพิจารณาเป้าหมายของการเสนอเหตุผล กล่าวคือ ถ้า X เป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าบางประเภท และถ้าการทำ Y เป็นการทำให้บรรลุ X เราทุกคนก็ล้วนมีเหตุผลที่จะทำ Y เหตุผลที่แตกต่างกันแบ่งแยกด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ถ้า X เป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าในเชิงปฏิบัติ (สุขภาพดี) และการกระทำ Y ทำให้เกิด X (มีสุขภาพดี) เราก็มีเหตุผลในเชิงปฏิบัติที่จะทำ Y หรือ ถ้า X เป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าในเชิงญาณวิทยา และการกระทำ Y ทำให้เกิด X (มีความรู้) เราก็มีเหตุผลในเชิงญาณวิทยาที่จะทำ Y ถ้าย้อนกลับไปตัวอย่างข้างต้น ถ้า X เป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าในเชิงปฏิบัติ (ความร่ำรวย) และการกระทำ Y (เชื่อว่า “โลกแบน”) ทำให้เกิด X (มีความร่ำรวย) เราก็มีเหตุผลในเชิงปฏิบัติที่จะทำ Y แต่เราไม่มีเหตุผลในเชิงญาณวิทยาจะทำ Y

คำถามที่ว่าอะไรทำให้เหตุผลที่ยกมาสนับสนุนเป็นเหตุผลเชิงญาณวิทยา จึงสามารถลดทอนไปสู่คำถามที่ว่าอะไรคือเป้าหมายที่มีคุณค่าเชิงญาณวิทยา คำตอบที่ยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายนั้นก็คือการเชื่อในสิ่งที่จริงและไม่เชื่อในสิ่งที่เท็จ ดังนั้น การให้เหตุผลสนับสนุนเชิงญาณวิทยา (epistemic justification) ก็คือการให้เหตุผลสนับสนุนที่มีเป้าหมายที่นำสู่การเชื่อในสิ่งที่จริงและไม่เชื่อในสิ่งที่เท็จ ส่วนการให้เหตุผลสนับสนุนที่ไม่ใช่เชิงญาณวิทยา (non-epistemic justification) ก็คือการให้เหตุผลสนับสนุนที่มิได้มีเป้าหมายในลักษณะดังกล่าว


3. มูลฐานนิยมและสหนัยนิยม

แนวคิดเรื่องมูลฐานนิยม (foundationalism) และสหนัยนิยม (coherentism) เป็นทฤษฎีสำคัญที่เสนอเป็นคำตอบต่อปัญหาญาณวิทยาเรื่องการให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อ อาจเข้าใจแนวคิดอันเป็นที่มาของทั้งสองทฤษฎีนี้ได้โดยเริ่มต้นพิจารณาจากข้อโต้แย้งเรื่องการถอยกลับ (The regress argument) ในญาณวิทยา

ข้อโต้แย้งเรื่องการถอยกลับเกิดจากความต้องการหาคำตอบว่าเมื่อใดจึงกล่าวได้ว่าข้อความหนึ่งๆ มีเหตุผลสนับสนุน รูปแบบของข้อโต้แย้งจะเป็นไปในลักษณะที่ว่า

  1. สมมุติว่า P คือความเชื่อที่จริงความเชื่อหนึ่ง หากจะเรียกความเชื่อ P ว่าเป็นความรู้ จะต้องมีเหตุผลสนับสนุนว่าจริง

  2. สมมุติ Q คือข้อความที่เป็นเหตุผลสนับสนุน ดังนั้น กล่าวได้ว่า Q ให้เหตุผลสนับสนุนว่า P จริง

  3. แต่ถ้า Q เป็นเหตุผลสนับสนุนแก่ P เราจะต้องรู้ด้วยว่า Q จริง

  4. เพื่อที่เราจะรู้ว่า Q จริง Q ต้องมีเหตุผลสนับสนุนว่าจริง

  5. สมมุติ R คือข้อความที่เป็นเหตุผลสนับสนุน ดังนั้น กล่าวได้ว่า R ให้เหตุผลสนับสนุนว่า Q จริง

  6. ณ จุดนี้สถานการณ์วนกลับมาที่ (3) คือเราจะต้องรู้ด้วยว่า R จริง เราจึงต้องหาข้อความอื่นมาเป็นเหตุผลสนับสนุน Rละข้อความนั้นก็ต้องมีข้อความอื่นมาสนับสนุนอีกทอดหนึ่ง โดยต้องหาเหตุผลสนับสนุนต่อกันไปเรื่อยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

วิธีการตอบสนองต่อประเด็นเรื่องการถอยกลับดังกล่าวอาจเป็นไปได้หลายทาง ตัวอย่างเช่น บ้างก็เห็นว่าการถอยกลับไปหาเหตุผลสนับสนุนของข้อความอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่ใช่ปัญหา หรือบ้างก็เห็นว่าเป็นปัญหาและเสนอทางออกว่าสามารถหยุดการถอยกลับได้ คือ หยุดที่ความเชื่อที่ไม่ต้องหาเหตุผลสนับสนุน เนื่องจากข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลสนับสนุนตัวเองได้ (self-justifying) สหนัยนิยมคือข้อเสนอที่เห็นว่าการถอยกลับนั้น สามารถถอยกลับไปได้เรื่อยๆ วนอยู่ในระบบความเชื่อนั้นๆ และมูลฐานนิยมคือข้อเสนอที่เห็นว่าการถอยกลับของข้อความนั้นไปหยุดอยู่ที่ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งซึ่งให้เหตุผลสนับสนุนตัวเองได้

ตามแนวคิดของมูลฐานนิยม การให้เหตุผลสนับสนุนเกี่ยวกับความเชื่อนั้นมีโครงสร้างเป็นช่วงชั้น (hierarchical structure) กล่าวคือ ความเชื่อบางความเชื่อนั้นให้เหตุผลสนับสนุนตัวเอง และความเชื่อบางความเชื่อได้เหตุผลสนับสนุนจากความเชื่อพื้นฐานต่างๆ ในกลุ่มนักมูลฐานนิยมนั้นมีความแตกต่างกันในประเด็นที่ว่าอะไรคือเงื่อนไขของการเป็นความเชื่อพื้นฐานและอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้ความเชื่อพื้นฐานสามารถเป็นเหตุผลสนับสนุนความเชื่ออื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างข้อถกเถียงเกี่ยวกับเงื่อนไขของการเป็นความเชื่อพื้นฐาน เช่น รูปแบบที่เข้มงวดที่สุดของมูลฐานนิยมเห็นว่าเงื่อนไขที่ทำให้เป็นความเชื่อพื้นฐานคือให้ความเชื่อนั้นจะผิดไม่ได้ (infallible) สงสัยไม่ได้ (indubitable) และแก้ไขไม่ได้ (incorrigible) ตัวอย่างของนักญาณวิทยาที่มีแนวคิดมูลฐานนิยมแบบเข้มงวดคือ เดส์การ์ตส์ (Descartes) ฮูม (Hume) เบิร์กเล่ย์ (Berkley) ล๊อค (Locke) รัสเซลล์ (Russell) แอร์ (Ayer) และคาร์แนป (Carnap) มูลฐานนิยมแบบไม่เข้มงวดนั้นลดเงื่อนไขของการเป็นความเชื่อพื้นฐานลง กล่าวคือ ความเชื่อพื้นฐานไม่ต้องเป็นสิ่งที่ผิดไม่ได้ สงสัยไม่ได้ หรือแก้ไขไม่ได้

สหนัยนิยมพิจารณาเหตุผลสนับสนุนจากความสหนัย (coherence) หรือ ความสอดคล้องความเชื่อหนึ่งกับความเชื่ออื่นๆ ในระบบความเชื่อ ความเชื่อจะถือว่ามีเหตุผลสนับสนุนก็ต่อเมื่อความเชื่อนั้นสอดคล้องกับความเชื่ออื่นๆ ในระบบความเชื่อ ตามทฤษฎีนี้ ไม่มีความเชื่อใดที่สามารถให้เหตุผลสนับสนุนตัวเอง และการให้เหตุผลสนับสนุนว่าความเชื่อหนึ่งเป็นความรู้จะสามารถอ้างถอยกลับไปสู่ความเชื่ออื่นๆ ได้อย่างไม่สิ้นสุด หากพิจารณาประวัติแนวคิดทางปรัชญาที่ผ่านมา  เป็นไปได้ที่จะตีความว่าสปิโนซา (Spinoza) และอิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) มีแนวคิดแบบสหนัยนิยม อย่างไรก็ตาม จุดยืนแบบสหนัยนิยมที่ชัดเจนคือกลุ่มนักปรัชญาจิตนิยมสัมบูรณ์ (absolute idealist) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอฟ. เอช. แบรดเลย์ (F. H. Bradley) และ เบอร์นาร์ด โบแซนเควท์ (Bernard Bosanquet) แต่คนเห็นว่านักปรัชญาเหล่านี้ล้มเหลวในการแยกแยะประเด็นญาณวิทยาและอภิปรัชญาออกจากกัน หรืออีกนัยหนึ่ง แนวคิดของพวกเขาทำให้ไม่สามารถแยกทฤษฎีการให้เหตุผลสนับสนุนออกจากทฤษฎีความจริงแบบสหนัย นอกจากนี้ นักปฏิฐานนิยมเชิงตรรกวิทยา (logical positivist) บางคน เช่น ออตโต นิวรัธ (Otto Neurath) และคาร์ล เฮมเพล (Carl Hempel) ก็สนับสนุนแนวคิดแบบสหนัยนิยมเพื่อโต้ตอบกับแนวคิดมูลฐานนิยมของมอริทซ์ ชลิก (Moritz Schlick)

เราจะเห็นได้ว่าความแตกต่างในกลุ่มของผู้ที่ยอมรับแนวคิดแบบสหนัยนิยมคือความแตกต่างเกี่ยวกับเงื่อนไขของความสหนัย นักสหนัยนิยมบางคน เช่น แบรดเล่ย์ อธิบายว่านอกจากความสมนัย (consistency) ระหว่างความเชื่อแล้ว เงื่อนไขของความสหนัยยังรวมถึงการที่ความเชื่อต่างๆ สามารถที่จะอนุมานจากกันได้  (mutually entailment) นั่นคือ ความเชื่อทุกความเชื่อในระบบควรจะสามารถนิรนัยออกมาจากความเชื่ออื่นๆ ได้ ตามเงื่อนไขดังกล่าว การให้เหตุผลสนับสนุนด้วยการแสดงว่าความเชื่อหนึ่งๆ มีความสหนัยกับความเชื่ออื่นในระบบนั้น ต้องอาศัยการตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงการนิรนัยดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม นักสหนัยนิยมบางคนอธิบายสหนัยนิยมโดยมีเงื่อนไขที่ไม่เข้มงวดขนาดนี้ ตัวอย่างเช่น ลอเรนท์ บองชูร์ (Laurence BonJour) ที่มิได้เชื่อว่าความสหนัยต้องมีองค์ประกอบของการนิรนัยจากกันและกันนี้ แต่เขาเห็นด้วยว่าความเชื่อต่างๆ ในระบบจะต้องสมนัยกัน นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งสหนัยนิยมตามความเข้าใจเรื่องวิธีการให้เหตุผลสนับสนุนในลักษณะอื่นๆ เช่น มีการแบ่งสหนัยนิยมเชิงบวก (positive coherentism) และสหนัยนิยมเชิงลบ (negative coherentism) ตามแนวคิดของสหนัยนิยมเชิงบวก ความเชื่อหนึ่งจะมีเหตุผลสนับสนุนก็ต่อเมื่อเราสามารถแสดงได้ว่าความเชื่อนั้นสอดคล้องกับความเชื่ออื่นๆ ในระบบ แต่ตามแนวคิดของสหนัยนิยมเชิงลบ ความเชื่อหนึ่งๆ จะถือไว้ก่อนว่ามีเหตุผลสนับสนุนจนกว่าจะแสดงได้ว่าความเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับความเชื่ออื่นในระบบ

ในส่วนของข้อโต้แย้งที่มีต่อมูลฐานนิยมและสหนัยนิยมนั้น มูลฐานนิยมมักถูกโต้แย้งในประเด็นเกี่ยวกับว่าอะไรคือความเชื่อพื้นฐานที่สามารถให้เหตุผลสนับสนุนตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อโต้แย้งที่ว่าข้อความเหล่านี้มิอาจหาได้ตามเงื่อนไข และยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับการนำความเชื่อพื้นฐานไปสนับสนุนความเชื่อที่ซับซ้อนอื่นๆ ส่วนข้อโต้แย้งที่มีต่อสหนัยนิยมก็คือเงื่อนไขของสหนัยนิยมที่เรียกร้องความสอดคล้องลงรอยกันของความเชื่อต่างๆ อาจไม่ใช่เงื่อนไขจำเป็น (necessary condition) ของการให้เหตุผลสนับสนุน กล่าวคือ อาจเป็นความน่าพึงปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องลงรอยกันของความเชื่อ แต่ในบางกรณีก็นับว่าไร้เหตุผลที่จะกระทำเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้ามีลอตเตอรี่ 1,000,000 ใบ เราจะเห็นว่าลอตเตอรี่ใบที่ 1 นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ถูกรางวัลถึง .999999 และใบที่ 2 ไปจนถึงใบสุดท้ายก็ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ถูกรางวัลถึง .999999 เช่นกัน ดังนั้น ด้วยการพิจารณาความเป็นไปได้ดังกล่าว เราจะมีเหตุผลสำหรับความเชื่อที่ว่าลอตเตอรี่ใบที่ 1 จะไม่ถูกรางวัล และมีเหตุผลสนับสนุนสำหรับความเชื่อที่ว่าลอตเตอรี่ใบอื่นๆ จะไม่ถูกรางวัล ถ้าเราเชื่อว่าจะมีลอตเตอรี่ใบใดใบหนึ่งถูกรางวัลก็เท่ากับว่าความเชื่อของเราไม่สอดคล้องลงรอยกับความเชื่อเกี่ยวกับลอตเตอรี่ใบอื่นๆ ทั้งที่ความเป็นจริงจะต้องมีใบใดใบหนึ่งที่ถูกรางวัล ความสอดคล้องลงรอยกันในระบบความเชื่อจึงอาจมิใช่เงื่อนไขจำเป็นสำหรับการให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อ


4. ทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในและทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอก

ทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในเห็นว่าการมีเหตุผลสนับสนุนตัดสินโดยปัจจัยภายใน (internal factors) ในขณะที่ทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอกเห็นว่าการมีเหตุผลสนับสนุนต้องตัดสินโดยสิ่งอื่นนอกเหนือจากปัจจัยภายใน เช่น สภาพแวดล้อม ภูมิหลังหรือบริบทของบุคคล นักมูลฐานนิยมและนักสหนัยนิยมส่วนใหญ่ยอมรับแนวคิดแบบทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายใน เนื่องจากเห็นว่าการให้เหตุผลสนับสนุนนั้นสัมพันธ์กับเนื้อหาที่อยู่ในจิตใจ (เช่น ความเชื่อ ความทรงจำ) เป็นหลัก

นักทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในบางคนกำหนดให้ผู้เชื่อจะต้องตระหนักรู้องค์ประกอบที่ของการมีเหตุผลสนับสนุนทั้งหมด โดยรูปแบบที่เข้มงวดที่สุดของทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในคือความคิดเห็นที่ว่าเราสามารถตัดสินได้ตลอดว่าความเชื่อของเรามีเหตุผลสนับสนุนหรือไม่ โดยอาศัยการคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบ (careful introspection) ตัวอย่างเช่น เดส์การ์ตส์ ล๊อค ชิซัล์ม (Chisolm) และบองชู

ส่วนแนวคิดแบบทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลมากแนวคิดหนึ่งคือ ทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ (reliabilism) ซึ่งเห็นว่าการให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อนั้นตัดสินโดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของกระบวนการเชิงปริชาน (cognitive process) ที่นำสู่ความเชื่อนั้น โดยความน่าเชื่อถือขึ้นกับแนวโน้มของกระบวนการที่นำสู่ความเชื่อที่จริงได้ จึงกล่าวได้ว่าตามทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการนั้น เรามีความรู้ว่า P ก็ต่อเมื่อเรามีความเชื่อที่จริงว่า P และความเชื่อดังกล่าวเป็นผลผลิตของกระบวนการเชิงปริชานที่น่าเชื่อถือ เห็นได้ว่าความน่าเชื่อถือของกระบวนการมิได้เป็นองค์ประกอบภายใน ดังนั้น แนวคิดแบบนี้จึงจัดว่าเป็นการให้เหตุผลสนับสนุนแบบทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอก ตัวอย่างของนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบ ทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ คือ โกลด์แมน (Goldman) เดรสเก้ (Dreske) อาร์มสตรอง (Armstrong) และโซซา (Sosa) นักปรัชญาเหล่านี้มีข้อเสนอร่วมกันในเรื่องที่ว่าการให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่อเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมของผู้เชื่อกับกระบวนการที่นำสู่ความเชื่อ โดยความมีเหตุผลสนับสนุนของความเชื่อนั้น พิจารณาจากแนวโน้มของกระบวนการดังกล่าวที่จะสร้างความเชื่อที่จริงและไม่สร้างความเชื่อที่เท็จ

ตัวอย่างที่ดีที่ช่วยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างแนวคิดแบบทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในกับ ทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ คือกรณีของคนที่ถูกปีศาจหลอก สมมุติว่ามีปีศาจหลอกให้คนมีประสบการณ์เหมือนคนปกติ ดังนั้น คนที่ถูกหลอกก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับโลกภายนอกขึ้นมาจากกระบวนการหลอกของปีศาจ แต่ความเชื่อนั้นเหมือนกับของคนปกติทุกประการ ตามทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ ความเชื่อเกี่ยวกับโลกภายนอกของบุคคลนี้ถือว่าไม่มีเหตุผลสนับสนุน เนื่องจากกระบวนการสร้างความเชื่อของผู้ถูกหลอกนั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นกระบวนการที่มิได้มีแนวโน้มจะนำสู่ความเชื่อที่จริง กระบวนการนี้จะนำสู่ความเชื่อใด ไม่ว่าตรงกับคนปกติหรือไม่ ก็ขึ้นกับความประสงค์ของปีศาจล้วนๆ ส่วนกระบวนการสร้างความเชื่อของคนปกตินั้นน่าเชื่อถือ เนื่องจากกระบวนการที่นำสู่ความเชื่อมีแนวโน้มนำสู่ความเชื่อที่จริง ความเชื่อของคนปกติจึงมีเหตุผลสนับสนุน แต่หากพิจารณาตามทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายในแล้ว ความเชื่อของทั้งคนปกติและคนที่ถูกหลอกนั้น ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกันถ้าแต่ละคนนั้นมีสภาวะภายใน (internal state) ที่เหมือนกัน 


5. ทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น

ในขณะที่ทฤษฎีที่เน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการเป็นทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายนอกแบบหนึ่งที่เป็นทางเลือกแทนทฤษฎีมูลฐานนิยมและสหนัยนิยม ทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น (probabilism) ก็เป็นทางเลือกแทนทฤษฎีมูลฐานนิยมและสหนัยนิยมเช่นกัน แต่เป็นทฤษฎีที่เน้นปัจจัยภายใน  นักทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็นเห็นว่าทางเลือกของเรามิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเชื่อหรือการไม่เชื่อ แต่เราสามารถที่จะมีระดับของความเชื่อหรือความมั่นใจที่แตกต่างกันต่อความจริงของข้อความหรือประพจน์ (proposition) นักทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็นให้ค่า 1 แทนความมั่นใจที่มากที่สุดในความจริงของประพจน์ และให้ค่า 0 แทนการไม่มีความมั่นใจในความจริงของประพจน์  ดังนั้น ช่วงของค่าระหว่าง 0 และ 1 จึงแทนระดับความมั่นใจต่อความจริงของประพจน์ระหว่างระดับที่น้อยที่สุดและระดับที่มากที่สุด นักทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็นเห็นว่าระดับความเชื่อของเราจะต้องสอดคล้องกันหากความเชื่อเหล่านั้นมีเหตุผลสนับสนุน และความเชื่อจะสอดคล้องกันถ้าความเชื่อดังกล่าวเป็นไปตามระบบคำนวณความน่าจะเป็น (probability calculus) ตัวอย่างเช่น มีหลักข้อหนึ่งในระบบคำนวณดังกล่าวว่าประพจน์ใดๆ จะไม่สามารถมีความน่าจะเป็นสูงกว่าอีกประพจน์หนึ่งที่มีฐานะเป็นนัยของตน (implication) เช่นถ้า P มีนัยถึง Q และถ้าเราเชื่อ P มากกว่า Q ในกรณีนี้ ถือว่าระดับความเชื่อของเราจะไม่สอดคล้องกันเนื่องจากไม่เป็นไปตามระบบคำนวณ จึงไม่ถือว่ามีเหตุผลสนับสนุน


6. ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ

ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเห็นว่าญาณวิทยามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิทยาศาสตร์ นักญาณวิทยาเชิงธรรมวิพากษ์มูลฐานนิยม สหนัยนิยม และ ทฤษฎีที่เน้นความน่าจะเป็น ที่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการคิดเชิงทฤษฎีในระดับก่อนประสบการณ์ (a priori theorizing) มากจนเกินไป นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเห็นว่าหากเราต้องการรู้ว่ากระบวนการเชิงปริชานทำงานอย่างไร เหตุใดกระบวนการดังกล่าวจึงน่าเชื่อถือ และเมื่อใดที่กระบวนการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผิด เราก็ควรต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาและชีววิทยาระบบประสาท (neurobiology) เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ เราต้องอาศัยชีววิทยาและทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolutionary theory) เพื่ออธิบายทำไมกระบวนการรับรู้จึงน่าเชื่อถือ และเราต้องอาศัยจิตวิทยาเชิงปริชาน (cognitive psychology) เพื่อศึกษาความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับกระบวนการเชิงปริชาณ เพื่อที่เราจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าว

ดับบลิว. วี. ไควน์ (W. V. Quine) เสนอความคิดเกี่ยวกับญาณวิทยาเชิงธรรมชาติไว้ในบทความ “Naturalized epistemology” โดยเสนอว่าญาณวิทยาควรจะเป็นเพียงบทหนึ่งของจิตวิทยา กล่าวคือ ไควน์เสนอให้เปลี่ยนสถานะของญาณวิทยาไปเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยาเชิงปริชานที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับความเชื่อ แทนการพยายามประเมินลักษณะและวิธีการได้มาซึ่งความรู้อย่างที่ทำกันในญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน (normative epistemology) เห็นได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวเท่ากับเป็นการเปลี่ยนสถานะญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานที่มีคำถามเชิงคุณค่า เช่น เราควรให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่ออย่างไร ไปเป็นการอธิบายเชิงธรรมชาติว่า ความเชื่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติแบบสุดโต่งไม่มีลักษณะเชิงบรรทัดฐาน (non-normative) เนื่องจากให้คำอธิบายเพียงว่าความเชื่อเกิดขึ้นจากข้อมูลทางผัสสะที่รับเข้ามาได้อย่างไร แต่ไม่มีการประเมินว่ากระบวนการหรือวิธีการใดทำให้เรามีเหตุผลสนับสนุนความเชื่อ นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติบางคน เช่น ไควน์ เห็นว่าเราควรละทิ้งองค์ประกอบเชิงบรรทัดฐานภายในญาณวิทยาไปเสีย แต่มีนักปรัชญาคนอื่นโต้แย้งประเด็นนี้ เช่น โกลด์แมนโต้แย้งว่าญาณวิทยาเชิงธรรมชาตินั้นไปด้วยกันได้กับทฤษฎีแบบเน้นความน่าเชื่อถือของกระบวนการ ดังนั้น ญาณวิทยาจึงยังคงมีส่วนที่เป็นบรรทัดฐานอยู่เนื่องจากสามารถประเมินได้ว่าเราจะมีเหตุผลสนับสนุนความเชื่อเมื่อเราใช้กระบวนการสร้างความเชื่อที่น่าเชื่อถือ และขณะเดียวกันก็ถือเป็นญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นตัวที่ช่วยอธิบายว่ากระบวนการที่นำสู่ความเชื่อแบบใดที่มีความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ในหมู่นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเอง ก็มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการละทิ้งองค์ประกอบเชิงบรรทัดฐานของญาณวิทยานี้ กล่าวคือ แม้ว่าไควน์จะไม่เหลือพื้นที่สำหรับการหาสิ่งที่ควร (“เราควรให้เหตุผลสนับสนุนความเชื่ออย่างไร”) นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติบางคนกลับเห็นว่าเราควรมีพื้นที่ให้กับญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน เช่น ญาณวิทยาธรรมชาติแบบดาร์วิน (Darwinist) ที่เสนอว่าสิ่งที่ควรเชื่อ คือสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอด ตามแนวคิดนี้การที่มนุษย์อยู่รอดมาจนถึงวันนี้ย่อมแสดงว่าความรู้ที่มนุษย์มีอยู่เป็นสิ่งที่ควรเชื่อ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการอธิบายข้างต้นยอมรับไว้ก่อนว่า ความรู้ที่เรามีอยู่เป็นความรู้ที่เราควรรู้ มิได้เริ่มต้นด้วยการแทนที่คำถามเชิงบรรทัดฐานด้วยคำถามเชิงบรรยาย

สรุปได้ว่าญาณวิทยาเชิงธรรมชาติต้องการอธิบายว่าเราได้ความรู้มาอย่างไรโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแทนที่คำถามเชิงบรรทัดฐานที่ว่า เราควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ด้วยคำถามเชิงบรรยายที่ว่า เราได้ความรู้มาอย่างไร นั้นยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่นักญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ บางคนเห็นว่าสามารถแทนที่กันได้โดยสมบูรณ์ แต่บางคนเห็นว่าไม่อาจแทนที่กันได้โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะยังจำเป็นต้องมีการประเมินอยู่อีก เช่น การประเมินว่า ความเชื่อที่มีอยู่เป็นความรู้หรือไม่ เป็นต้น

ศิรประภา ชวะนะญาณ (ผู้เรียบเรียง)

เรียบเรียงจาก

·

Alston, William P. 2001. Foundationalism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 144-147.

·

Bonjour, Laurence. 1998. Knowledge and Justification, Coherence Theory of. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy. [CD-Rom Version 1.0].

·

Conee, Earl and Richard Feldman. 2006. Epistemology. In Donald M. Borchet (ed.). The Encyclopedia of Philosophy. Second Edition. New York: Macmillan, Vol. 3: 270-277.

·

Feldman, Richard. 2001. Evidence. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 119-122.
· Foley, Richard. 1998. Justification, Epistemic. In Edward Craig (ed.). Routledge Encyclopedia of Philosophy [CD-Rom Version 1.0].
· Ginet, Carl. 2001. Causal Theories in Epistemology. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 57-61.
· Goldman, Alvin I. 2001. Reliabilism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 433-436.
· Haack, Susan. 2001. Pragmatism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 351-357.
· Iannone, A. Pablo. 2001. Justification. Dictionary of World Philosophy. London: Routledge, pp. 285-289.
· Lehrer, Keith. 2001. Coherentism. In Jonathan Dancy and Ernest Sosa (eds.). A Companion to Epistemology. Oxford: Blackwell, pp. 67-70.



เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
 

·

Alston, W. 1989. Epistemic Justification. Ithaca, NY: Cornell University Press. (รวบรวมบทความสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับมูลฐานนิยม ภายนอกนิยม ภายในนิยม reliabilism และประเด็นทางญาณวิทยาอื่นๆ)

·

Armstrong, D. M. 1973. Belief, Truth, and Knowledge. Cambridge: Cambridge University Press. (ข้อปกป้องแนวคิดแบบ reliabilism ในช่วงแรก)

·

BonJour, L. 1985. The Structure of Empirical Knowledge. Cambridge, MA: Harvard University Press. (บทวิพากษ์ที่ชัดเจนและรวบรัดต่อมูลฐานนิยม และข้อปกป้องแนวคิดแบบสหนัยนิยม)

·

Chisholm, R. 1966. The Theory of Knowledge. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall. (ข้อปกป้องแนวคิดแบบมูลฐานนิยมและภายในนิยมที่มีอิทธิพล)

·

Clifford, W. K. 1879. The Ethics of Belief. In Lectures and Essays vol. 2. London: Macmillan. (ข้อปกป้องความคิดเห็นที่ว่าเป็นเรื่องผิดที่จะเชื่อสิ่งที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ)

·

Davidson, D. 1986. A Coherence Theory of Truth and Knowledge. In E. LePore (ed.). The Philosophy of Donald Davidson. London: Blackwell. (บทความของเดวิดสันที่โต้แย้งธรรมชาติของความเชื่อและการอ้างถึงนั้นทำให้เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเชื่อผิดทั้งหมด)

·

Dretske, F. 1981. Knowledge and the Flow of Information. Cambridge, MA: MIT Press. (ข้อปกป้องแนวคิดแบบ reliabilism.)

·

Foley, R. 1993. Working without a Net. New York: Oxford University Press. (ข้อถกเถียงเกี่ยวกับมูลฐานนิยม เหตุผลเกี่ยวกับความเชื่อ-เหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อ สหนัยนิยม probabilism และวิมตินิยม)
· Goldman, A. 1986. Epistemology and Cognition. Cambridge, MA: Harvard University Press. (ข้อปกป้องต่อแนวคิดแบบ reliabilism ที่มีอิทธิพล)
· Kornblith, H. (ed.). 1994. Naturalizing Epistemology. Cambridge, MA: MIT Press. (รวบรวมบทความที่มีอิทธิพลโดยผู้ที่รับแนวคิดแบบญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ และยังมีบทความเริ่มต้นที่เขียนโดยคอร์นบลิธ)
· Lehrer, K. 1974. Knowledge. Oxford: Oxford University Press. (ข้อปกป้องสำคัญของแนวคิดแบบสหนัยนิยมและข้อโจมตีแนวคิดมูลฐานนิยม)
· Plantinga, A. 1992. Warrant: The Current Debate. New York: Oxford University Press. (ข้อถกเถียงเกี่ยวกับมูลฐานนิยม สหนัยนิยม probabilism  reliabilism และมีข้อปกป้องของ Plantinga เกี่ยวกับเรื่อง proper functioning)
· Putnam, H. 1987. The Many Faces of Realism. LaSalle, IL: Open Court. (ข้อปกป้องของ Putnam เกี่ยวกับ internal realism และนัยที่ปฏิเสธวิมตินิยม)
· Quine, W.V. 1969. Epistemology Naturalized. In Ontological Relativity and Other Essays. New York: Columbia University Press. (บทความซึ่งทำให้เห็นความเคลื่อนไหวแรกเริ่มของแนวคิดญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ)
· Quine, W.V. 1990. The Pursuit of Truth. Cambridge, MA: Harvard University Press. (บทแรกนั้นอธิบายแนวคิดทางญาณวิทยาของไควน์)
· Schmitt, F. (ed.). 1994. Socializing Epistemology. London: Rowan & Littlefield. (รวบรวมบทความเกี่ยวกับเรื่องการบอกเล่าและญาณวิทยาเชิงสังคม)
· Sellars, W. 1963. Science, Perception, and Reality. London: Routledge & Kegan Paul. (แนวคิดทางญาณวิทยาและอภิปรัชญาของเซลล่าร์)
· Sosa, E. 1991. Knowledge in Perspective. Cambridge: Cambridge University Press. (รวบรวมบทความเกี่ยวกับการให้เหตุผลสนับสนุน ความรู้ reliabilism มูลฐานนิยมและสหนัยนิยม)


คำที่เกี่ยวข้อง

ก่อนประสบการณ์-หลังประสบการณ์ / ความรู้ / เหตุผลนิยม-ประสบการณ์นิยม / ญาณวิทยาศาสนา
A Priori-A Posteriori / Knowledge / Rationalism-Empiricism / Epistemology of Religion


 

หน้าแรก | เกี่ยวกับเรา | เชื่อมโยง | ติดต่อเรา


 


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ